แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะได้วางโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จนเกือบครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งกฎหมายในเชิงสนับสนุนและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้มีการจัดทำโครงการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ตลอดจนอยู่ระหว่างการตรากฎหมายสำคัญอื่น เช่น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... รวมทั้งยังมีกฎหมายลำดับรองฉบับต่าง ๆ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินการในรายละเอียด เพื่อให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้แทนธุรกรรมในรูปแบบกระดาษได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็ตาม
แต่ในทางปฏิบัติพบว่าประชาชน ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐเองก็ยังมิได้มีการนำกลไกของธุรกรรมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการทำสัญญาหรือในการให้บริการประชาชนมากนัก อีกทั้ง ยังมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ อาทิ ขาดความเชื่อมั่นในผลของกฎหมายว่า การดำเนินการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีผลทางกฎหมายเหมือนการทำโดยกระดาษหรือไม่ หรือเมื่อทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วหากเกิดข้อพิพาทขึ้นจะต้องดำเนินการอย่างไร รวมไปถึงการขาดความเชื่อมั่นในระบบความมั่นคงปลอดภัยของการทำธุรกรรมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการขาดความเชื่อมั่นเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจในกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น
ดังนั้น การลดอุปสรรคในเรื่องนี้จำเป็นต้องเริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบการจัดสัมมนาฝึกอบรมความรู้ร่วมกับสมาคมหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ หรือสื่อประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่ออธิบายตัวบทกฎหมายให้มีความชัดเจนและสามารถนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติ ในภาษา ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย มิใช่ถ้อยคำในทางเทคโนโลยีหรือถ้อยคำในทางกฎหมาย รวมทั้งการมีศูนย์รวมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐในการนำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการหรือส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. ในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ อันส่งผลต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ จึงตระหนักถึงปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการขาดแหล่งข้อมูลที่จำเป็นและสามารถเข้าถึงได้ จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ให้บริการความรู้กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT Law Center ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ผู้สนใจสามารถสืบค้นและใช้บริการได้ เป็นศูนย์ให้บริการความรู้กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำหรือตอบประเด็นซักถามในทางกฎหมายแก่ผู้ใช้บริการ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะหรือองค์ความรู้ในการนำกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปปรับใช้กับการดำเนินงานหรือการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนากฎหมายของประเทศหรือการพัฒนาศักยภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจต่างมีความต้องการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของการให้บริการมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สพธอ. จึงได้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อให้การทำงานสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยศูนย์ให้บริการความรู้กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT Law Center ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานให้บริการของ สพธอ. ตามโครงสร้างใหม่ ในชื่อว่า “Digital Law”
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้เป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลและเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายดิจิทัลให้กับผู้สนใจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและสื่อในการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนรองรับข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้มีความทันสมัยและสามารถให้บริการด้านข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อพัฒนาปรับปรุงการเป็นศูนย์กลางการจัดฝึกอบรม หรือพัฒนาทักษะหรือองค์ความรู้ด้านกฎหมายดิจิทัล ร่วมกับสมาคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีความทันสมัยและสามารถให้บริการด้านการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อพัฒนาปรับปรุงการเป็นศูนย์กลางในการตอบข้อหารือหรือประเด็นซักถามในทางกฎหมาย ตลอดจนให้คำแนะนำในการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายดิจิทัล
เป้าหมายของโครงการ
- เพื่อพัฒนาศักยภาพหรือองค์ความรู้ด้านกฎหมายดิจิทัลให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนบุคคล ที่นำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในการดำเนินงานหรือประกอบกิจการ
- เพื่อพัฒนาบุคลากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ ศาล อัยการและตำรวจ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายดิจิทัล
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในผลทางกฎหมายของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มจำนวนและมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการค้าระดับนานาชาติ