TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

About ETDA

ข่าวสารและกิจกรรม

คลังความรู้

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน “หมี่กรอบพลูฟ้า” เรียนให้รู้ ลองให้ล้ม และค้นให้เจอคำตอบ

ETDA Documents
  • 27 May 20
  • 1057

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน “หมี่กรอบพลูฟ้า” เรียนให้รู้ ลองให้ล้ม และค้นให้เจอคำตอบ

ขวัญเรือน ทองประทีป หนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกการรวมกลุ่มคนในชุมชนบ้านใหม่พัฒนา ที่หวังจะสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน จนเกิดเป็น “วิสาหกิจชุมชนพลูฟ้า” จนทุกวันนี้

“บ้านใหม่พัฒนา” ร่วมใจพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน

ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลห้วยพลู อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม วิถีชีวิตของคนในชุมชนคือทำการเกษตร ปลูกพืช ผัก ผลไม้ เป็นอาชีพหลัก จนกระทั่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนแปลง ราคาต้นทุนทางการเกษตรสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้รายได้หลักจากการเกษตรเริ่มไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน จึงเกิดการรวมกลุ่มหารือกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ชุมชนแน่นแฟ้น + เครืองข่ายเข้มแข็ง = ถนนสู่ความสำเร็จ

ในปี พ.ศ. 2560 ชุมชนบ้านใหม่พัฒนาได้รับความช่วยเหลือจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เข้ามาให้ความรู้ ฝึกอบรมอาชีพแก่คนในชุมชนกว่า 10 อาชีพ เช่น การทำจักสาน ผลิตภัณฑ์แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การหล่อพระ การตัดเย็บ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนให้เป็นรูปธรรม ทั้งการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ให้ความรู้เรื่องการวางแผนธุรกิจ ช่องทางการตลาด และการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย พร้อมมอบทุนสำรองเพื่อการดำเนินการต่าง ๆ จนกระทั่งสามารถจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนพลูฟ้า” ขึ้นได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชนและ สค.

“เวลามีจัดอบรมที่ไหนที่พอจะเป็นลู่ทางสร้างอาชีพได้ ก็ขับรถพาคนในบ้านเราไปเรียน ใครเสนออะไรที่คิดว่าดีกับชุมชน เราก็พากันไปลอง ไปเรียนกันหมดแบบนี้แหละ”

อำนาจ ทองประทีป ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านใหม่พัฒนา กล่าว

2(12).jpg

เรียนให้รู้ ลองให้ล้ม และค้นให้เจอคำตอบ

หลังจากได้ฝึกอาชีพอย่างหลากหลายจากทาง สค. ทางชุมชนจึงได้มีการหารือร่วมกันเพื่อเลือกอาชีพที่จะนำมาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยในครั้งแรกได้ตัดสินใจเลือกทำจักสานจากเส้นพลาสติก และนำไปขายตามตลาดต่าง ๆ บริเวณรอบพื้นที่ชุมชน รวมทั้งทดลองนำไปวางขายยังสถานที่ท่องเที่ยวอย่างตลาดน้ำดอนหวาย และร่วมออกบูทกับหน่วยงานภาครัฐทั้งภายในและภายนอกจังหวัด แต่ผลตอบรับรวมทั้งรายได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เนื่องจากมีคู่แข่งในตลาดค่อนข้างเยอะ และในช่วงเริ่มแรกชุมชนยังไม่สามารถจับทางการขายผลิตภัณฑ์ได้นัก

ชุมชนจึงได้กลับมาทบทวนและนั่งหารือกันอีกครั้งหนึ่งถึงการดำเนินงานต่าง ๆ รวมทั้งวางแผนเปลี่ยนการขายสินค้า ว่าจะเปลี่ยนไปขายสินค้าอะไรดีที่จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ระหว่างช่วงเวลาคิดทบทวนการดำเนินการ กลุ่มผู้นำชุมชนจึงตัดสินใจเดินทางไปยังตลาดหลาย ๆ แห่ง เพื่อสำรวจความต้องการตลาด รวมทั้งสำรวจคู่แข่งขันของสินค้าประเภทต่าง ๆ จนในที่สุดก็พบว่า หมี่กรอบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการและสามารถสร้างโอกาสทางการขายได้ ประกอบกับทางชุมชนเคยผ่านการฝึกอาชีพการทำหมี่กรอบมาแล้ว จึงได้รวมกลุ่มกันทดลองผลิตและพัฒนาสินค้าร่วมกัน

ในระยะแรกเป็นการคิดค้นสูตรเฉพาะของทางชุมชน เมื่อได้สูตรที่คนในชุมชนเห็นชอบ จึงเริ่มนำไปทดลองขายตามร้านค้าบริเวณโดยรอบชุมชน ก่อนจะขยายไปยังตลาดในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีหน่วยงานเอกชนรวมทั้งผู้ประกอบการโรงแรมเข้ามาติดต่อขอซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายในที่ต่าง ๆ ทำให้สินค้าชุมชนเริ่มเป็นที่จดจำ และได้รับการติดต่อจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

“ทำหลายอย่างก็ยังขายได้ไม่ดี ก็เลยชวนกันนั่งรถไปเดินตลาดทั่วนครปฐมเลย ไปดูว่าเขาขายอะไรกัน เวลาคนมาเที่ยวเขาซื้ออะไรกลับไปกัน และตอนนั้นได้ฝึกอาชีพทำหมี่กรอบพอดี เลยเลือกเอาวิชานี้มาสานต่อ”

ขวัญเรือน ทองประทีป กล่าว

CHK_7810.jpg CHK_7819.jpg

“จากที่ทำขายส่งอาทิตย์ละหลายร้อยกล่อง พอมีโรคระบาดก็ไม่มีคนเที่ยว ยอดสั่งซื้อก็หายไปเกือบหมด เราแทบจะไม่มีรายรับเข้ามาเลย”

ขวัญเรือน ทองประทีป กล่าว

ฝ่าวิกฤต โควิด-19 สู่การ Go Online

ขณะที่ หมี่กรอบพลูฟ้า สามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นของตลาดของฝากนครปฐมได้ไม่นาน ก็เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ขึ้น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของพลูฟ้าหายไป ตลาดที่ขายของก็ปิดลงตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ทำให้รายได้ของชุมชนแทบจะขาดหายไปอีกครั้ง ช่องทางออนไลน์จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่ชุมชนเลือกที่จะเรียนรู้และพาตัวเองเข้าไปเป็นผู้ขายออนไลน์อย่างเต็มตัว

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการดำเนินโครงการ ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซสามารถลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ภายใต้แนวคิด e-Commerce Nation จึงได้ผสานความร่วมมือกับ สค. ร่วมกันพัฒนา ผลักดันสินค้า ให้ชุมชนสามารถมีรายได้และขายได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ โดย วิสาหกิจชุมชนพลูฟ้า เป็นหนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจัดอบรม workshop ออนไลน์ ให้ความรู้ด้านการขายและการขยายช่องทางการขายสู่แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

pfsp.jpg

สำหรับท่านที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ หมี่กรอบพลูฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สามารถติดต่อได้ที่:

  1. Facebook Fanpage : พลูฟ้าพัฒนาอาชีพ
  2. Shopee : หมี่กรอบพลูฟ้า
บทความที่เกี่ยวข้องโครงการ :
  1. e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน “หมี่กรอบพลูฟ้า” เรียนให้รู้ ลองให้ล้ม และค้นให้เจอคำตอบ
  2. e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน กระติบญาติเยอะ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่อาชีพเสริม ที่สร้างรายได้แก่ชุมชน​

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)