TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล

หลักเกณฑ์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลปี 2566 Documents

หลักเกณฑ์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลปี 2566

การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของ สพธอ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) และเป็นไปตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของ สพธอ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
1. การสรรหาและคัดเลือกพนักงาน

สพธอ. มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการสรรหา คัดเลือก และบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง โดยมีการทดสอบความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง หรือคัดเลือกด้วยวิธีการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ หรือดำเนินการทดสอบด้วยวิธีอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างรวมกัน โดยการสรรหาและคัดเลือกพนักงานเป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 และระเบียบ สพธอ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การสรรหา คัดเลือก และบรรจุแต่งตั้ง บุคคลเข้าเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง  โดยเมื่อผ่านกระบวนการสรรหาและคัดเลือกแล้ว ได้กำหนดให้พนักงานที่ผ่านเกณฑ์ได้เข้ามาทดลองปฏิบัติงานจริง ก่อนการบรรจุแต่งตั้งและประกาศภายในต่อไป

2. การบรรจุและแต่งตั้งบุคลากร

สพธอ. มีกระบวนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 และระเบียบ สพธอ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การสรรหา คัดเลือก และบรรจุแต่งตั้ง บุคคลเข้าเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง โดยกำหนดให้บุคคลที่ผ่านกระบวนการสรรหา หรือการคัดเลือก ให้เข้าเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง จะต้องมีการทดลองปฏิบัติงาน และการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้อำนวยการพิจารณาว่าผู้นั้นมีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติงานต่อไปหรือไม่ ถ้าผลการประเมินต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาการปฏิบัติงาน เว้นแต่ผู้อำนวยการจะสั่งให้ขยายระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงานต่อไปอีกก็ได้ แต่รวมระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงานแล้วต้องไม่เกิน 1 ปี หากผลการประเมินยังต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้อีก ให้ถือว่าสิ้นสุดการปฏิบัติงาน

3. การพัฒนาบุคลากร

สพธอ. ตระหนักถึงการพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ที่มีสมรรถนะพร้อมต่อการบรรลุเป้าหมายในทุกมิติด้านการกำกับดูแล การส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความน่าเชื่อถือ การวางนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานภายในบริบทของสำนักงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 และระเบียบสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการพัฒนาพนักงานและลูกจ้างด้วยการศึกษาและฝึกอบรม พ.ศ. 2565 โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาบุคลากรที่สำคัญ ดังนี้

  1. ให้มีการปรับปรุงและทบทวนแผนพัฒนาบุคลากรเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน เป้าหมาย และพันธกิจขององค์กรและจัดลำดับความสำคัญในประเด็นการพัฒนาบุคลากรมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหลักสูตร รูปแบบ วิธีการพัฒนาบุคลากร อันนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรประจำปี
  2. วิธีการในการพัฒนาบุคลากร มีหลักเกณฑ์รองรับให้สามารถดำเนินการได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้
    • การให้ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงาน
    • การให้ไปปฏิบัติงาน วิจัย การสอน หรือการให้บริการทางวิชาการอื่น
    • การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง
    • การสอนงาน
    • การอื่นใดตามที่จำเป็นและเหมาะสม
  3. กระบวนการติดตามและประเมินผลการพัฒนาความรู้และทักษะระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอภายใต้หมวดการพัฒนาทักษะความรู้และเสริมสร้างสมรรถนะทั้งด้าน Functional Competency และด้าน  Soft Competency เพื่อให้พนักงานพร้อมขับเคลื่อนภารกิจองค์กรได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ  จากนั้นจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทีมบริหารงานบุคคลเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนกำลังคนและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารในการทำงานให้ตอบโจทย์ภารกิจ/โครงการของ สพธอ.

ทั้งนี้ ในปี 2566 สำนักงานได้จัดทำแผนการสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการขับเคลื่อนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างปี 2565 - 2567 เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มีความสอดคล้องกับภารกิจ ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายองค์กรที่กำหนดไว้

4. การประเมินผลการปฏิบัติงาน

สพธอ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้าง ทั้งในระดับของการทดลองปฏิบัติงานและระดับการปฏิบัติงานประจำปีของบุคลากรทุกตำแหน่ง ตามระเบียบ สพธอ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการทำสัญญาจ้างปฏิบัติงาน การประเมินผลทดลองการปฏิบัติงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้าง สพธอ. พ.ศ. 2564 ดังนี้   

  1. การประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน ประเมินโดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน ความรู้ความสามารถ และความประพฤติ ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งงานและลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย  โดยเป็นไปตามเกณฑ์คะแนน ดังนี้
    • คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป และมีเวลาการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของช่วงการทดลองปฏิบัติงาน ให้ผ่านการทดลองปฏิบัติงาน
    • คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 60 แต่ไม่ถึงร้อยละ 80 ให้ขยายระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงาน 
    • คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 ไม่ผ่านการทดลองปฏิบัติงาน 
  2. การประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของบุคลากรทุกตำแหน่ง อย่างน้อยปีละ 4 รอบการประเมิน  โดยให้มีการจัดทำตัวชี้วัดตามแบบที่ผ้อำนวยการกำหนด  โดยเป็นไปตามเกณฑ์คะแนน ดังนี้         
    • คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 81 ขึ้นไป ให้ถือว่ามีผลการประเมินดีเยี่ยม
    • คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 71 แต่ไม่ถึงร้อยละ 81  ให้ถือว่ามีผลการประเมินที่สูงกว่ามาตรฐานมาก
    • คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 61 แต่ไม่ถึงร้อยละ 71  ให้ถือว่ามีผลการประเมินที่สูงกว่ามาตรฐาน
    • คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 51 แต่ไม่ถึงร้อยละ 61  ให้ถือว่ามีผลการประเมินที่เป็นไปตามมาตรฐาน
    • คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 31 แต่ไม่ถึงร้อยละ 51  ให้ถือว่ามีผลการประเมินที่ควรปรับปรุง
    • คะแนนไม่ถึงร้อยละ 31  ให้ถือว่ามีผลการประเมินที่ไม่น่าพอใจ

5. หลักเกณฑ์การให้คุณให้โทษและการสร้างขวัญกำลังใจ

สพธอ. ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรมและความโปร่งใส บุคลากรของ สพธอ. ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยประมวลจริยธรรม กรรมการ ผู้อำนวยการ และผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2555 บุคลากรจึงต้องรักษาวินัยตามที่กำหนดเป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามโดยเคร่งครัด และหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม อาจนำไปสู่มาตรการดำเนินการและบทลงโทษทางวินัยตามระเบียบและข้อบังคับที่สำนักงานกำหนด
ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรในการปฏิบัติงาน สพธอ. จึงมีการพิจารณาการจ่ายเงินรางวัลหรือค่าตอบแทนอื่น รวมถึงการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปี ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด อีกทั้งยังมีการให้รางวัลแก่พนักงานต้นแบบที่มีคุณลักษณะตามค่านิยมองค์กรด้วย