อื่นๆ
- 19 Dec 13
-
523
-
การผลักดันการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ความสำคัญของการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล้กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์
ปัจจุบันนโยบายของรัฐได้ให้ความสำคัญในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ ได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโดยวิธีปกติ หรือการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เช่น การเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม การรักษาพยาบาล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น แต่เดิมนั้น การเข้าถึงบริการของรัฐและเอกชนนอกจากการแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันตัวบุคคลแล้ว ยังต้องมีการทำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอรับบริการ โดยเจ้าของบัตรต้องทำการรับรองความถูกต้องของข้อมูลหน้าบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งต้องใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษเป็นสำคัญ จึงทำให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บเอกสารจำนวนมากรวมไปถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาและทำลาย เช่น การหาสถานที่จัดเก็บเอกสาร การดูแลรักษาในกรณีการเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและดูแลเอกสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะแปรตามจำนวนประชาชนและจำนวนครั้งที่เข้ารับบริการและระยะเวลาที่ต้องเก็บเอกสารเพื่อใช้ในการสืบค้น
จากปัญหาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการพิสูจน์ตัวตนมีความสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการรับบริการของรัฐ เนื่องจากบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) มีคุณสมบัติ ในการจัดเก็บข้อมูลสำคัญของบุคคลผู้ซึ่งเป็นเจ้าของบัตร ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบและพิสูจน์ตัวตนรวมถึงสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัตรสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ในการต่อยอด การรับบริการอื่นๆ ของรัฐ คณะอนุกรรมการนโยบายและผลกระทบเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนมีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แพร่หลายและเพิ่มมากขึ้น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย โดยมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากบัตรดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเอกสารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งยังเป็น การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐตามที่ได้กำหนดไว้ใน (ร่าง) แผนแม่บทเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560 ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริการภาครัฐโดยใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน (Smart Citizen Info) เพื่อเป็นการสร้างกลไกสำคัญในการบูรณาการข้อมูลพื้นฐาน ด้านบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก รวมทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชนเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลกรมการปกครองกับสำนักงานประกันสังคมสำหรับสิทธิการรักษาพยาบาล การเชื่อมโยงข้อมูลกรมการปกครองกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการสำหรับการตรวจสอบสิทธิคนพิการ เป็นต้น
จากการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ฯ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าหากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีการนำบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ฯ มาประยุกต์ใช้กับภารกิจของหน่วยงานให้มากขึ้นและพัฒนาไปสู่ e-Service จะยิ่งทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บและดูแลเอกสารได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553 และประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2553 เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรคที่พบโดยทั่วไปจากการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ฯ
- เครื่องอ่านบัตร (Smart Card Reader) และแอพพลิเคชันที่ใช้ในการยืนยันตัวบุคคลยังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และมีราคาค่อนข้างแพง
- การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐยังทำได้ยากและมีความล่าช้า
- กฎระเบียบของทางราชการยังไม่เอื้ออำนวยต่อการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ฯ เท่าที่ควร
ข้อเสนอแนะของการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ฯ
- หน่วยงานภาครัฐควรมีการบูรณาการในการกำหนดหลักเกณฑ์การเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อรองรับการนำบัตรไปใช้ให้มากขึ้น
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำแผนงานและบูรณาการงบประมาณเพื่อการจัดซื้อเครื่องอ่านบัตรร่วมกัน
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบร่วมกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ฯ ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
แหล่งที่มา:
- รายงานการประชุมระดมความคิดเห็นกรณีการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) (2555)
- สรุปผลการดำเนินงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553 – 2555
- ข้อมูลและสถานะการดำเนินงานของโครงการนำร่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้บัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card) สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (www.ega.or.th)
- หนังสือรวมกฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- (ร่าง) แผนแม่บทเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560
ผู้เขียน: กลุ่มงานติดตามฯ