อื่นๆ
- 09 Mar 15
-
24
-
Crowdfunding: Investment Revolution คุณพร้อมหรือยังสำหรับการระดมทุนในรูปแบบใหม่? (ตอนที่ 1)
โดย นายอรรถพล พานิชย์ไพศาลกูล
เจ้าหน้าที่กฎหมาย สำนักกฎหมาย
Crowdfunding ตลาดของการระดมทุนในรูปแบบใหม่
เป็นที่ทราบกันดีว่าการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการค้า หรือการบริการ เงินทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาธุรกิจของตนให้เติบโตมากขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการมีเงินทุนที่จำกัด หรือมีเงินทุนที่ไม่เพียงพอ การมองหาแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อที่จะมาสนับสนุนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) การที่จะมองหาแหล่งเงินทุนจากสาธารณะนั้นอยู่ภายในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากธุรกิจประเภทดังกล่าวไม่มีประวัติการประกอบการ (track record) ถึงขนาดที่จะขอระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) ได้ อีกทั้งวิธีการดังกล่าวต้องมีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระอย่างมากกับผู้ประกอบกิจการ SME ดังนั้นเพื่อตอบสนองการเติบโตของอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม ตลาดของการระดมทุนรูปแบบใหม่ Crowdfunding จึงถือกำเนิดขึ้น
Crowdfunding คือ การระดมเงินทุนสาธารณะทั้งจากประชาชนหรือองค์กรจำนวนมากโดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางในการระดมเงินทุน ซึ่งตอบสนองทั้งผู้ประกอบการที่ไม่มีเงินทุน และนักลงทุนที่มีเงินลงทุนน้อยสามารถลงทุนในรูปแบบ Crowdfunding ได้โดยผ่านช่องทางคือ website หรือ URL ต่าง ๆ (funding portal) ที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น www.kickstarter.com และ www.indiegogo.com เป็นต้น
รูปแบบวิธีการระดมทุนแบบ Crowdfunding
องค์การกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สากล หรือ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ได้จัดรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ Crowdfunding โดยแบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทดังนี้
- Donation Crowdfunding ผู้ลงทุนลงทุนโดยไม่ได้คาดหวังสิ่งตอบแทน ซึ่งจะอยู่ในรูปการระดมทุนเพื่อการกุศล เช่นการระดมทุนเพื่อบรูณะโรงเรียนหรือสวนสาธารณะ
- Reward-based Crowdfunding การระดมประเภทนี้เหมาะสำหรับ ศิลปิน นักเขียน นักสร้างภาพยนต์ หรือนักสร้างเกมส์ ที่มีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์ผลงาน การระดมทุนประเภทนี้ซึ่งลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการจากโครงการระดมทุน
- Loan-based Crowdfunding (peer-to-peer lending) เป็นรูปแบบการกู้ยืมเงิน โดยรูปแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมี 2 แบบคือ รายได้แบบการมีส่วนร่วม (revenue participation) หมายถึงผู้ลงทุนได้รับส่วนแบ่งเป็นร้อยละของการขายเป็นระยะเวลาหนึ่งโดยไม่ได้รับเงินกู้คืน กับรายได้แบบดอกเบี้ย (revenue interest) หมายถึงผู้ลงทุนได้รับจะได้รับดอกเบี้ยระยะเวลาหนึ่งและเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กู้ยืมก็จะได้รับเงินกู้คืน การระดมประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทีต้องการขยายกิจการของตน
- Equity-based Crowdfunding เป็นรูปแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปสำหรับกิจการที่เพิ่งเริ่มต้น (start-ups) โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้นของบริษัท
ทำไมประเทศไทยถึงต้องสนใจ Crowd Funding?
การประกอบธุรกิจโดยการระดมทุนแบบ Crowdfunding โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของ Loan-based Crowdfunding และ Equity-based Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนที่ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Return Crowdfunding หรือ Investment-based Crowdfunding) ได้มีการเติบโตอย่างอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเมื่อพิจาณาจากข้อมูล Working Paper เรื่อง Crowd-funding: An Infant Industry Growing Fast ของ IOSCO พบว่า ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 6.4 พันล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าการตลาดกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมทั้งจีน และยังกำลังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศรอบโลก
โดย Investment-based Crowdfunding นี้ไม่ได้ระดมทุนโดยผ่านผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriters) อย่างการขายหลักทรัพย์ทั่วไป แต่เป็นการขายผ่านเว็บไซต์หรือที่เรียกว่า Crowdfunding platform โดยมีเงื่อนไขที่ผู้ขอระดมทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียม (fee/commission) ที่แตกต่างกันไปตามเว็บไซต์ตามรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ ตัวอย่างเว็ปไซต์เช่น localstake.com, Potluck Capital, Mosaic, SunFunder เป็นต้น
ข้อดีของการระดมทุน Crowdfunding คือ เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศได้มีโอกาสระดมทุนเพื่อขยายกิจการ เนื่องจากวิธีการระดมทุน Crowdfunding กระทำผ่านทางอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้ข้อมูลธุรกิจที่ผู้ประกอบการที่ต้องการระดมทุนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และแพร่กระจายไปสู่คนหมู่มากโดยรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ ของเจ้าของกิจการ เช่น การมีเงินลงทุนที่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถกู้เงินลงทุนจากธนาคารได้ นอกจากนี้ การประกอบกิจการผ่านการระดมทุน Crowdfunding นั้นเป็นการกระจายความเสี่ยงไปยังผู้ลงทุนซึ่งมักจะเป็นบุคคลธรรมดาที่มีการลงทุนคนละไม่มากแต่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนสูง
ในสัปดาห์หน้ามาติดตามกันต่อกับ Crowdfunding กับความเสี่ยงซึ่งจะมีการกำกับดูแลกันอย่างไร
แหล่งอ้างอิง