อื่นๆ
- 22 Jun 15
-
200
-
โทรทัศน์ยุคดิจิทัล กลไกหลักการยกระดับเศรษฐกิจ (Creative Economy) สู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)
โดย นายเดชา ซาเระซา
เจ้าหน้าที่กฎหมาย สำนักกฎหมาย
ผู้เขียนได้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท โดยเป็นการนำเสนอการพัฒนางานด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ห้วข้อที่ ๑ บริบทในภาคของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกีฬายุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)
โดย นายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบันของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเติบโตตามตลาดโลกอย่างต่อเนื่องโดยประมาณร้อยละ ๖ ต่อปี แต่สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ ๒๔.๗๘ ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเรื่อง lost in Thailand และนำไปฉายที่ประเทศจีน โดยสามารถสร้างรายได้ประมาณ ๖,๐๐๐ ล้านบาท ส่งผลให้คนในประเทศจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การสร้างภาพยนตร์ในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเร่งหามาตรการส่งเสริม ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวทั่วโลก คือ การเติบโตของเทคโนโลยี ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีช่องทางการติดต่อสื่อสารและมีทางเลือกสำหรับการบริโภคที่หลากหลาย โดยเฉพาะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงมีการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้มีการพัฒนาระบบโรงแรมที่ทันสมัยทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลให้เกิดกลุ่มนักท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถที่จะสืบค้น จองโรงแรม ติดต่อสถานที่ท่องเที่ยวหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เองและสามารถปรับเปลี่ยนสถานที่และเวลาได้ตามความต้องการ
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่กระทรวงต้องเร่งดำเนินการจัดให้มีการเชื่อมโยงของฐานข้อมูลและการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นตัวส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น การสร้างแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการสืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ ร้านอาหาร เป็นต้น ทำให้แนวโน้มการท่องเที่ยวผ่านทางระบบออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากรูปแบบการท่องเที่ยวที่เริ่มใช้บริการแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ แทนการใช้บริการบริษัทนำเที่ยว ซึ่งสิ่งที่มีอิทธิพลต่อนักท่องเที่ยวในการตัดสินใจ ได้แก่ ราคา คำวิจารณ์ และความสะดวกสบายของสถานที่ โดยสิ่งจูงใจที่สำคัญสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ คือ กิจกรรมในท้องถิ่น และประสบการณ์กับวัฒนธรรมของท้องถิ่น
สำหรับความพร้อมของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยในการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจำเป็นต้องพิจารณา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐต้องมีการปรับรูปแบบของกระทรวง เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น และต้องหารือแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะสามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวได้อย่างไร และยังต้องพิจารณาการจัดให้มี Gateway ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
หัวข้อที่ ๒ แนวทางการปฏิรูปกฎหมายจาก สนช. สู่ World Digital Economy ด้วยกลไกโทรทัศน์ดิจิทัล
ในหัวข้อนี้เป็นการเสวนาร่วมกันของวิทยากร จำนวน ๕ ท่าน ได้แก่ คุณสมชาย แสวงการ, รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม, ดร.ศิริกุล เลาภัยกุล, คุณดิเรก เจริญผล และคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งแต่ละท่านได้แสดงความคิดเห็นตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน
- คุณสมชัย แสวงการ ได้นำเสนอในบทบาทของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นข้อมูลเชิง การทำงานของภาครัฐเกี่ยวกับการรองรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการปฏิรูปสื่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่มีการปฏิรูปประเทศไทยนำไปสู่การปฏิรูป สำนักงาน กสทช. จะเห็นได้ว่าทุกองค์กรในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องย่อมมีความบกพร่องและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารได้นำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อพิจารณาในการออกกฎหมายของประเทศ สำหรับการเตรียมการด้านกฎหมายเพื่อรองรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน ร่างกฎหมายทั้งสิบฉบับยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายชุดนี้ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของประเทศ รวมถึงความพร้อมในการดำเนินการของแต่ละภาคส่วนว่า บุคลากรของหน่วยงานมีความพร้อมเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสื่อและทีวีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการดำเนินการของ สำนักงาน กสทช. ได้เริ่มเกี่ยวกับทีวีดิจิทัล โดยมีการแจกคูปองเพื่อนำไปแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลแล้วประมาณ ๔ ล้านกว่ารายเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้
- รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางเทคโนโลยีว่า การบริหารจัดการทางเทคโนโลยีในอนาคตคลื่นความถี่จะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเกิดเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรูปแบบการสื่อสารได้พัฒนาจากระบบอนาล็อคไปสู่ระบบดิจิทัล โดยระบบอนาล็อคกับระบบดิจิทัลนั้นมีความแตกต่างกันและไม่สามารถรวมกันได้ โดยระบบดิจิทัลมีการส่งข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสงที่เป็นการส่งข้อมูลด้วยระบบแสงทำให้ข้อมูลที่ส่งออกไปเป็นข้อมูลย่อยและจะไปรวมกันที่โครงข่ายทำให้ได้รับภาพที่มีความคมชัด ทั้งนี้ การพัฒนารูปแบบการสื่อสารจำเป็นต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ในการรองรับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ และมีปัญหาที่ต้องขบคิดกันต่อไปว่า ในอนาคตจะสามารถแยกแยะความแตกต่างของการบันทึกข้อมูลโดยสื่อต่าง ๆ ได้อย่างไร เช่น การแยกระหว่างไฟล์ข้อมูลที่เป็นแบบ Real-time กับไฟล์ข้อมูลที่สำรองข้อมูลไว้ใน ICloud และสามารถเรียกดูได้เมื่อต้องการ เป็นต้น
- คุณสุภิญญา กลางณรงค์ นำเสนอข้อมูลในแง่ของ สำนักงาน กสทช. โดยเน้นเรื่องทีวีดิจิทัลและการปฏิรูปสื่อว่า ในด้านการกำกับดูแลการให้บริการทีวีดิจิทัลนั้นมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การประมูลให้มีความเหมาะสมกับเทคโนโลยี โดยมีการขยายช่อง HD จาก ๓ ช่อง เป็น ๗ ช่อง และมีการพิจารณากำหนด rating ของแต่ละรายการอย่างเช่น กรณีการออกอากาศของช่อง PPTV เป็นเรต “ท” หรือทั่วไปเพื่อให้เหมาะกับผู้ชม ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งในปัจจุบันเรตติ้งในการรับชมทีวีดิจิทัลช่องไทยรัฐทีวีจะมีเรตติ้งสูงกว่าช่องทีวีดิจิทัลช่องอื่น ทั้งนี้ แนวโน้มในอนาคตทีวีดิจิทัลน่าจะมีการขยายตัวในเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่ง สำนักงาน กสทช. พยายามผลักดันเพื่อให้ประชากรที่มีรายได้ต่ำสามารถรับชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการเป็นรายเดือน โดยในปัจจุบันในตัวเมืองสามารถใช้งานทีวีดิจิทัลได้แล้วประมาณร้อยละ ๕๐ และยังสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในอนาคตทุกอย่างจะมีการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกว่า “Internet of things” จึงมีปัญหาให้ต้องช่วยกันคิดต่อไปว่าเราจะช่วยปกป้องลูกหลานในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีการใช้อย่างถูกวิธีได้อย่างไร ซึ่งควรจะทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อเป็นเกราะป้องกัน ในการเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ต
- ดร. ศิริกุล เลาภัยกุล กล่าวถึงภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในมุมมองของผู้บริโภค โดยเห็นว่าสิ่งสำคัญในการพัฒนาที่แท้จริงคือการดูแลด้านเนื้อหา ซึ่งทีวีดิจิทัลเป็นเสมือนสิ่งเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจรูปแบบเดิมกับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ หากไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่สู่ประชาชนแล้วอาจทำให้ประเทศไทยเดินไปในทิศทางที่ถดถอยลง เช่น ผังรายการ หากเทียบกับต่างประเทศเพียงดูรายชื่อช่อง ก็สามารถทราบได้ว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร ในขณะที่รายการถ่ายทอดของประเทศไทยในปัจจุบันมีเนื้อหาที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ก็ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซ้ำยังส่งผลต่อพฤติกรรมในทางลบของเด็กและเยาวชน รวมไปถึงประชากรบางกลุ่มด้วย