อื่นๆ
- 26 Mar 15
-
1305
-
การจัดทำกรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
ความสำคัญของการจัดทำกรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ารวม 768,014 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2556 ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาคธุรกิจด้วยกันเอง (B2B) ประมาณ 238,486 ล้านบาท (ร้อยละ 31.1) มูลค่าการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) ประมาณ 182,033 ล้านบาท (ร้อยละ 23.7) และมูลค่าการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาคธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (B2G) ประมาณ 347,495 ล้านบาท (ร้อยละ 45.2) ทั้งนี้ มูลค่าการทำธุรกิจประเภท B2C มีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของจำนวนประชากรที่สามารถเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ต อีกทั้งความคุ้นเคยของการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย (e-commerce) เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการผลักดันธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้มีการเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลอย่าง เป็นรูปธรรม จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำกรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 เพื่อจัดทำกรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย (Thailand e-Commerce Framework : TH e-CoF) และจัดทำมาตรการในการสร้างผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสร้างความเชื่อมั่นในการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการสนับสนุนในการเพิ่มมูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงาน
คณะอนุกรรมการจัดทำกรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ดำเนินการในรูปแบบของ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยมีการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกันเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในระบบ เป็น 50,000 ราย ภายในพ.ศ. 2560 และการเพิ่มมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาคธุรกิจด้วยกัน (B2B) และระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายในพ.ศ. 2560 นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะร่วมกันพิจารณาจัดทำต้นแบบของกระบวนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Business process) และจัดทำผังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในกระบวนการทำงานและการเชื่อมต่อกระบวนงานร่วมกัน ไม่ให้เกิดการทับซ้อนและมีทิศทางการดำเนินงานเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
เป้าหมายในการจัดทำกรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ประกอบการ SME ด้วยเครื่องมือออนไลน์และ e-commerce ให้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ และมีช่องทางในการขยายตัวไปสู่ระดับภูมิภาค
การมีส่วนร่วม
หากท่านใดสนใจ สามารถส่งข้อเสนอแนะได้ที่สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
แผนการดำเนินงาน (ประมาณการ)
- ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำ (ร่าง) กรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยทุกเดือน
- จัดประชุมกลุ่มย่อยระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาขอบเขตและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเดือนพฤษภาคม 2558
- นำเสนอ (ร่าง) กรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยฉบับแรกแก่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 6 เดือน (เดือนมิถุนายน 2558)
- จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการในการสร้างผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมาตรการในการเพิ่มมูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกรกฎาคม 2558
แหล่งที่มา:
- https://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/files/electThaiRep57.pdf
ผู้เขียน: กลุ่มงานติดตามฯ