TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

About ETDA

ข่าวสารและกิจกรรม

คลังความรู้

อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและยากับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

อื่นๆ Documents
  • 18 Sep 13
  • 39

อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและยากับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Focus Group) เพื่อศึกษาสถานการณ์ดำเนินธุรกิจบริการด้านการศึกษาในปัจจุบันและวิเคราะห์หาแนวทางพัฒนาศักยภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและยา

สถานะธุรกิจบริการด้านสุขภาพและยาในปัจจุบัน
เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการสนองตอบต่อนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติในอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับโครงสร้างการทำงานภายในเพื่อรองรับต่อนโยบายข้างต้น โดยมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศไทย ด้วยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้การบริการที่เป็นผลผลิตหลักซึ่งสามารถดำเนินการสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่องได้โดยทันที คือ การส่งเสริมบริการด้านสุขภาพโดยเฉพาะสปาและนวดไทย การส่งเสริมธุรกิจแพทย์แผนไทย ยาและสมุนไพรไทย โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจยาสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งนี้อุตสาหกรรมสปาซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในด้านการบริการเกี่ยวกับสุขภาพ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านจำนวนผู้มาใช้บริการและสถานที่บริการ เนื่องจากไทยมีความพร้อมทางด้านบุคลากร สถานที่ และทรัพยากร ประกอบกับมีบริการสนับสนุนสุขภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ และมีจุดเด่นด้านอัธยาศัยและมารยาทในการให้บริการ ทำให้ธุรกิจบริการในสาขานี้มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง กล่าวคือ ในปี 2547 ไทยมีรายได้จากการใช้บริการในธุรกิจสปาประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 9,000 ล้านบาทในปี 2549 โดยในปี 2551 ธุรกิจสปาในไทยมีผู้เข้าใช้บริการสปาถึงประมาณ 4 ล้านครั้ง (เพิ่มขึ้นจาก 3.6 ล้านครั้งในปี 2549) และเฉลี่ยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ใช้บริการสปาดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สร้างรายได้รวมมากกว่า 14,000 ล้านบาท และสร้างงานมากกว่า 5,000 คน

การสำรวจสถานภาพพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 พบว่ากลุ่มธุรกิจบริการ มีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 31,920 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของมูลค่าพาณิชย์โดยรวมของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและยานั้นนับเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจบริการ โดยมีผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 38.71 ของผู้ประกอบการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ทั้งนี้พบว่าธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและยาเป็นหนึ่งในหลายธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภาคบริการและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยทั่วไปแล้วธุรกิจการให้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นแหล่งสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ (Product of Excellence) ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทย และธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งได้แก่ บริการนวดไทยและสปาที่สามารถนำทรัพยากรที่อยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้รัฐบาลได้ประกาศนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์แห่งภูมิภาคเอเชีย (Medical Hub of Asia) เพื่อสร้างความเป็นเลิศของธุรกิจบริการและเป็นแหล่งที่มาของรายได้เงินตราต่างประเทศจากประเทศที่เป็นตลาดหลัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและยาเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันส่งเสริมให้มีการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ผู้ประกอบการด้านสุขภาพส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งในการทำการค้าในตลาดต่างประเทศได้ โดยมีการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะที่ครบวงจร ตั้งแต่การให้ข้อมูลสินค้าจนกระทั่งถึงขั้นตอนการชำระเงิน และการติดตามสถานะการจัดส่งสินค้า

ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพและยา

  1. ความต้องการของผู้ใช้บริการมีความหลากหลายมากขึ้น
  2. ผู้ใช้บริการไม่ยอมรับระบบการชำระเงินผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะขาดความมั่นใจในระบบความปลอดภัย และมาตรฐานของเว็บไซต์ผู้ให้บริการ
  3. สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพหลายประเภทไม่สามารถขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย
  4. ผู้ประกอบการไม่สามารถโฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์และการบริการบางประเภทบนเว็บไซต์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพและยา
  1. หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุนช่องทางการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการ
  2. ผู้ประกอบการควรสร้างมาตรฐานเพื่อให้ผู้รับบริการยอมรับในคุณภาพการบริการ
  3. หน่วยงานภาครัฐควรให้การสนับสนุนการอบรมการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ประกอบการ
ข้อมูลอ้างอิง:
  1. รายงานผลการศึกษาโครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  2. เผยกลยุทธ์ 12 ธุรกิจออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  3. รายงานผลที่สำคัญสำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  4. ธุรกิจบริการ : สปาและนวดไทย -- https://www.dtn.go.th/filesupload/aec/images/spa29-05-55.pdf
  5. สถานะความพร้อมธุรกิจบริการสาขาสุขภาพและวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่อง -- https://www.thaifta.com/ThaiFTA/Portals/0/compet_health.pdf
ผู้เขียน: กลุ่มงานติดตามฯ

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)