อื่นๆ
- 18 Sep 13
-
257
-
อุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Focus Group) เพื่อศึกษาสถานการณ์ของอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบัน และวิเคราะห์ หาแนวทางพัฒนาศักยภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณี และเครื่องประดับ
สถานะธุรกิจบริการอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบัน
ในปี 2554 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 12,864.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 10.40 โดยปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 11,651.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าที่สำคัญ อาทิเช่น การส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองมีมูลค่าส่งออก 2,029.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.24 เนื่องจากราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น อันดับถัดมา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงินมีมูลค่าส่งออก 1,512.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.55 เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนเปลี่ยนมาซื้อสินค้าประเภทเงินมากขึ้น ในภาวะที่สินค้าที่ประกอบด้วยทองคำ มีราคาสูงขึ้น เพชรมีมูลค่าส่งออก 1,489.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.72 และพลอยมีมูลค่าส่งออก 635.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.43 เป็นต้น โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา
อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยในปี 2554 มีมูลค่า 3,274.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 2.16 เนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อราคาต้นทุน รวมถึงการที่ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มไทยได้รับคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าสินค้ายุโรป การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผลประโยชน์จากข้อตกลง AFTA และ JTEPA อันมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ไปยังญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง้
การสำรวจสถานภาพพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 พบว่ากลุ่มธุรกิจแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรอบปีที่ผ่านมา (2553) จำนวน 20,073 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยรวมทั้งประเทศ นอกจากนี้อุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 32.3 ของจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งหมด ของประเทศ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น โดยประเทศไทยเป็นแหล่งการผลิตสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย อัญมณี เครื่องประดับและผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่มีคุณภาพ เนื่องจากศักยภาพในการผลิตของฝีมือแรงงานไทยมีความละเอียดและประณีต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะผลักดันส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเข้มแข็งให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการ ในต่างประเทศได้
ในปัจจุบันธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณี และเครื่องประดับมีศักยภาพสูงขึ้น การทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในวงกว้าง และเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่สามารถเชื่อมโยงในระดับชาติและนานาชาติ จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบซื้อมาขายไปให้พัฒนาไปสู่การเป็นเจ้าของตราผลิตภัณฑ์เอง และการดำเนินการที่ครบวงจร ทั้งการนำเสนอการขาย การสั่งซื้อ การชำระเงิน และการขนส่ง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเน้นในคุณภาพของสินค้าและการสร้างความพึงพอใจควบคู่กับการให้ความรู้ด้านการใช้บริการเว็บไซต์แก่ลูกค้าไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยและยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ของการซื้อสินค้ารูปแบบนี้มากขึ้น
ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ
- ความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคในเรื่องรายละเอียดของสินค้า
- ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลในการทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ต
- ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ชำรุดหรือบกพร่อง
ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ
- หน่วยงานภาครัฐควรส่งเสริมให้นักธุรกิจมีโอกาสค้าขายผ่านทางระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
- หน่วยงานภาครัฐควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- หน่วยงานภาครัฐควรสร้างทิศทางการดำเนินงาน (Roadmap) ที่จะช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ชัดเจน
ข้อมูลอ้างอิง:
- รายงานการศึกษาโครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- รายงานผลที่สำคัญสำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
- เผยกลยุทธ์ 12 ธุรกิจออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2554 และแนวโน้ม 2555 (อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ) https://www.ryt9.com/s/oie/1325223
- อนาคตอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
ผู้เขียน: กลุ่มงานติดตามฯ