หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 เป็นการรับรองผลทางกฎหมายสำหรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการทำธุรกรรม หรือสัญญา ให้มีผลเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมหรือสัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายแก่ธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่ธุรกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมิให้มีการนำพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้บังคับ (เช่น ครอบครัวและมรดก) และให้ใช้บังคับแก่ธุรกรรมในการดำเนินงานของรัฐด้วย โดยใช้บังคับควบคู่หรือกับกฎหมายฉบับอื่นที่ใช้บังคับกับการใดการหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้เป็นการเฉพาะแต่การนั้นหรือเรื่องนั้นได้มีการทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
การทำเป็นหนังสือ (มาตรา 8)
ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดให้การใดก็ตามต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งกำหนดว่าการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นคำว่า “หลักฐานเป็นหนังสือ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ก็สามารถทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ กล่าวคือถ้ามีการทำสัญญาระหว่างบุคคลที่ใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการทำสัญญาเช่นว่านั้น มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดแล้ว ถือว่าการทำสัญญานั้นได้ทำตามหลักเกณฑ์ข้างต้นของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
เอกสารต้นฉบับ (มาตรา 10)
ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดให้เสนอหรือเก็บรักษาเอกสารหรือข้อความในรูปของเอกสารต้นฉบับ เช่น 1) กฎหมายลักษณะพยานมีบทบัญญัติหลายมาตราที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับกฎแห่งพยานที่ดีที่สุด คือ การอ้างพยานเอกสารต้องอาศัยต้นฉบับ 2) ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ การจัดทำและการจัดเก็บบัญชี รายงาน และเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดเก็บหลักฐานที่เป็นต้นฉบับไว้ ทั้งนี้ หากได้มีการจัดทำ จัดเก็บเอกสารต้นฉบับให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดแล้ว กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บัญญัติรับรองให้สามารถนำเสนอหรือจัดเก็บต้นฉบับดังกล่าวให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
การรับรองสิ่งพิมพ์ออกของเอกสารต้นฉบับ (มาตรา 10 วรรคสี่)
ในกรณีที่มีการทำสิ่งพิมพ์ออก (Print out) ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นต้นฉบับตามมาตรา 10 สำหรับใช้อ้างอิงข้อความของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หากสิ่งพิมพ์ออกนั้นมีข้อความถูกต้องครบถ้วนตรงกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมีการรับรองสิ่งพิมพ์ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประกาศกำหนดแล้ว ให้ถือว่าสิ่งพิมพ์ออกดังกล่าว ใช้แทนต้นฉบับได้ ในกรณีที่ต้องการให้สิ่งพิมพ์ออก (Print out) นั้น มีความเป็นต้นฉบับ จะต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ 2555 สิ่งพิมพ์ออกนั้นจึงจะสามารถใช้แทนต้นฉบับได้ อย่างไรก็ตาม มาตรา 10 วรรคสี่ ไม่ได้หมายถึงการรับรองสิ่งพิมพ์ออกทุกกรณี แต่จะ ให้ใช้เฉพาะกรณีที่กฎหมายนั้นๆ มีการบัญญัติให้ต้องนำเสนอหรือเก็บรักษาเอกสารแบบต้นฉบับเท่านั้น หากเป็นกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดให้นำเสนอหรือเก็บรักษาแบบต้นฉบับก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองสิ่งพิมพ์ออกโดยหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก
เอกสารต้นฉบับหมายถึงอะไร
เอกสารต้นฉบับ หมายถึง เอกสารที่บรรจุข้อมูลที่เป็นต้นฉบับจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น
- สัญญาคู่ฉบับ
- ใบกำกับภาษี
- ใบเสร็จรับเงิน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- ใบขับขี่
- โฉนดที่ดิน
- หนังสือ หนังสือรับรอง ตามที่กฎหมายของหน่วยงานกำหนด