TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

About ETDA

ข่าวสารและกิจกรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์

หลักเกณฑ์จดทะเบียนชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ สำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัล

Documents
  • 06 Jun 16
  • 1342

หลักเกณฑ์จดทะเบียนชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ สำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัล

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รภ.) เปิดเวที Open Forum ในหัวข้อ “How to write Thai place name in English เขียนชื่อสถานที่ไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ…อย่างไรกันดี” เมื่อบ่ายวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Open Forum ของ ETDA โดยได้รับเกียรติจาก แสงจันทร์ แสนสุภา ผู้อำนวยการกองธรรมศาสตร์และการเมือง รภ. นฤมล กรีพร นักวรรณศิลป์ชำนาญการพิเศษ รภ. มณฑิกา บริบูรณ์ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย NECTEC และ ดร.กฤษณ์ โกสวัสดิ์ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย NECTEC พร้อมด้วย ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐาน ETDA และ ศุภโชค จันทรประทิน      ผู้จัดการส่วนงานกลยุทธ์มาตรฐาน สำนักมาตรฐาน ETDA โดยมี พ.ต.ท.หญิง จีรบูรณ์ บำเพ็ญนรกิจ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพิเศษ ETDA ดำเนินรายการ

ดร.อุรัชฎา กล่าวถึงความจำเป็นในการเขียนชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้เป็นรูปแบบเดียวกันว่า การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในมาตรฐานสากล จำเป็นต้องใช้รหัสสถานที่เพื่อการค้าและการขนส่ง (UN/LOCODE) ซึ่งรายชื่อสถานที่ในประเทศไทยที่ได้รับสถานะผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานแห่งชาติ (National Focal Point) ที่มีอำนาจแล้ว (AA) อยู่เพียง 40 รายการ ดังนั้นทาง ETDA ในฐานะ National Focal Point ของประเทศไทย จึงต้องการหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการสะกดชื่อสถานที่ภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการตรวจสอบรายการ UN/LOCODE ที่รออนุมัติอยู่เดิม และเพื่อใช้ในการสะกดชื่อสถานที่ที่อาจขอเพิ่มเข้ามาอีกในอนาคต ศุภโชค เสริมว่า ชื่อสถานที่เดียวกันแต่สะกดเป็นภาษาอังกฤษต่างกัน ตัวคนอาจอนุมานชื่อนั้นได้จากประสบการณ์ว่า มาจากภาษาไทยคำเดียวกัน แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ และจะกำกับชื่อสถานที่ที่สะกดแตกต่างกันเป็นคนละแห่ง ส่งผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ ไม่สามารถทำหน้าที่จำแนกสถานที่ได้อย่างแม่นยำ นำมาสู่คำถามที่ว่า “หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการรับจดทะเบียนชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร”

IMG_9673-300x200.jpgIMG_9770-300x200.jpg

ในฐานะหน่วยงานที่ประกาศใช้หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน แสงจันทร์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ถึงปัจจุบัน รภ. ได้ประกาศใช้ในปี 2542 แทนฉบับเดิมในปี 2482 นอกจากนั้น ยังได้แนะนำระบบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้ถ่ายถอดนามสกุลพระราชทานมาตั้งแต่ปี 2456 โดยยังคงใช้อยู่กับชื่อพระราชทานและการถอดคำบาลี ทางด้าน นฤมล ได้ประมวลปัญหาที่เกิดขึ้นแม้มีหลักเกณฑ์แล้วเป็น 6 ประเด็น คือ 1) คำวิสามานยนาม (ชื่อเฉพาะ) ที่ต้องสืบค้นว่าเจ้าของชื่อเขียนอยู่อย่างไรเพื่อใช้ตาม 2) ที่มาและความหมาย คำที่ไม่ทราบที่มาและความหมาย ส่งผลให้เลือกสะกดคำได้ยากเนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งที่ควรเว้นวรรค 3) คำทับศัพท์ที่มาจากต่างประเทศ ต้องสืบหาเพื่อย้อนกลับไปเขียนตามคำศัพท์เดิม 4) ชื่อภูมิศาสตร์ทั่วไป และ 5) ชื่อสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่ต้องเลือกว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือถ่ายถอดเสียง 6) การแบ่งคำ ที่ต้องตรวจสอบความหมายและการออกเสียง

IMG_9785-300x200.jpg IMG_9823-300x200.jpg

จากการศึกษารูปแบบของการถ่ายถอดชื่อที่อยู่และชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษในปัจจุบันของ NECTEC   มณฑิกา ได้กล่าวว่าพบถึง 10 รูปแบบในองค์กรต่าง ๆ โดยรูปแบบการถ่ายถอดเสียงตามประกาศของ รภ.ได้รับการนำมาใช้มากที่สุด (70.74%) ตามมาด้วย การแปล (17.47%) การถ่ายถอดเสียงที่ไม่เป็นไปตามประกาศของ รภ. (5.07%) และการทับศัพท์โดยสะกดตามคำจากภาษาต้นทาง (5.02%) ซึ่งชื่อสถานที่หนึ่งอาจใช้รูปแบบการถ่ายถอดฯ มากกว่า 1 รูปแบบ โดย ดร.กฤษณ์ สรุปว่า การถ่ายถอดฯ ตามเกณฑ์ของ รภ. การทับศัพท์โดยสะกดตามคำจากภาษาต้นทาง การสะกดตามแนวพระราชนิยมที่บัญญัติไว้ในการใช้นามสกุลพระราชทาน การแปล และการใช้ตามความนิยม เป็นรูปแบบที่ควรนำมาใช้ในการถ่ายถอดเสียงฯ ทั้งนี้ ขั้นตอนในการพิจารณาเลือกรูปแบบการถ่ายถอดเสียง ได้แก่

  1. พิจารณาว่าชื่อไทยที่ต้องการเขียนเป็นตัวโรมันนั้น เป็นคำทับศัพท์จากต่างประเทศมาก่อนหรือไม่ หากใช่ให้ใช้การทับศัพท์โดยสะกดตามคำจากภาษาต้นทาง แต่หากไม่ใช่ แสดงว่าเป็นคำไทย
  2.  พิจารณาว่าคำไทยนี้เป็นคำนามทั่วไปหรือไม่ หากใช่ ให้ใช้การแปล แต่หากไม่ใช่ แสดงว่าเป็นชื่อเฉพาะ
  3. พิจารณาว่าชื่อเฉพาะนี้เป็นชื่อพระราชทานหรือไม่ หากใช่ ให้ใช้การสะกดตามแนวพระราชนิยมฯ
  4. พิจารณาว่าชื่อเฉพาะนี้เป็นชื่อเฉพาะที่นิยมใช้กันมานานหรือไม่ หากใช่ ให้ใช้การใช้ตามความนิยม
  5. หากไม่เข้าเกณฑ์ยกเว้นใดๆ ข้างต้น ให้ใช้การถ่ายถอดฯ ตามเกณฑ์ของ รภ.
เกณฑ์ที่นำเสนอ เป็นเพียงแนวทางที่ผู้รับจดทะเบียนชื่อสถานที่ทางการค้าสำหรับการนำเข้าส่งออก และ UN/LOCODE สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้บริการได้ และหากพบปัญหาในเรื่องที่มาหรือความหมายของคำ สามารถสืบค้นข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือสอบถามกับ รภ. ได้

ดร.อุรัชฎา ได้กล่าวปิดท้ายถึงทิศทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์การถอดอักษรชื่อสถานที่ภาษาไทยให้เป็นอักษรโรมันให้เป็นรูปแบบเดียวกันนี้ว่า รภ. กำลังทยอยแก้ไขชื่อสถานที่ที่สะกดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ รภ. โดยหลักเกณฑ์การถอดอักษรที่ได้นำเสนอในวันนี้ จะใช้เป็นแนวทางในการสะกดชื่อสถานที่ที่ต้องการจดทะเบียนใหม่ และเพื่อใช้ในการตรวจสอบรายการ UN/LOCODE ที่มีอยู่เดิมซึ่ง NECTEC จะพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานต่อไป โดยขอรับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจดทะเบียนชื่อสถานที่เป็น UN/LOCODE

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)

Related VDO

Related Gallery