TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA Live Ep.3: อ่านข่าว Online ใครได้ตังค์

Digital Service Documents
  • 20 มี.ค. 64
  • 1824

ETDA Live Ep.3: อ่านข่าว Online ใครได้ตังค์

เมื่อคณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission) หรือ ACCC ได้ออกกฎหมาย News Media and Digital Platforms Mandatory Bargaining Code ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเจรจาส่วนแบ่งที่เป็นธรรม สำหรับค่าเนื้อหาให้กับสำนักข่าวออสเตรเลีย โดยเก็บเงินจากแพลตฟอร์มใหญ่ระดับโลก ที่นำข่าวไปนำเสนอต่อ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นที่มาของ ETDA Live ครั้งที่ 3 “อ่านข่าว Online ใครได้ตังค์” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังมุมมองของ News Media ไทย ว่าวันนี้ สื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ผู้ผลิตข่าว หรือสำนักข่าวของไทย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ มีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ พร้อมแลกเปลี่ยนกับ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในฐานะคณะกรรมการระดับชาติที่ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปพิจารณาผลักดันเป็นนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อคนคนทำคอนเทนต์ดิจิทัลไทยในอนาคตได้

20210311_News-Media-and-Digital-Platforms-Mandatory-Bargaining2.JPG

เมื่อคอนเทนต์ ไม่ใช่พระราชา

ช่อผกา วิริยานนท์ มือเก๋าในแวดวงสื่อ และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง คธอ. ด้านสังคมศาสตร์ เกริ่นนำว่า ในฐานะ คธอ. ซึ่งเธอและ ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร (คธอ. ด้านบริหารธุรกิจ/ตัวแทน Startup) ดำรงตำแหน่งอยู่ด้วย เพื่อทำให้เกิดกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้งให้คำแนะนำรัฐบาลในการออกกฎหมายให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยคล่องตัวขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้รับทราบข่าวกรณีของประเทศออสเตรเลียออกกฎหมายที่จะเก็บเงินจากแพลตฟอร์มที่นำข่าวของสำนักข่าวในออสเตรเลียไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาเป็นประเทศแรกในการบังคับให้แพลตฟอร์มระดับนานชาติอย่างเฟซบุ๊ก กับ กูเกิล แบ่งรายได้ให้เจ้าของคอนเทนต์ข่าวในท้องถิ่น จึงเป็นที่มาที่เชิญสื่อด้านข่าวของไทยมาแลกเปลี่ยนกันว่า หากออสเตรเลียทำสำเร็จ ไทยจะเดินตามดีไหม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้สื่อข่าวของไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ช่องทาง และความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการใหญ่ เนชั่นทีวี ซึ่งอยู่กับเนชั่นตั้งแต่ยุคแรกถึงยุคปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มได้ใช้ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีในการนำคอนเทนต์ของสำนักข่าวไปเผยแพร่ต่อ ประโยคว่า Content is the king. กลายเป็นสิ่งที่ไม่จริง เพราะสำนักข่าวต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม และแม้มีการนำเสนอเรื่องการแบ่งรายได้ สิ่งที่สำนักข่าวได้รับกลับมาก็น้อยมาก อีกทั้งเงื่อนไขในการแบ่งรายได้ก็ไม่ชัดเจน

ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เสริมว่า เราต้องเข้าใจ ecosystem ของการทำงานสื่อในประเทศไทย สื่อคือผู้ผลิตคอนเทนต์ ไม่ใช่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ประเด็นคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อตรงกลางระหว่างผู้ผลิตคอนเทนต์กับคนดู เมื่อก่อนคือสัญญาณดาวเทียม สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ หรือเอเยนต์หนังสือพิมพ์ เป็นคนที่นำของไปให้ประชาชน แต่เมื่อแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ ฯลฯ เข้ามาคั่นกลางแทนที่ข้อต่อเดิม ทำให้สำนักข่าวต้องใช้สะพานตรงนี้เข้าไปหาประชาชน เพราะคนเราไม่มานั่งพิมพ์ ชื่อ url ของเว็บไซต์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ฯลฯ ทุกคนเข้าผ่านแพลตฟอร์มหมด และเมื่อแพลตฟอร์มนั้น ๆ ไม่ใช่แพลตฟอร์มเฉพาะบ้านเรา แต่เป็นการ disruption ทั้งโลก สมาคมฯ ก็ทำงานลำบากในการงัดข้อกับแพลตฟอร์ม

“เมื่อ ecosystem เป็นแบบนี้ สะพานอย่างแพลตฟอร์ม ทางสำนักข่าวก็ไม่ทราบว่ารายได้ของแพลตฟอร์มเท่าไร และเมื่อเหลือกลับมาก็น้อยมาก ขายหนังสือพิมพ์เล่มละ 10 บาท คนอ่านได้ 3-4 คน วันนี้คนอ่านเว็บ 1,000 คน อาจจะได้ 22 บาท”

เมื่อรายรับที่กลับมาน้อยมาก ระวี กล่าวว่า ไม่ได้แค่เรื่องรายได้น้อย การจัดเก็บภาษี หรือการต่อรอง แต่เป็นผลต่อ ecosystem ด้วยว่า ทำให้สื่อคุณภาพน้อยลง เพราะทุกคนต้องทำให้คนดูเยอะ เพื่อรายได้ที่เข้ามาน้อยจะได้ใหญ่ขึ้น ทำให้คนไปเปิดสื่ออะไรเต็มไปหมด เพื่อหาโอกาสในการสร้างรายได้

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO และ Co-founder Techsauce สื่อออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งมีรายได้จากทางออนไลน์และอีเวนต์กิจกรรมต่าง ๆ ให้เห็นความเห็นนอกจากหมวกของสื่อ คือในหมวกสตาร์ตอัป บอกว่า การผูกขาดไม่ได้มีเฉพาะส่วนคอนเทนต์ แต่หมายถึงโลกของธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เรียกได้ว่าอยู่ในตลาดที่แข่งขันได้ยากแล้ว เพราะทางแพลตฟอร์มเริ่มจากให้บริการฟรีก่อน เมื่อยูเซอร์ใช้จนติดแล้ว ก็มาสู่ขั้นที่ผูกขาด มาถึงช่วงที่ 3 คือการหาประโยชน์จากสิทธิที่ได้จากการผูกขาดนั้น
ในมุมของ อรนุช ถ้าเป็นไปได้อยากให้รวมตัวกันและคุยกัน โดยการจ่ายค่าตอบแทนต้องเป็นธรรม มีวิธีการในการคิดคำนวณที่ชัดเจน ว่าจะแบ่งให้เท่าไร หากมีกฎที่ช่วยให้คนในประเทศอยู่ได้ก็จะช่วยสนับสนุนให้ ecosystem สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพได้

20210311_News-Media-and-Digital-Platforms-Mandatory-Bargaining7.jpg

หากกฎหมายของหลายประเทศสำเร็จ ไทยควรเดินตามหรือไม่

ช่อผกา กล่าวว่า นอกจากที่ออสเตรเลีย ยังมีพื้นที่อื่นของโลกที่มีความพยายามทำกฎหมายในเรื่องนี้อยู่ เช่น ฝรั่งเศส และ แคนาดา ใช้กระบวนการทางภาษีในการเก็บภาษีกับแพลตฟอร์มข้ามชาติ หรือ สหภาพยุโรป ที่มีเรื่อง copyright เรียกได้ว่า ทางฝั่งออสเตรเลียและทางฝั่งยุโรป เรียกร้องเรื่องนี้แรงมาก ถ้าประเทศเหล่านั้นทำสำเร็จ ประเทศไทย ควรจะเดิมตามหรือไม่ เมื่อผู้เสียประโยชน์คือ สหรัฐอเมริกา

ถ้าดูงบโฆษณาทางดิจิทัลที่อยู่ในไทย จากปี 2012 มีมูลค่า 2,700 ล้านบาท แต่ปี 2020 เป็น 22,000 ล้านบาท หากเงินออกนอกประเทศไปเกือบหมด ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ถ้าเราคลี่คลายเรื่องพวกนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่จะเป็นกระบอกเสียงเปิดความคิดของคนในสังคม จะทำหน้าที่ต่อไหวหรือไม่

ระวี บอกว่า จากการศึกษาโมเดลของหลายประเทศ สื่อวิ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีรัฐช่วย ที่นี้พอรัฐช่วย จะกลายเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ หากงัดข้อกับแพลตฟอร์มเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ แล้วรัฐพร้อมจะลุยไปด้วยกันไหม ส่วนคำถามว่าสื่อจะรอดไหม สมมติเฟซบุ๊กปิดกั้นสื่อไปสองวัน ผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างสูงในแง่รายได้ เพราะคนไทยเข้าสื่อผ่านเฟซบุ๊กเป็นอันดับ 1 ไม่ได้เข้าผ่าน www หรือกูเกิลด้วยซ้ำ และทำให้สื่อซึ่งเป็นภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่เดินต่อได้ลำบาก

อดิศักดิ์ แชร์อีกมุมว่า อยากให้เปิดสงคราม อย่างออสเตรเลีย โดนเฟซบุ๊กบล็อกไป 3-4 วัน การโหลดแอปฯ ของสื่อในออสเตรเลีย กลับเพิ่มขึ้นมหาศาล ดังนั้น ควรให้มีแพลตฟอร์มเกิดขึ้นอีก นอกจาก 2-3 รายที่มีอยู่ ที่นี้ก็แล้วแต่สำนักข่าวอนุญาตให้ ต้องทำให้แพลตฟอร์มแตกสลาย เพื่อให้คอนเทนต์กลับมาเป็น king ถ้ารายได้เราลดลง คนดูเฟซบุ๊กก็ต้องลด เพราะถ้าไม่ลด ก็คงไม่กลับมาเจรจากับรัฐบาลออสเตรเลีย

อย่างในไทย มีแพลตฟอร์มที่เป็นภูมิภาคอย่าง Line ซึ่ง Line Today ให้รายได้กับสำนักข่าวสูงกว่าเจ้าอื่น ๆ และเปิดเผยโปร่งใสกว่า โดยคัดเลือกสำนักข่าวเข้าไป ถ้าไม่เลือก คอนเทนต์ก็ไม่ไปปรากฏ แต่เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล เราไม่สามารถกำหนดตัวเราเองได้ แต่สื่อวันนี้ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มโดยไปออกพร้อมกัน ตัวโทรทัศน์ก็ออก Facebook Live หรือ YouTube Live ไปพร้อมกัน ถ้าการออกกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ไปกดดันเฟซบุ๊กและกูเกิลมาก ๆ ก็อยากให้สื่อกลับมาพึ่งตนเอง

ระวี เสริมว่า ถ้าสื่อเหนียวแน่นกันมาก ๆ แต่รัฐยังไม่เห็น ก็ไม่รู้จะนำอะไรไปต่อรอง หากรัฐไม่สนับสนุนในการต่อสู้

20210311_News-Media-and-Digital-Platforms-Mandatory-Bargaining4.JPG

กฎหมายที่มีอยู่ นำมาใช้ได้หรือไม่

ดร.เฉลิมรัฐ แชร์ต่อว่า หากนำกฎหมายที่มีอยู่อย่างกฎหมายลิขสิทธิ์ มาใช้ในเรื่องที่แพลตฟอร์มนำเนื้อหาไปเสนอ ทางสื่อมีมุมมองอย่างไร

อดิศักดิ์ เสริมว่า ให้มองในภาพกว้างด้วย โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ อาจจะแคบไป เมื่อโลกออนไลน์ทำให้ทุกคนเชื่อมกันหมด เราไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยว เช่น หากทำเว็บไซต์ก็ต้องเชื่อมต่อกันคนอื่น ให้คนคนหา www ของเราเจอ เพราะฉะนั้น อย่างออสเตรเลีย ทางนายกฯ ก็ล็อบบี้ประเทศอื่นให้ออกกฎหมายคล้าย ๆ กัน หากหลาย ๆ ประเทศทำพร้อม ๆ กัน ก็จะมีผล และทำให้รูปแบบ Business Model ของสื่อเปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องพึ่งพาโฆษณาอย่างเดียว หรือการรับสมัครสมาชิกก็มีน้อยมาก

“หากสื่อมีรายได้จากการขายคอนเทนต์ โดยสำนักข่าวขายคอนเทนต์นอกเหนือจากที่ออกบนแพลตฟอร์มตัวเอง ไปออกแพลตฟอร์มคนอื่นได้ ก็จะทำให้กระแส Disrupt ที่สื่อพังพินาศไปจะกลับมาใหม่”

ระวี กล่าวต่อไปว่า การออกกฎหมาย ไม่ใช่ออกมาเพื่อต่อรองกับใคร แต่เป็นการบริหารความสมประโยชน์ร่วมกัน เพราะเราจะไม่ใช้หรือตัดแพลตฟอร์มระดับโลกออกไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมาร่วมมือกันว่า จะทำอย่างไรให้สามารถบริหารความสมประโยชน์ร่วมกัน สื่อเติบโตได้ แพลตฟอร์มเดินไปด้วยกันได้

ไทยมีแพลตฟอร์มของตัวเอง ทางแก้โดยไม่ใช้กฎหมาย

ระวี กล่าวว่า เรื่องการมีแพลตฟอร์มเป็นของไทยเอง นั้นมีการเสนอมานานแล้ว แต่ยังไม่มีเจ้าภาพ ซึ่งการมีแพลตฟอร์ม ของไทย ก็เป็นการกันแพลตฟอร์มระดับโลกไปด้วยในตัว เพราะเราใช้ภาษาของเราเอง

ด้าน อดิศักดิ์  เสริมว่า อย่างจีนก็สามารถทำได้ โดยเฟซบุ๊กหาประโยชน์จากจีนไม่ได้ อย่าง เวียดนาม ก็พยายามทำตรงนี้อยู่ ซึ่งตนก็เห็นว่ามีความจำเป็น เพราะอย่างน้อยก็เป็นภาษาของตนเอง ไม่ได้เป็นการเอาชนะแพลตฟอร์มระดับโลก แต่อย่างน้อยก็เป็นพื้นที่ที่เขามารุกรานไม่ได้

อรนุช เสริมว่า มีอีกแนวคิดนึง คือการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาขับเคลื่อน Digital Economy อย่างการใช้บล็อกเชน ซึ่งอาจจะไม่ได้มาในวันนี้ เพื่อเข้ามาช่วยในการแทร็ก ตั้งแต่ตัวสำนักข่าว แล้วส่งไปถึงนักเขียนให้เกิดแรงจูงใจ เป็นนวัตกรรมที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ

20210311_News-Media-and-Digital-Platforms-Mandatory-Bargaining8.jpg

รอดูออสเตรเลียว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไร

ช่อผกา กล่าวว่า คงต้องรอดูออสเตรเลียว่าจะเดินต่อในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อเดินตาม เพราะประเทศไทยคงไม่สามารถไปงัดข้อกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ได้ แต่สามารถโหนกระแสความสำเร็จต่อจากประเทศออสเตรเลียได้ และเชื่อว่าเป็นความตั้งใจของตัวกฎหมายนี้ และก็เป็นโอกาสดีของประเทศไทย โดยเธอตั้งคำถามว่า เราจะเดินตามออสเตรเลียต่อหรือไม่ ในการออกกฎหมาย จะมีอะไรที่เป็นอุปสรรคบ้าง และในฐานะ คธอ. ซึ่งมีหน้าที่ในการนำเสนอกฎหมายหรือออกกฎกติกาต่าง ๆ ต่อรัฐบาล ควรจะต้องเตรียมการอย่างไร

อดิศักดิ์ บอกว่านำมาใช้ได้ แต่อาจมีประเด็นที่แตกต่างออกไป อย่างน้อยคือต้องตั้งเป้าหมาย ช่วยสื่อให้ฟื้นได้ รวมทั้งการเปิดเผยข้อสัญญา นอกเหนือจากแพลตฟอร์ม คือพวก Ad Network (ระบบเครือข่ายโฆษณาที่ปรากฏบนเว็บไซต์ทั่วโลก เป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบข้ามเว็บ ซึ่งจะเน้นการโฆษณาโดยใช้แบนเนอร์ ข้อความ รูปภาพประกอบ) ซึ่งเราก็ควบคุมไม่ได้ จะแบ่งให้เท่าไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

20210311_News-Media-and-Digital-Platforms-Mandatory-Bargaining3-(1).JPG

ระวี กล่าวว่า Ad Network คือระบบที่สำนักข่าวเปิดให้เข้ามาเอง ซึ่งการสร้างนั้นมีเหตุผล เพราะสื่อที่น่าเชื่อถือ (Trusted Media) ต้องมีงบประมาณในการสนับสนุน เหมือนโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่มีโฆษณาสนับสนุน เพราะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา ก็ต้องไปหาผู้สนับสนุน ทุกรายก็ต้องไปคิดว่า ต้องไปซื้อจากยูทูบเบอร์ คนดังที่มีผู้ติดตามเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่ซื้อสื่อ สื่อก็ต้องหาโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่ง Ad Network คือโอกาสหนึ่ง ที่เอามาปลั๊กอินในเว็บเพื่อสร้างโอกาส เหมือนที่ใช้แพลตฟอร์มดัง ๆ เพื่อใช้โอกาสเข้าหาคน

อดิศักดิ์ เสริมว่า ขณะเดียวกัน Ad Network หรือแพลตฟอร์มก็สร้างปัญหา เรื่อง Fake News, Hate Speech กระตุ้นให้คนเข้าไปอ่าน ถ้าจะมีกฎหมายก็ต้องครอบคลุมเรื่องพวกนี้ด้วย

ระวี เมื่อก่อนจะเป็นสื่อ เราต้องจดทะเบียนเว็บไซต์ มีโดเมนเนม มีบริษัท สร้างสำนักข่าวขึ้นมา พอเฟซบุ๊กเปิดฟังก์ชันที่สามารถสร้างรายได้ด้วยการฝังโฆษณาลงในข่าวได้ หากมีคนก๊อปปี้ข่าวเหล่านี้ไปลงเฟซบุ๊กของตัวเอง ในราคาเท่ากับสำนักข่าว ก็กลายเป็นทุกคนเป็นสื่อ


ท่ามกลาง Disruption สื่อจะอยู่รอดอย่างไร

อรนุช แชร์ไอเดียว่า เปลี่ยน ecosystem ในการ flow ของเงินใหม่ ซึ่งอาจจะไม่เห็นในปีหรือสองปีนี้ คือทุกอย่างจะต้องโปร่งใสตั้งแต่ผู้อ่าน สำนักข่าว แพลตฟอร์ม เราต้องสามารถแทร็กได้ เงินที่ลงแต่ละจุด อยู่ตรงไหนบ้าง เมื่อบล็อกเชนไปอยู่ในโลกการเงิน ธุรกิจอาหาร หรือ Supply Chain แล้ว ทำไมไม่มีการนำมาประยุกต์ใช้กับวงการตรงนี้ หรือไม่มีคนผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อดิศักดิ์ เสริมว่า ที่ผ่านมา สื่อมีการปรับตัวอย่างมากมายมหาศาล หนังสือพิมพ์ก็มาทำทีวี มาทำออนไลน์ มาทำอีเวนต์ ออนกราวนด์ ออนแอร์ ฯลฯ แต่สู้อิทธิพลของแพลตฟอร์มไม่ได้ ดังนั้นถ้ามีแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น แทนที่จะมียักษ์ใหญ่อยู่ไม่กี่ราย ทำอย่างไรก็ตามให้มีมากขึ้น ให้สำนักข่าว สำนักพิมพ์ Content  Provider มีทางเลือก ว่าจะสามารถไปอยู่แพลตฟอร์มไหนให้ประโยชน์เรา หรือเป็นกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของเราแน่ ๆ

ช่อผกา กล่าวว่า ตอนนี้สื่อปรับตัวจนแทบไม่เหลือความเป็นตัวเอง ปัญหาของประเทศไทยคือ ถ้าสื่อมวลชน ไม่สามารถมีตัวตนในแบบที่ควรจะเป็นเหลืออยู่ ความวุ่นวายในทุก ๆ มิติในสังคมไทยจะตามมา ดังนั้น ก็ต้องพยายามให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ แชร์ผลประโยชน์ร่วมกันกับสื่อให้ได้ และยังคงมีความหวังกับการขับเคลื่อนกฎหมายนี้ในออสเตรเลีย

ระวี ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม คนอื่นมองว่าสื่อต้องปรับตัว แต่ถึงเวลาหรือยัง ที่ภาครัฐจะมาล้อมวงคุยด้วยกัน ให้เห็นว่าสื่อกำลังทำอะไรอยู่ หลังบ้านของสื่อ มี ecosystem อีกเยอะมากที่คนอื่นยังไม่เห็น และคนทำสื่อดี ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไร ตรงไหน แต่ทุกคนก็พยายามที่อยู่กัน และปรับตัวหลายรูปแบบ หลายแพลตฟอร์ม หลายวิธีการ รัฐต้องเข้ามาดู และมองว่าจะทำอะไรด้วยกันได้บ้าง เพื่อเห็นและเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน เช่น เรื่องภาษี ไม่ว่าจะสตาร์ตอัป หรือสื่อ ทำงานกับแพลตฟอร์มโดยตรงแล้วเจอเรื่องภาษี หากไปกับแพลตฟอร์ม ก็โดนหักรายได้ไปครึ่งหนึ่งแล้ว แล้วยังมีภาษีไทยอีก ก็ไม่เหลือเงินเดือนให้พนักงาน ดังนั้น เริ่มต้นต้องคุยกัน

20210311_News-Media-and-Digital-Platforms-Mandatory-Bargaining5.JPG

ภาครัฐช่วยอะไรได้ในระยะสั้น

อดิศักดิ์ เสนอว่า ETDA สามารถเรียกกลุ่ม Ad Network มาหารือได้ไหม เพราะรายได้ของสำนักข่าวไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่มาจาก Ad Network สื่อต้องการสัญญาที่เป็นธรรม และการแบ่งรายได้ที่เป็นธรรม ซึ่งขอบเขตอำนาจของ ETDA หรือ คธอ. สามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ ก็จะช่วยให้สำนักข่าวมีรายได้เพิ่มขึ้น

อรนุช เสนอว่า ทีมงานภาครัฐที่ดูแลขอให้เป็นทีมที่ดูแลกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนทำธุรกิจก็เกิดความอบอุ่นใจในการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ

ระวี ย้ำว่า รัฐและสื่อต้องมาคุยกัน และหาวิธีสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

ช่อผกา ปิดท้ายว่า เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกเรื่องที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จขึ้นมาคุยกัน และผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายไปใหญ่ ๆ ก็ได้

20210311_News-Media-and-Digital-Platforms-Mandatory-Bargaining6.JPG


สำหรับสายทางคลับเฮาส์ มีผู้เสนอความคิดเห็น เช่น
  • (1) รัฐต้องทำ national platform (2) ให้แพลตฟอร์มต่างประเทศ มาสนับสนุน (3) สื่อต้องร่วมมือ และ (4) ภาคเอกชนต้องร่วมผลักดัน เป็น 4 กพาร์ตี และแอคไควร์คนที่มาอยู่บนแพลตฟอร์ม

หากสื่อมีรายได้จากการขายคอนเทนต์ โดยสำนักข่าวขายคอนเทนต์นอกเหนือจากที่ออกบนแพลตฟอร์มตัวเอง ไปออกแพลตฟอร์มคนอื่นได้ ก็จะทำให้กระแส Disrupt ที่สื่อพังพินาศไปจะกลับมาใหม่

Rating :
Avg: 1 (1 ratings)