Digital Law
- 24 ก.พ. 64
-
4541
-
ETDA Live Ep.1: 7 คำถาม กับ e-Meeting
เวที ETDA LIVE "7 คำถาม กับ e-Meeting" เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ ETDA โดย ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA และ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ETDA มี 7 ประเด็นที่ ETDA นำมาแลกเปลี่ยนในวันนั้น
1. ทำไมต้องทุกวันนี้เราต้องให้ความสำคัญกับ e-Meeting
e-Meeting คือ ระบบการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ที่เรารู้จักกันในนาม
การประชุมทางออนไลน์ โดยที่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันก็สามารถประชุม แบะแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เราต้องให้ความสำคัญกับ e-Meeting เพราะ
- เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ Lifestyleการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป หลายคนต้องทำงานที่บ้าน การติดต่อสื่อสาร ก็เปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น
- ในหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ซึ่งระบบ e-Meeting นี้จะทำให้การประชุมสามารถดำเนินต่อไปได้ ในช่วงที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างอย่างทุกวันนี้
- แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย เราก็อาจจะยังคงใช้ e-Meeting ต่อไป เพราะค่อนข้างสะดวก และมีผลเทียบเท่ากับการประชุมแบบออฟไลน์
"ช่วงที่เราล็อกดาวน์ในปีที่ผ่านมา ตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ก็จะต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งช่วงนั้นปั่นป่วนมาก แต่อย่างน้อย ๆ การออก พ.ร.ก. ก็ทำให้เราปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ หลาย ๆ คนก็เคยชินกับการประชุมออนไลน์ไปแล้ว เราสามารถอยู่ตรงไหนก็ได้ในการประชุม ซึ่งก็มีประสิทธิภาพในการทำงานได้สูงเช่นเดียวกัน" ดร.การดี กล่าว
2. e-Meeting กฎหมายรับรองไหม และ ETDA มีส่วนในการผลักดันให้เกิดความน่าเชื่อถืออย่างไร
ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า
"จริง ๆ มีประกาศรองรับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2557 ว่าถ้าประชุมออนไลน์สามารถประชุมได้เลย เช่น ประชุมกรรรมการบริษัท ประชุมผู้ถือหุ้น ฯลฯ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายปี 2557 มีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่เดียวกัน และทุกคนในการประชุม ไม่ว่าจะออนไลน์-ออฟไลน์ ต้องอยู่ในประเทศ เมื่อถึงช่วง COVID-19 มีคำถามว่า จะประชุมผู้ถือหุ้นอย่างไร เพราะบางส่วนอยู่ต่างประเทศ เดินทางมาไม่ได้ จากความจำเป็นที่เร่งด่วน จึงได้ออกเป็นพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. e-Meeting"
พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายกลางที่ให้การรองรับการประชุมตามกฎหมายให้สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยได้ยกเลิกและปลดล็อกข้อกำหนดบางประการของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ข้อกำหนดที่ต้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน และผู้ร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในประเทศไทยขณะที่ประชุม รวมถึงข้อกำหนดที่ห้ามใช้กับการประชุมที่เป็นเรื่องลับ
นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมข้อกำหนดของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้มีหน้าที่จัดประชุมจะต้องจัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ทั้งแบบการลงคะแนนโดยเปิดเผยและแบบการลงคะแนนลับ
ETDA มีส่วนในการผลักดันให้เกิดความน่าเชื่อถือ คือ
- เป็นหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ ในการจัดให้มีการตรวจประเมินและรับรองความสอดคล้องของระบบควบคุมการประชุมแก่ผู้ให้บริการทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ระบบควบคุมการประชุมของผู้ให้บริการทั้งหมดหรือบางส่วนนั้น มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
- นอกจากนี้ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้มีมาตรฐาน มั่นคงปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของสากล จึงได้ออกประกาศ สพธอ. เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบควบคุมการประชุม ที่มีเนื้อหา ครอบคลุม ทั้งเรื่องการรักษาความลับ การรักษาความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล การรักษาสภาพพร้อมใช้งาน และการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเป็นกรอบดำเนินงาน
- อีกทั้งยัง ส่งเสริมการประเมินความสอดคล้องของระบบควบคุมการประชุม ซึ่งมีทั้งหมด 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ผู้ให้บริการประเมินความสอดคล้องด้วยตนเอง (Self-assessment) ผ่านแบบฟอร์มและเงื่อนไขตามที่ ETDA กำหนด (2) การตรวจประเมินรับรองจาก ETDA โดยตรงตาม ประกาศ สพธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองระบบควบคุมการประชุม ทั้งนี้ รายชื่อผู้ที่ผ่านการรับรองจาก ETDA และผู้ที่ประเมินตนเองได้ครบตามข้อกำหนด (ดู รายชื่อ)
ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า "ตั้งแต่มี พ.ร.ก.e-Meeting ก็มีประกาศออกมา 2 ฉบับ คือ ประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่บอกว่าการประชุมที่มีมาตรฐานต้องทำอย่างไร และประกาศของ ETDA ที่บอกว่า ถ้าการประชุมจะใช้ระบบควบคุมการประชุม ต้องมีมาตรฐานอะไรบ้าง ซึ่งหากระบบเหล่านี้ ได้รับการรับรองก็จะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ได้รับการรับรองก็ใช้ได้ หากได้ดำเนินการตามประกาศที่กำหนด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการใช้งาน เพราะการเข้าไปตรวจอาจจะต้องใช้เวลา บางคนจะจัดประชุมแล้ว ถ้ามัวแต่รอการเข้าไปตรวจ เข้าไปรับรองอาจจะต้องใช้เวลา นอกจากมีกระบวนการในการรับรองแล้ว ETDA ก็จัดให้มีการประเมินตนเอง (Self-Assessment) ด้วย โดยมีแบบฟอร์มให้บริษัทที่ให้บริการระบบควบคุมการประชุมไปประเมินตนเอง และทีม ETDA ให้คำปรึกษา เพื่อให้บริษัทผู้ให้บริการสามารถทำได้ครบตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้
"ความต่างระหว่างการรับรองกับการประเมินความสอดคล้องด้วยตนเองคือ การรับรองทาง ETDA จะส่งทีมเข้าไปตรวจที่บริษัทที่ขอการรับรองเลย ถ้าครบตามข้อกำหนด ก็จะมีกรรมการ ทั้งจาก ETDA และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ร่วมเป็นกรรมการด้วย ถ้าครบถ้วนก็ออกใบรับรองให้"
การประชุม e-Meeting กับการมีผลทางกฎหมาย
- สำหรับการประชุมที่ต้องการผลตามกฎหมาย หรือกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุม เช่น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือการประชุมของคณะกรรมการต่างๆ ใช้ได้ทั้งการประชุมของภาครัฐ และภาคเอกชน
- และไม่ใช้บังคับกับ (1) การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา (2) การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล (3) การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ (ดำเนินการได้แล้วผ่าน ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564) ( (4) การประชุมอื่นหรือในเรื่องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. ผู้ประกอบการอยากใช้ e-Meeting ให้มั่นคงปลอดภัย สอดคล้องตามกฎหมาย ต้องทำอย่างไร
ผู้ประกอบการอยากใช้ e-Meeting ให้มั่นคงปลอดภัย ไม่เพียงใช้ระบบการประชุมที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือควรยึดตามหลัก
มาตรฐานการจัดประชุมอย่างน้อย 7 กระบวนการสำคัญ ตามที่ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 กำหนด ดังนี้
- ก่อนการประชุมผู้ร่วมประชุมจะต้องแสดงตัวตน โดยใช้วิธีตามที่ผู้จัดการประชุมกำหนด เช่น อาจใช้เทคโนโลยีช่วย ในการพิสูจน์และยืนยันตัวต้น (Digital ID) ของผู้ร่วมประชุม อย่าง Username, Password หรืออาจให้ผู้ร่วมประชุมรายอื่น รับรองการแสดงตัวตนก็ได้
- การประชุมจะต้องสื่อสารกันได้ด้วยเสียง หรือทั้งเสียงและภาพ โดยต้องมีช่องสัญญานเพียงพอมีช่องทางสำรอง ในกรณีขัดข้องและต้องสามารถจัดการสิทธิผู้ร่วมประชุมได้
- การเข้าถึงเอกสารประกอบการประชุม ผู้ร่วมประชุมต้องเข้าถึงได้ทั้งในรูปแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องจัดส่งเอกสาร พร้อมแจ้งวิธีการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบ
- การออกเสียงลงคะแนน หากเป็นในรูปแบบทั่วไป เปิดเผยได้ จะต้องสามารถระบุตัวตนและเจตนาของผู้ออกเสียงลงคะแนนได้ แต่หากเป็นการออกเสียงลงคะแนนแบบลับ ไม่เปิดเผย ให้ทราบเฉพาะจำนวนของผู้ลงคะแนนและผลรวมของคะแนนนั้นๆ โดยไม่ระบุตัวตนของผู้ลงคะแนน
- การจัดเก็บข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เช่น วิธีการแสดงตน จำนวนหรือรายชื่อ วิธีการลงคะแนน ผลรวมคะแนนจากผู้เข้าร่วมประชุมและเหตุขัดข้องระหว่างการประชุม ที่บันทึกในรายงานการประชุม ทุกการประชุมทั้งแบบทั่วไปและแบบลับสามารถจัดเก็บได้ เว้นแต่การบันทึกเสียง หรือเสียงและภาพระหว่างการประชุม ที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ในการประชุมลับ
- การเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือประวัติการใช้งานระบบ
e-Meeting อย่างน้อยต้องระบุตัวตนผู้ใช้งาน วันและเวลาของการประชุม โดยอิงเวลามาตรฐาน
- การแจ้งเหตุขัดข้องระหว่างการประชุม ผู้จัดประชุมต้องเตรียมช่องทางการแจ้งเหตุขัดข้อง เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาระหว่างการประชุม
4. ถ้าจะใช้ e-Meeting สำหรับการประชุมลับ จะต้องทำอย่างไร
ในการประชุมแบบ e-Meeting ในเรื่องลับตามมาตรฐานระบบ e-Meeting กำหนดให้ต้องมีการยืนยันตัวตนผู้ร่วมประชุมแบบหลายปัจจัย (Multi-factor Authentication) ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีการ โดยอาจจะยืนยันตัวตนโดยอาศัยความสามารถของระบบควบคุมการประชุม หรือใช้ความสามารถของระบบประกอบกับปัจจัยอื่น เช่น การใช้ password ควบคู่กับ one-time password หรือ การ log-in ด้วย username/password และให้ผู้ร่วมประชุมอื่นซึ่งอยู่ในที่ประชุมรับรองการแสดงตัวตน เป็นต้น ทั้งนี้ หากระบบควบคุมการประชุมสำหรับการประชุมลับมีช่องทางการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย ก็จะทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือและยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของระบบควบคุมการประชุมมากยิ่งขึ้น
บริษัท สามารถกำหนดเรื่องที่จะให้ประชุมเป็นเรื่องลับ และกำหนดชั้นความลับได้เอง
กรณีหน่วยงานของรัฐ "การประชุมลับ" ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 หมายความว่า การร่วมปรึกษาหารือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ และให้หมายความรวมถึงการหาข้อยุติ ข้อพิจารณา ความเห็น การอภิปราย การบรรยายการบรรยายสรุป และเหตุการณ์ที่ปรากฏในการประชุมลับนั้นด้วย ซึ่งการกำหนดชั้นความลับ เป็นไปตาม ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 โดยให้หัวหน้าหน่วยราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดประเภทชั้นความลับ ตามเหตุผลและความสำคัญของข้อมูล
มาตรฐานทั่วไปสำหรับ e-Meeting ที่เป็นการประชุมลับ นอกจากจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบควบคุมการประชุม ของ ETDA แล้ว ยังมีประเด็นพิจารณาเพิ่มเติม ดังนี้
- ผู้จัดประชุม ต้องกำหนดมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไม่ให้บุคคลที่ไม่มีสิทธิเข้าประชุมรู้ข้อมูลในการประชุมลับ
- ผู้ร่วมประชุม ต้องรับรองต่อที่ประชุมว่าไม่มีใครรู้ถึงข้อมูลการประชุมลับ
- ผู้ร่วมประชุม ควรประชุมในพื้นที่ปิด ที่ไม่มีคนอื่นเข้าออกในบริเวณดังกล่าวได้
- ห้ามบันทึกเสียง หรือทั้งภาพและเสียงในการประชุมลับ
นอกจากนี้ กรณีที่เป็นการประชุมลับของหน่วยงานภาครัฐ
ยังต้องพิจารณาเรื่องการใช้ระบบควบคุมการประชุมที่ติดตั้งและให้บริการในราชอาณาจักร โดยไม่มีการจัดเก็บข้อมูลหรือหลักฐานส่วนหนึ่งส่วนใดไว้นอกราชอาณาจักรด้วย
5. e-Voting คืออะไร สำคัญกับการประชุมในระบบออนไลน์อย่างไร แล้วมีประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง / หรือต้องใช้อะไรเป็นหลักฐานบ้าง
e-Voting คือ การลงคะแนนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของ e-Meeting ตาม ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม หรือ มาตรฐาน e-Voting ของ ETDA ระบุไว้ว่า
หลักการของการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม
1. ลงคะแนนอย่างเท่าเทียม ทุกคน ทุกกลุ่มใช้งานง่าย คะแนนเสียงไม่ว่าจะลงคะแนนจากช่องทางใดควรถูกนำไปนับคะแนนอย่างเท่าเทียม
2. ลงคะแนนอย่างอิสระ ให้ผู้ลงคะแนนรับทราบ ข้อมูลที่จำเป็นอย่างถูกต้อง ลงคะแนนได้อย่างอิสระ มีเวลาในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
3. ความเป็นส่วนตัวของการลงคะแนน ต้องไม่เปิดเผยคะแนนและผู้ลงคะแนนจนกว่าจะเริ่มนับคะแนน แต่หากเป็นการลงคะแนนลับ ต้องไม่เปิดเผยผู้ลงคะแนน
4. ความมั่นคงปลอดภัยของระบบการลงคะแนน ต้องมีความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะการลงคะแนนลับ ระบบต้องมีสภาพพร้อมใช้งาน
การลงคะแนน
6. ในการประชุมต้องออนไลน์ทุกคนมั้ย บางส่วนอยู่ยังสถานที่เดียวกันได้ไหม
ไม่จำเป็นต้องออนไลน์ทุกคน สามารถส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่งด้วยกัน และอีกส่วนหนึ่งออนไลน์มาก็ได้
การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้ได้กับทั้งกรณีที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าร่วมทางออนไลน์ก็ได้ เช่น ผู้เข้าร่วมประชุม 5 คน มีผู้มาประชุมอยู่ในห้องประชุมร่วมกัน 3 คน และอีก 2 คนเข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์
7. ถ้ามีการประชุมออนไลน์และออฟไลน์ในเวลาเดียวกัน มีเอกสารที่ต้องเซ็นรับรองระหว่างการประชุมต้องทำอย่างไร
กรณีนี้ทำได้หลายวิธีแล้วแต่วิธีปฏิบัติหรือข้อกำหนดของแต่ละที่ เช่น กรณีต้องลงนามในกระดาษเท่านั้น ก็ต้องให้มีการลงนามสำหรับคนที่มาประชุมออฟไลน์ กรณีคนออนไลน์ก็อาจจะปรับเอาวิธีการของการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาปรับใช้ได้ เช่น การส่งอีเมล และให้มีการลงนามกลับมา แล้วให้มีการแจ้งในที่ประชุมว่ามีการลงนามแล้ว โดยฝ่ายเลขาฯ อาจจะสรุปแจ้งในที่ประชุมได้
นอกจากนั้น ยังมีคำถามอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กรณีประชุมลับ รัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินงานเช่นเอกชน อยู่ในหน่วยงานของรัฐตามเจตนารมณ์หรือไม่ ที่ต้องดำเนินการตามมาตรฐาน ในเรื่องนี้ โดยหลักการกฎหมายจะครอบคลุมทั้งการประชุมของหน่วยงานรัฐและการประชุมของหน่วยงานเอกชน เนื่องจากตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ได้ให้นิยามคำว่าหน่วยงานของรัฐครอบคลุมรัฐวิสาหกิจด้วย (ในหมวดที่ 1) หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการจัดประชุมลับจะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ประกอบกัน
บนเวทีพูดคุยนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนว่า e-Meeting จะเป็นแนวปฏิบัติในอนาคตไหม แม้ว่าจะไม่มี COVID-19 แล้ว
ดร.การดี กล่าวว่า เห็นด้วยแน่นอน ซึ่งในภาคเอกชน สนับสนุนให้เป็นในรูปแบบนี้อยู่แล้ว เพราะวันนี้ ในเรื่องการเดินทางใช้เวลาค่อนข้างมากอยู่แล้ว ถ้าใช้ e-Meeting แล้วพิสูจน์ทราบว่า สามารถทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงก็ทำเลย
ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็น Norm หรือบรรทัดฐานในสังคมแล้ว ในการจัดหาระบบที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ทุกวันนี้ เวลาเราจัดประชุม ก็จะมีคนถามว่า เข้าทางออนไลน์ได้ไหม
สำหรับผู้สนใจเพิ่มเติมเรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Meeting สามารถดู ข้อมูลเพิ่มเติม
e-Meeting สู่ชีวิตแบบ New Normal สุดสะดวก ประสิทธิภาพสูง