TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

ยุทธศาสตร์/กฎหมาย/มาตรฐาน

Documents
  • 05 ก.พ. 64
  • 3883

แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564-2565


สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า)​ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ได้มีการจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564-2565 (แผนระดับที่ 3) ซึ่งเป็นการจัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ความเห็นชอบและจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป ประกอบกับ มาตรา 43/1 กำหนดให้แผนยุทธศาสตร์ตามมาตรา 43 วรรคสอง ต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

(ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และการส่งเสริม และได้มีการเสนอคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) พิจารณาเห็นชอบแล้วในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดย คธอ. ได้เห็นชอบในกรอบของวิสัยทัศน์ เป้าหมายและตัวชี้วัดที่ ประเด็นยุทธศาสตร์  ผลที่คาดว่าจะได้รับและกลยุทธ์แนวทางดำเนินงาน และโปรแกรมที่ใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวในระยะ 2 ปี 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 - 2565 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแล้ว เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัย และสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงแผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 - 2565) และมอบหมายให้ ETDA ดำเนินการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 - 2565 (แผนยุทธศาสตร์ฯ) ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยสำนักงานฯ จะดำเนินการรวบรวมแผนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบต่อไป

ET_strat_plan-info_web_rev-(1).jpg

อย่างไรก็ดี สำนักงานฯ มีความเห็นเพิ่มเติมประกอบการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป


1. การดำเนินการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก การพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการ โดยในเบื้องต้นเห็นควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางและระบบกลางที่จะสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ และกำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงข้อมูลที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เป็นสากล รองรับการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลภายในหน่วยงานภาครัฐ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในประเทศและภูมิภาค เพื่อให้มีข้อมูลขนาดใหญ่ นำไปสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการภายในประเทศได้ รวมถึงปรับปรุงกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ขั้นตอนการดำเนินการในรายละเอียด เพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้แทนธุรกรรมในรูปแบบกระดาษได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

2. กรอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13) ได้มีประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จึงเห็นควรมอบหมายให้ ETDA นำประเด็นแนวทางพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไปประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ยังเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณากำหนดให้หน่วยงาน/คณะกรรมการนโยบายชุดต่าง ๆ ที่จะเสนอแผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บท/แผนปฏิบัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (แล้วแต่กรณี) ก่อนที่จะเสนอให้สำนักงานฯ พิจารณากลั่นกรองแผนระดับที่ 3 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถขับเคลื่อนการพัฒนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการใช้ประโยชน์ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งเกิดการจัดสรรและใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม

หากสนใจรายละเอียด สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ File Download ด้านล่าง

แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรอบแนวทางการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้มั่นคงปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว และสนับสนุนเป้าหมายการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ