TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

ยุทธศาสตร์/กฎหมาย/มาตรฐาน

แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570

แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ Documents
  • 19 พ.ค. 66
  • 1060

แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570

แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดทำ แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการในด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในระยะ 5 ปีถัดไป ซึ่งเป็นการดำเนินงานระยะที่สองต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรก (พ.ศ. 2564 – 2565) โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ นี้จัดทำขึ้นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 43 วรรคสองและมาตรา 43/1) และพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ สพธอ. จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ให้ความเห็นชอบและจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป และต้องจัดทำให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

แผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 นี้ ได้จัดทำบนพื้นฐานของการพิจารณาความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 - 2570 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ Gap Analysis จากแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 – 2565 ร่วมกับการนำกระบวนการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) มาปรับใช้กับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 นี้ พร้อมทั้งการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับ stakeholder ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สังคมอย่างต่อเนื่อง
 
เมื่อพิจารณาความสอดคล้องของแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 นี้ กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แล้ว พบว่า มีความสอดคล้องกับกรอบแนวทางการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในระยะ 20 ปี โดยยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดเป้าหมายใน 10 ปีว่า ให้ระบบเศรษฐกิจมีความเป็นชาติการค้า มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มข้น ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมบริการ วิสาหกิจ โดยช่วงระยะที่ 3 ประเทศไทยก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ (Full Transformation) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่กำหนดให้ “การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโอกาสและความได้เปรียบ (Competitive Advantage) ในเวทีการแข่งขันระดับภูมิภาค” อีกด้วย สำหรับความสอดคล้องของร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 กับ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ยังมีกรอบการพัฒนาที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์คือ การผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง คือ การส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มต่อ GDP เพิ่มเป็นร้อยละ 30 (หมุดหมายที่ 6) ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน (หมุดหมายที่ 13) และความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness Ranking by IMD) อยู่ใน 33 อันดับแรก ภายในปี 2570 (ตัวชี้วัดดัชนีรวม (Composite Index) ของ(ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13ฯ)
 
นอกจากการวิจัย ทบทวนประเด็นสำคัญแล้ว ข้อท้าทายสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 คือ การติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศ ทั้งมิติสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองกฎระเบียบ ซึ่งมีทั้งสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง (signal) แนวโน้ม (trend) ปัจจัยและจุดเปลี่ยนที่สำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ รวมทั้งการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) การรับฟังความคิดเห็นและการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เพื่อประกอบการจัดทำแผน ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ มาตรการผลักดันโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโอกาส ความยั่งยืนและความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ให้แก่ผู้ประกอบการไทย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP และยกระดับอันดับความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันทางดิจิทัล ตลอดจนเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคมไทย
 
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570 ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในหลักการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ดังนั้น สพธอ. จึงได้กำหนดจัดการประชุมประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 เพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 จากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป โดยรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 ประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566-2570 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป