TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล

การดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลปี 2566 Documents

การดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลปี 2566

การดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลปี 2566 (ในรอบ 6 เดือน ช่วง ต.ค. 65 - มี.ค. 66)
สพธอ. ดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล แผนกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล และข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 พร้อมมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการอย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอน เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน ผู้บริหาร และคณะกรรมการกำกับ สพธอ.

1. การวางแผนกำลังคน
สพธอ. มีการวางแผนอัตรากำลังคนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยในปี 2566 สพธอ. มีแผนในการทบทวนโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลังของแต่ละศูนย์/ฝ่าย เพื่อให้สอดรับกับสภาพการทำงานจริง ภาระงาน เป้าหมายขององค์กร และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายโดยในปี พ.ศ. 2565 สพธอ. มีภารกิจงานที่สำคัญเพิ่มขึ้นจากการประกาศพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. 2565 (กฎหมาย Digital ID)  และ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 และ 20 สิงหาคม 2566 ตามลำดับ โดยจะทบทวนโครงสร้างองค์กรและอัตราพนักงานในแต่ละศูนย์/ฝ่ายให้มีความเหมาะสม สามารถทำงานตอบโจทย์ภารกิจและเป้าหมาย อีกทั้งยังคำนึงถึงความต้องการของภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนเพื่อกำหนดกำลังคนในแต่ละศูนย์/ฝ่าย รวมทั้งปรับปรุงแนวทางการทำงานให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในยุคดิจิทัล โดยทุกกิจกรรมและกระบวนการในการทบทวนอัตรากำลัง สพธอ. จะเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้สะท้อนข้อเท็จจริง และทำให้เกิดความโปร่งใสในการทบทวนอัตรากำลัง มีการดำเนินการตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ พร้อมสื่อสารให้เป็นที่รับทราบ (เริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2566 โดยประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและเตรียมจัด Workshop กับผู้บริหารและหัวหน้าทีมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการทำโครงการทบทวนโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลัง โดยจะจัด Workshop วันที่ 21 เมษายน 2566 ความพร้อมในการดำเนินการ 100% งบประมาณในการทำ Workshop 1,500 บาท)

2. การสรรหาคนดีคนเก่งเพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน
สพธอ. ยึดหลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ และให้ความเป็นธรรมและความเสมอภาคเป็นสำคัญในการสรรหาและคัดเลือกคนดีคนเก่งที่เหมาะสมกับองค์กร โดยในปี 2566 สพธอ. มีการคัดเลือกและสรรหาเจ้าหน้าที่ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการตามอัตรากำลังที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมได้สมัครผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น หน้าเว็บไซต์สพธอ. และเว็บไซต์สมัครงานต่าง ๆ เป็นต้น

สพธอ. ยังเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมของผู้สมัครทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงเปิดกว้างสำหรับผู้พิการ ที่มีความรู้ความสามารถในการทำงานตามขอบเขตความรับผิดชอบในตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร โดยพิจารณาตามเกณฑ์การคัดเลือกที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับ ซึ่งคำนึงถึงบุคคลที่มีค่านิยมหลัก (Core Value) สอดคล้องกับองค์กร และมีสมรรถนะ (Competency) ที่จำเป็นและสอดคล้องต่อการปฏิบัติงานในแต่ละตำแหน่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (ดำเนินการตลอดทั้งปี 2566 ไม่ใช้งบประมาณ)

เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานแล้ว สพธอ. ยังมีการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมและให้คุณค่ากับการรักษาไว้ซึ่งความเป็นคนดีและคนเก่งตามค่านิยมองค์กร (Core Value) พร้อมปลูกฝัง ETDA DNA ให้กับพนักงานทุกคนเชื่อมั่นในความเป็น Smart Partner ของผู้ที่เราทำงานด้วยโดยตระหนักถึงการอยู่เคียงข้างและพร้อมเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับทุกคนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ด้วย DNA ที่สำคัญ 3 ข้อสะท้อนตัวตนผ่านการเป็น Problem Solver  Smart  Friendly (ดำเนินการสื่อสารผ่านช่องทางภายในองค์กรตลอดทั้งปี 2566 ไม่ใช้งบประมาณ โดยเดือนตุลาคม 65 - เมษายน 66 มีการสื่อสารตามแผนแล้วเสร็จ)

3. การพัฒนาบุคลากร
สพธอ. มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงานในทุกระดับ เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยในปี 2566 สพธอ. ได้พัฒนาบุคลากรในทุกระดับตำแหน่งและทุกกลุ่ม ดังนี้

  • พัฒนาทักษะ ความรู้และเสริมสร้างสมรรถนะทั้งด้าน Functional Competency และด้าน  Soft Competency เพื่อให้พนักงานพร้อมขับเคลื่อนภารกิจองค์กรได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
Innovation Mindset พัฒนากรอบความคิดเชิงนวัตกรรม และเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรม กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อมาปรับใช้ในการทำงาน (ดำเนินการตามแผนพัฒนา Core Couse เดือนตุลาคม 65 - เมษายน 66 แล้วเสร็จ จำนวน 2 หลักสูตร และอีกหนึ่งหลักสูตรจะจัดภายในเดือนมิถุนายน เพื่อพัฒนาพนักงานในทุกระดับ งบประมาณรวมทั้งปี 500,000 บาท)
  • พัฒนาด้านพฤติกรรมด้วยการสร้างสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร (Core Value) รวมถึงการสร้าง Smart Partner ที่ใส่ใจการส่งมอบงานที่มีคุณภาพให้กับทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยมุ่งเน้น จริยธรรม จรรยาบรรณ รวมทั้งความโปร่งใสในการทำงานเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ สำนักงานยังสนับสนุนให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานร่วมกันวางแผนพัฒนารายบุคคลเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นบุคลากรที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การสร้างเส้นทางก้าวหน้าในสายอาชีพ
สพธอ. เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีศักยภาพได้เติบโตในสายงาน โดยพิจารณาตามผลการปฏิบัติงาน และสมรรถนะของพนักงานในตำแหน่งที่ถือครอง (รวมถึงประสบการณ์ ความรู้ และทักษะที่สำคัญ) โดยพิจารณาร่วมกับโครงสร้างองค์กร แผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน สิ่งส่งมอบ และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร (Culture and Core Value) เพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการดำรงตำแหน่งและขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนด

ในปี 2566 สพธอ.ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ ตั้งแต่มีแผนการทบทวนโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลังให้เหมาะสมภารกิจตามโครงสร้างองค์กรใหม่ (Organization Structure) จากนั้นมีการทบทวนสมรรถนะ (competency) แต่ละระดับตำแหน่งของแต่ละสายงานเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ และภาระงานจริงที่เปลี่ยนไปจากการปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมมีเกณฑ์การประเมินสมรรถนะรายบุคคล เพื่อให้รู้ว่าจะต้องมีการพัฒนาสมรรถนะของตนเองอย่างไร เพื่อการก้าวไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้น (ดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดในเดือนตุลาคม 2565 โดยไม่ใช้งบประมาณ สำหรับปี 2566 อยู่ระหว่างจัดทำโครงการทบทวนโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลัง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการทบทวนสมรรถนะ (competency) และความก้าวหน้าในสายอาชีพต่อไป)

5. การพัฒนาคุณภาพชีวิต
สพธอ. มีการดำเนินการตามนโยบายการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงานโดยคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมสวัสดิการที่หลากหลายอย่างเหมาะสมให้พนักงานและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะได้มีกำลังกายและกำลังใจอย่างเต็มที่ในการทำงานและส่งมอบผลงานอันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ โดยมีการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงาน โดยในปี 2566 สพธอ. ได้ดำเนินการ ดังนี้
  • จัดหาเครื่องมือทางดิจิทัล (Hardware Software) และออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ ล้มป่วย หรือแพร่ระบาดเชื้อไปยังผู้อื่น นอกจากนี้ สำนักงานยังได้พัฒนาการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ไปสู่รูปแบบการทำงานนอกสถานที่ (Work from anywhere) เพื่อความยืดหยุ่นในการทำงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงานในอนาคต (ดำเนินการตลอดทั้งปี 2566 โดยเดือนตุลาคม 65 - เมษายน 66 มีการใช้นโยบายดังกล่าวกับพนักงานทุกระดับ และไม่ใช้งบประมาณ)
  • กำหนดเวลาการปฏิบัติงานแบบยืดหยุ่น (Flexible)  เพื่อให้พนักงานหลีกเลี่ยงการจราจรหนาแน่น หรือสามารถบริหารจัดการภารกิจส่วนตัวได้ก่อนมาทำงาน (ดำเนินการตลอดทั้งปี 2566 โดยเดือนตุลาคม 65 - เมษายน 66 มีการใช้นโยบายดังกล่าวกับพนักงานทุกระดับ และไม่ใช้งบประมาณ)
  • จัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เอื้อต่อการคิดค้นสิ่งใหม่ด้วย Co-working space ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบปะพูดคุยกันอย่างกว้างขว้างระหว่างศูนย์/ฝ่าย และทำให้พนักงานมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือความรู้ระหว่างกันได้มากขึ้น (ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2565 และไม่ใช้งบประมาณ)
  • จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และสนับสนุน DNA เช่น กิจกรรม Workshop เพื่อทดสอบบุคลิกภาพและเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (ดำเนินการตามแผนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงมิถุนายน 2566 โดยมีแผนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ DNA รวม 4 กิจกรรมใหญ่รวมทั้งการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ภายในองค์กร การจัดกิจกรรมย่อย การประเมินและสรุปผลเพื่อวัดการรับรู้ของพนักงาน งบประมาณ 500,000 บาท โดยในเดือนมีนาคม 66 มีการจัดกิจกรรมแล้ว 2 กิจกรรมและสื่อสารผ่านช่องทางภายใน ความคืบหน้าในการดำเนินการภาพรวม 40% ตามแผน)
  • ดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของพนักงาน เช่น จัดให้มีการทำประกันสุขภาพ จัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี การฉีดวัคซีนป้องกันโรค และสวัสดิการอื่นๆ ตามระเบียบข้อบังคับด้านบริหารทรัพยากรบุคคล นอกจากนั้น สพธอ. ยังคำนึงถึง Well-Being ของพนักงานจึงมีแผนในการจัดกิจกรรม 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ หมวดสุขภาพกาย หมวดสุขภาพใจ และหมวดสุขภาพทางการเงินเพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในองค์กร (เดือนมกราคม-มีนาคม 2566 มีการจัดทำแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม Well-being แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเพื่อใช้ประกอบการวางแผนจัดกิจกรรม ยังไม่ใช้งบประมาณ เนื่องจากอยู่ระหว่างสรุปผลสำรวจ)
นอกจากนี้ สพธอ. ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร โดยมีช่องทางการสื่อสารภายในที่หลากหลายและจัดกิจกรรมสื่อสารภายในอย่างสม่ำเสมอ เช่น กิจกรรม ETDA On AIR และ กิจกรรม Homeday ซึ่งจะมีการจัดในทุกเดือน เพื่อผู้บริหารได้สื่อสารนโยบายองค์กรให้พนักงานทราบอย่างทั่วถึง พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงานที่มีต่อนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้พนักงานสามารถสื่อสารหรือขอความร่วมมือเพื่อผลักดันภารกิจต่างๆ ภายในองค์กร (ดำเนินการตลอดทั้งปี 2566 โดยในเดือนตุลาคม65 - เมษายน 66 มีการจัดกิจกรรม Homeday และ ETDA on air แล้วเสร็จตามแผน ไม่ใช้งบประมาณ)

6. การบรรจุและแต่งตั้งบุคลากร
สพธอ. มีการบรรจุและแต่งตั้งบุคลากรที่โปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยบุคลากรทุกคนจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและสรรหาที่โปร่งใสและเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมได้สมัครและแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมบนเกณฑ์การคัดเลือกที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับ ก่อนมีการบรรจุและแต่งตั้งบุคลากรตามข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของ สพธอ. และสำหรับในปี 2566 สพธอ. ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่ชัดเจนและเปิดเผยโปร่งใสตามนโยบายที่วางไว้  (ดำเนินการตลอดทั้งปี 2566 โดยในเดือนตุลาคม65 - เมษายน 66 มีการบรรจุแต่งตั้งพนักงานตามเกณฑ์การคัดเลือก 100% และไม่ใช้งบประมาณ) ตั้งแต่
  • การกำหนดเกณฑ์การสรรหาคัดเลือก
  • แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา
  • ดำเนินการสรรหา สัมภาษณ์งาน สรุปผลการคัดเลือก
  • จนถึงกระบวนการบรรจุและแต่งตั้ง ตามขั้นตอนและกฎระเบียบที่กำหนดไว้
7. การประเมินผลการปฏิบัติงาน
สพธอ. มีระบบและวิธีการประเมินผลที่เป็นธรรม สามารถสะท้อนผลการปฏิบัติงานและความสามารถของพนักงานได้อย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ได้รับการถ่ายทอดลงมาในระดับองค์กร สู่ระดับศูนย์/ฝ่าย และนำมากำหนดเป็นตัวชี้วัดรายบุคคล (ดำเนินการตลอดทั้งปี 2566 โดยในเดือนตุลาคม65 - เมษายน 66 มีการประเมินพนักงานแล้วเสร็จตามกำหนด และไม่ใช้งบประมาณ)
  • ผู้บริหารและพนักงานทุกคนคำนึงถึงการกำหนดตัวชี้วัดรายบุคคล ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดขององค์กร ทิศทางการดำเนินงาน และแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร เป็นสำคัญ
  • พนักงานกับผู้บังคับบัญชาร่วมกันพิจารณาและทำการประเมินในทุกสามเดือน โดยจะเน้นการพูดคุยหารือและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีความท้าทายแต่สามารถทำได้จริง เพื่อให้ผลการดำเนินงานมีคุณภาพทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
  • การประเมินผลการปฏิบัติงาน สพธอ. ได้ยึดแนวปฏิบัติตามเกณฑ์การประเมินภายใต้ระเบียบ สพธอ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการทำสัญญาจ้างปฏิบัติงาน การประเมินผลทดลองการปฏิบัติงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้าง สพธอ. พ.ศ. 2564
  • มีการพิจารณาข้อมูลผลการประเมินของพนักงานรายบุคคลกับการขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทน รวมถึงใช้ประกอบการพิจารณาปรับระดับตำแหน่ง พร้อมแจ้งผลอย่างเป็นทางการเพื่อสื่อสารให้พนักงานทราบ พร้อมวางเป้าหมายในการทำงานและกำหนดแนวทางในการพัฒนาตนเองในระยะต่อไป
  • นอกจากนี้ ผลการประเมินจะถูกนำมาประกอบการพิจารณาการขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำปี การต่อสัญญาจ้างปฏิบัติงาน การให้ออกจากงาน โดยยึดตามกรอบแนวทางปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอย่างเคร่งครัด
8. การส่งเสริมจริยธรรมและรักษาวินัยของบุคลากรในหน่วยงาน
สพธอ. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการมีคุณธรรมและจริยธรรม ตามนโยบายการส่งเสริมจริยธรรมและรักษาวินัยของบุคลากรในหน่วยงาน ผ่านการสร้างธรรมาภิบาลให้กับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ ในปี 2566 สพธอ. ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมจริยธรรมและรักษาวินัยในหลายรูปแบบ ได้แก่ การอบรม สัมมนา งาน Homeday ETDA on Air และการสื่อสารภายใน เพื่อให้พนักงานทั้งองค์กรเกิดความตระหนักและยึดมั่นในการประพฤติตนและทำงานตามกฎระเบียบวินัยและมีจริยธรรม โดยมีกิจกรรมสำคัญๆ ดังนี้
  • ทบทวนประมวลจริยธรรมกรรมการ ผู้อำนวยการ และผู้ปฏิบัติงานของ สพธอ. ให้สอดคล้องกับประมวลจริยธรรมสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชน (ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2566 ไม่ใช้งบประมาณ)
  • จัดกิจกรรมด้านการต่อต้านทุจริตเป็นประจำทุกปีเพื่อรณรงค์ให้พนักงานมีความตระหนักอยู่เสมอ (ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 งบประมาณ 2,000 บาท)
  • นำเสนอชุดข้อมูลความรู้ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายในการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ของสำนักงานอย่างสม่ำเสมอ (ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไม่ใช้งบประมาณ)