Digital Citizen
- 16 ธ.ค. 62
-
35090
-
Hate Speech ทำไมต้องให้ร้ายใส่กัน
การสื่อสารทางออนไลน์นั้นมีผลกระทบสูงมาก เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสื่อที่กระจายออกไปได้ในวงกว้าง รวดเร็ว โดยผู้ใช้ทุกคนมีส่วนในการเผยแพร่ การไม่ระบุหรือปิดบังตัวตนของผู้ใช้ การขาดการตรวจสอบเนื้อหาข้อมูลก่อนส่ง ก่อนแชร์ ทำให้สื่อออนไลน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการสร้างความเกลียดชังแตกแยกอีกด้วย
วาทะสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ไม่ได้หมายถึง คำพูด เท่านั้น แต่รวมถึงการสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือสื่อต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาในเชิงยุยง ก่อให้เกิดอคติ สร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดการแบ่งแยก การดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ชาติพันธุ์ สีผิว ความพิการ เพศสภาพ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางด้านความคิด เช่น การเมือง ศาสนา
องค์ประกอบหลัก ๆ ของ Hate Speech
Hate Speech มีเป้าหมายเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการสร้างความเกลียดชังอย่างชัดเจน ต้องการแบ่งแยกสังคม กำจัดออกจากสังคม หรือต้องการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีรูปแบบของการสื่อสาร ไม่จำกัดที่การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม เท่านั้น แต่อาจตั้งใจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด แล้วโน้มน้าวชักจูงให้เกลียดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมาย การลดศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ สร้างความรู้สึกแบ่งแยก กีดกันออกจากสังคมที่อยู่ การเหมารวมในด้านลบ ข่มขู่คุกคามและสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มเป้าหมาย ระรานกันทางออนไลน์ (Cyberbullying) แบ่งชนชั้นหรือเลือกข้าง สร้างความแตกแยกในสังคมก็ได้
นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเหยื่อ โดยทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ไม่มั่นคงปลอดภัย ถูกลดทอนศักดิ์ศรี ถูกสังคมทอดทิ้ง ทำให้ซึมเศร้า รันทด จนถึงคิดฆ่าตัวตาย แล้ว ยังอาจทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ สงสาร จนถึงหดหู่ ตามไปด้วย
สังคมที่แตกแยก มีความขัดแย้ง อาจนำไปสู่ความรุนแรงก็ได้ การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการเมือง เช่น การแบ่งแยกสีเสื้อ การแบ่งขั้วการเมือง การแบ่งแยกชนชั้น เราจะเห็นการสร้างข้อมูลโจมตี การตั้งฉายาลบ ๆ ให้ฝ่ายตรงข้าม ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ขยายวงกว้างมากขึ้น
การป้องกัน Hate Speech
- การป้องกันต้องเริ่มจากตัวเองก่อน โดยต้องไม่โพสต์ ไม่กดไลก์ ไม่กดแชร์ ไม่ forward ไม่เขียนข้อความสนับสนุน รุมด่า เหยียดหยามใคร เรียกว่าเป็น การกำกับดูแลตนเอง (self-regulation) ทั้งพฤติกรรม อารมณ์ และความคิด
- หากใครเขียน ส่ง หรือสนับสนุน Hate Speech ก็ควรได้รับการว่ากล่าวตักเตือน ตำหนิติเตียน โดยคนในสังคม
- ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ควรที่จะออกมาตรการให้สังคมได้มีแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เช่น การแจ้ง หรือการลบ การปิดกั้นเนื้อหาเหล่านั้น การดำเนินการกับผู้ผลิตหรือผู้เผยแพร่ในการสร้างความรู้สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับ Hate Speech และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้ง ส่งเสริมการแจ้ง หรือรายงานไปยังองค์กรที่ดูแล เมื่อพบเห็นข้อความหรือการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังทางออนไลน์ เพื่อให้สามารถนำเนื้อหาดังกล่าวออกจากระบบได้ทันที ซึ่งจะเป็นการช่วยลดจำนวนผู้พบเห็นและส่งต่อเนื้อหา Hate Speech โดยเร็ว
- การเห็นอกเห็นใจบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเหยื่อของ Hate Speech และหากตัวเราเองโดนทำร้ายด้วยถ้อยคำดูหมิ่น เกลียดชัง ให้ทำใจเย็น ไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ เพราะรังแต่จะทำให้เรื่องรุนแรงขึ้น ควรชี้แจงด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง
- การแจ้งหรือรายงานการละเมิดในเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ที่พบเนื้อหาดังกล่าว
- หากมีการข่มขู่ทำร้ายด้วยก็ให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ไว้ประกอบการแจ้งความด้วย
สิ่งที่สำคัญคือการเปิดใจยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางร่างกาย จิตใจ หรือทางความคิด เพื่อลดอคติ ไม่มีใครเหมือนกันแม้แต่พี่น้องฝาแฝดคลานตามกันมา ทั้งนี้เพื่อลดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ส่งเสริมการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างสงบสุข
ลดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ส่งเสริมการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างสงบสุข