Digital Citizen
- 02 พ.ค. 64
-
3898
-
Social Detox และ JOMO วัคซีนที่ต้องมีในโลกออนไลน์
จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (Thailand Internet User Behavior) ในปี 2563 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สะท้อนว่า คนไทยมีสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตในปี 2563 เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที) โดยมีคนไทยมากถึง 95.3 % (จาก 91.2% ในปี 2562) ที่ใช้งานเพื่อการเล่นสื่อสังคมออนไลน์ (Social media หรือโซเชียลมีเดีย)
อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตติดหน้าจอมากเกินไป โดยไม่จัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม อาจเป็นการบั่นทอนทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ
อาการของโรค
เว็บไซต์ของ
Business Insider ได้ชี้ข้อเสียของการใช้งานสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ตเอาไว้หลายข้อที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย เช่น การปล่อยแสงสีฟ้าและการดึงดูดให้ใช้งานจนทำให้
นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวที่เกิดจากการติดสมาร์ตโฟน การแจ้งเตือนของข้อความที่ทำให้
ต้องตื่นตัวในการสื่อสารตลอด[1] และการใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่สามารถพัฒนาไปเป็น
อาการปวดกล้ามเนื้อจากอาการอักเสบและเยื่อพังผืด (หรือที่นิยมเรียกว่า Office Syndrome) อาการปวดตาแสบตาจากการจ้องแสงนานเกินไป หรือมีอาการนิ้วล็อกอีกด้วย
นอกจากนี้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการใช้งานโซเชียลมีเดียยัง
ทำให้เกิดอาการทางใจด้วย เช่น เมื่อว่างเราจะหยิบมือถือขึ้นมาดู การวัดคุณค่าตนเองด้วยความนิยมบนสื่อออนไลน์
อาการกลัวที่จะไม่ได้รับรู้เรื่องราวหรือพลาดข่าวสาร (Fear Of Missing Out หรือ FOMO) และการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นตลอดเวลา ทำให้มีคนไทยไม่น้อยที่ร่างกายสะสมความอ่อนล้าและความเครียดเอาไว้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
สาเหตุของโรค
ปัจจุบันมีการวิจัยสาเหตุของการเสพติดโซเชียลมีเดียเอาไว้ว่าน่าจะเกิดจากสารเคมีในประสาทของเราที่ชื่อว่า
โดพามีน (Dopamine) ทำหน้าที่บอกสมองว่าพฤติกรรมที่เราทำอยู่ควรทำซ้ำเพราะเป็นผลดี เช่น การกินเพราะจะทำให้เรามีสารอาหาร หรือการสืบพันธุ์เพื่อให้เรามีลูกเพื่อสืบต่อพันธุกรรม แต่เมื่อเราใช้โซเชียลมีเดียและเจอกับข้อมูลใหม่หรือสิ่งที่น่าสนใจ สารโดพามีนนี้ก็หลั่งออกมา ทำให้เราเกิดความรู้สึกดีเวลาใช้งานด้วย นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากใช้งานต่อ
[2] เวลาว่างก็เผลอหยิบมือถือขึ้นมาดู หรือรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ยอดไลก์ (Like) เพิ่ม แต่การเสพติดนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกแย่ได้เช่นกัน จากการได้ยอดไลก์ไม่เท่ากับที่คาดหวัง การที่โพสต์ของเราไม่ได้รับความสนใจ ไปจนถึงการเห็นคนอื่นดูมีชีวิตที่ดีกว่าหรือประสบความสำเร็จมากกว่าเรา
เริ่มฉีดวัคซีนรักษา
แนวคิดการทำ
โซเชียลดีท็อกซ์ (Social Detox) จึงเกิดขึ้น โดยมีที่มาจากการทำดีท็อกซ์ (Detox) ที่เป็นการเอาสารพิษออกจากร่างกาย แต่วิธีนี้คือการชำระเอาสารพิษที่เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์หรือการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารมากเกินไปออกจากร่างกายและจิตใจ โดยมีหลายวิธีที่จะเริ่มลดการใช้งานลง ตั้งแต่
- จัดเวลาที่เราจะไม่ยุ่งกับมือถือและไม่สนใจการแจ้งเตือน: เพื่อให้ไม่เสียงานเสียการ ลองแบ่งเวลาการทำงานกับการพักผ่อนออกจากกัน โดยเปลี่ยนการพักผ่อนด้วยการเลื่อนดูโซเชียลมีเดียไปทำอย่างอื่นแทน ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อลดการรับแสงสีฟ้าที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว
- ปิดการแจ้งเตือน (Notification): หากในแบบแรกยังดูยากไปเพราะเรายังกังวลว่าจะมีเรื่องสำคัญเข้ามาไหม อาจลองเข้าไปปิดการแจ้งเตือนรายแอปพลิเคชัน เพื่อให้แอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ยังแจ้งเตือนเราอยู่ เช่น แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการเงินหรือแอปพลิเคชันปฏิทินนัดหมาย
- กำหนดหรือจำกัดเวลาการใช้งานแอปพลิเคชัน: วิธีนี้เป็นวิธีตรงกันข้ามกับวิธีแรกที่กำหนดเวลาที่จะไม่ใช้งาน ไปเป็นการจำกัดชั่วโมงในการใช้งานโซเชียลมีเดียแทน เพื่อไม่ให้เวลาของเราถูกดึงไปใช้กับการเลื่อนลง (Scroll down) ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จบ[3]
- ลบแอปพลิเคชันออกจากเครื่อง: การเลือกลบแอปพลิเคชันออกเป็นวิธีการหักดิบเพื่อสร้างนิสัยใหม่ในการใช้งานเลย ในช่วงแรกเราอาจจะเผลอหยิบมือถือขึ้นมาเพื่อดูการแจ้งเตือน แต่จะไม่เจอแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ทำให้เมื่อเราทำบ่อย ๆ ก็จะคุ้นเคยกับการไม่หยิบมือถือมาเปิดดูเมื่อว่าง และได้เอาสมองไปคิดเรื่องอื่นมากกว่าการรอดูสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์
- วางโทรศัพท์ไว้ไกล ๆ มือหรือปิดเครื่องในเวลานอน: เพื่อไม่ให้เราเห็นมือถืออยู่ในสายตาจนต้องหยิบขึ้นมา นอกจากนี้ยังเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้เราไม่ใช้งานในช่วงเวลานั้น ๆ
ในทุกวิธีการต้องใช้การรู้สึกตัวและฝืนใจเล็กน้อย แต่เมื่อเริ่มทำได้แล้ว เราจะเริ่มเบาจากข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาที่เราต้องรู้น้อยลง
JOMO สิ่งสะท้อนความสำเร็จของวัคซีน
เมื่อเราล้างสารพิษที่เกิดจากการใช้งานโซเชียลมีเดียที่ไม่ดีต่อสุขภาพกายและใจของเราออก จนสามารถบำบัดอาการ FOMO ได้แล้ว เราจะได้เวลากลับมามากขึ้น ได้หยุดการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น ได้หยุดพักจากการอ่านเนื้อหาตลอดเวลา ได้หยุดพักจากการถูกกระตุ้นความอยากรู้ข่าวสาร
การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อเสริมสร้างความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) ได้หยุดพักจากการรับข้อมูลที่เยอะไป ได้ขยับร่างกายหรือมีเวลาให้กับสิ่งที่อยู่ในโลกจริงบ้าง ด้วยความเข้าใจว่าโลกก็มีข่าวสารหรือเนื้อหา (Content) ใหม่ ๆ ตลอดอยู่แล้ว เราไม่ต้องกลัวการพลาดข่าวสารหรอก (ยิ่งตอนนี้มีหลายเพจหรือ Platform ที่ชอบสรุปข่าวให้เราอย่างกระชับอยู่แล้ว)
ในชีวิตเรามีหลายสิ่งที่ทำได้นอกเหนือจากในโลกออนไลน์ ทำให้เราได้ไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ คุยกับคนในครอบครัว เล่นกับสุนัข ทำอาหาร หรือแม้แต่นั่งเงียบ ๆ กับตัวเองบ้าง จนเราอาจได้ค้นพบงานอดิเรกใหม่ ๆ และค้นพบความสุขจากการได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบทีละอย่างในช่วงเวลาที่มีคุณภาพ โดยที่เราไม่ต้องรับรู้เรื่องราวหรือข่าวสารทุกอย่างก็ได้ อย่างที่เรียกกันว่า
Joy Of Missing Out หรือ JOMO
ใช้เป็น ไม่เท่ารู้ทัน
โซเชียลมีเดียไม่ได้มีแต่ผลเสีย ยังมีด้านดี ๆ ที่เราใช้ประโยชน์จากมันได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามชีวิตของเพื่อนเราและร่วมแสดงความยินดีกับเขา เรียนรู้การรับฟังความเห็นในแง่มุมที่แตกต่างเพื่อไม่ให้มุมมองของเรามีเพียงด้านเดียว ใช้ในการตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) ที่เราจะรู้ทันความรู้สึกและสาเหตุของความรู้สึกของตนเอง หรือการดึงประโยชน์ของการทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม (Personalization) มาเพื่อใช้ในการโฆษณาสินค้าที่ตรงกับความตรงการของกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย เป็นต้น
โซเชียลมีเดียจึงเป็นอีกนวัตกรรมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับการใช้งานและรู้เท่าทันเทคโนโลยีนั่นเอง
ใครมีไอเดียหรือวิธีการดี ๆ ในการทำโซเชียลดีท็อกซ์อีก สามารถคอมเมนต์มาแนะนำเพื่อน ๆ ได้เลย จะได้ JOMO ไปด้วยกัน :)
[1] https://www.businessinsider.com/12-ways-your-smartphone-is-making-your-life-worse-2018-6#12-they-may-not-be-good-for-our-mental-health-12
[2] https://www.sciencefocus.com/future-technology/trapped-the-secret-ways-social-media-is-built-to-be-addictive-and-what-you-can-do-to-fight-back/
[3] https://www.healthline.com/health/social-media-addiction#takeaway
โซเชียลมีเดียจึงเป็นอีกนวัตกรรมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับการใช้งานและรู้เท่าทันเทคโนโลยี