Digital Platform Services
- 27 ก.ค. 66
-
4703
-
“กฎหมาย DPS” มีแล้วใครได้ประโยชน์ เจาะอินไซต์ที่ ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องอ่าน!
หากถามว่าวันนี้ เมื่อพูดถึงกฎหมายฉบับใหม่ที่มาแรงและทุกคนต่างสนใจคือฉบับไหน? แน่นอนว่า ณ เวลานี้คงหนีไม่พ้น “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่จะถึงนี้ แน่นอนว่าในมุมของผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างผู้ให้บริการ หรือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพตลฟอร์มดิจิทัลนั้น คงติดตามความเคลื่อนไหวและมีการทำความเข้าใจกับกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะกว่าจะมีกฎหมาย DPS กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ในฐานะหัวเรือใหญ่ของการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ได้มีการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล เปิดรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนรวบรวมประเด็นเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงกฎหมายซึ่งได้มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
แต่สำหรับในมุมของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่างผู้บริโภค ผู้ซื้อ พ่อค้าแม่ค้า ตลอดจน พี่ๆ ไรเดอร์ จะได้รับประโยชน์อย่างไร? ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนอยากรู้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ETDA ได้มีการเผยแพร่ความรู้สร้างความเข้าใจ เพื่อตอบประเด็นคำถามข้างต้นแล้ว ผ่านรายการพอดแคสต์ “ED-DO (เอ็ด-ดู้) รู้ไว้ชีวิตไม่ตกขอบ ไปกับ ETDA” ตอน กฎหมาย Digital Platform ใครได้ประโยชน์? จะมีเนื้อหาน่าสนใจอย่างไรบ้าง แล้วการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลจะมั่นใจ ปลอดภัยขึ้นแค่ไหน วันนี้เราจะมาสรุปให้อ่านกัน
จาก “Network Effect” สู่แนวคิด “ดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล”
เพราะคนไทยซื้อ-ขายของออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากคนที่ไม่เคยซื้อสินค้า อาหาร หรือบริการขนส่ง ผ่านโลกออนไลน์ ก็หันมาใช้งานราวกลับว่า เป็นเรื่องที่หลายคนต่างคุ้นชินกันมานานแล้ว ผลที่ตามมาไม่ใช่เพียงเเค่เรื่องของความสะดวกสบาย ที่มาพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสให้กับหลายๆ พ่อค้าแม่ค้าได้สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ในมุมกลับกันการใช้งานที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Network Effect ที่คุณค่าของสินค้าหรือบริการ ไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติ หรือราคา แต่อยู่ที่จำนวนของผู้ซื้อและผู้ขายในแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นๆ จนทำให้อัลกอลิทึมของแพลตฟอร์มเกิดการจัดอันดับและเลือกแนะนำสินค้า หรือบริการ จากร้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แก่ผู้ซื้อโดยตรง โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่า แพลตฟอร์มนั้นๆ ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น เหมาะสม โปร่งใส และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน ทั้งในมุมของผู้ซื้อ และผู้ขาย จริงหรือไม่? นี่คือหนึ่งตัวอย่างของ Pain point ที่เกิดขึ้นจริง ที่ไม่นับรวมประเด็นของการถูกหลอก โกง สินค้าไม่ตรงปก ตระกร้าสินค้าหาย โดยไม่สามารถติดต่อหรือติดตามผู้รับผิดชอบได้ เป็นต้น “การเข้ามาดูแลการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม” จึงเป็นหนึ่งกลไกสำคัญ ที่ ETDA มองเห็นโอกาสในการร่วมส่งเสริมให้ Ecosystem ของโลกธุรกรรมออนไลน์มีความปลอดภัย เชื่อมั่น จนนำมาสู่การมีกฎหมาย DPS ในวันนี้ เพราะในโลกความเป็นจริงแล้ว เราจะเห็นสินค้านั้นๆ ได้ก็ต่อเมื่อเราเดินไปที่ชั้นวางสินค้าในแผนกต่างๆ หรือจากผู้ขายที่มีลีลาการขายสินค้าได้น่าสนใจ ราคาถูก สินค้าหรือบริการมีคุณภาพจริงๆ เท่านั้น
กฎหมาย DPS” เน้นคุ้มครอง ไม่เน้นควบคุม
สาระสำคัญหลักๆ ของ “กฎหมาย DPS” ฉบับนี้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ กำหนดให้ ผู้ให้บริการหรือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่ในการมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ว่าเป็นใคร ให้บริการอะไรและกำลังจะให้บริการอะไร และมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่เท่าไหร่ เป็นต้น เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยกำหนดให้เราว่า บริการใดบ้างที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพื่อนำไปสู่มิติของการดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสม และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการ ทั้งในมุมผู้บริโภค และผู้ขาย ภายใต้การส่งเสริมและการสนับสนุนให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) สำหรับเป็นกลไกในการกำกับดูแลธุรกิจบริการของตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 “ซึ่งกฎหมาย DPS เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น ฉะนั้น
บุคคลที่เป็นผู้ซื้อ หรือผู้ขายภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ไม่ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA”
รู้ให้ลึก! กฎหมาย DPS ใครได้ประโยชน์บ้าง?
กฎหมาย DPS นอกจากจะสร้างกลไกให้เกิด Best practice แก่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะได้มีกรอบแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการกำหนดทิศทาง วิธีการให้บริการและการดูแลควบคุมตัวเองที่เหมาะสมและมีมาตรฐานแล้ว มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อจัดการคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม การจัดการกับปัญหาการฉ้อโกงต่างๆ หรือ สแกมเมอร์ (Scammer) ที่สามารถระบุผู้กระทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยส่งเสริมให้บริการแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถืออีกด้วย นอกจากนี้ ในมุมของผู้ใช้บริการเอง ก็ยังได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน เช่น ร้านค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จะได้รับความชัดเจนในด้านข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอะไร ข้อมูลการจัดอันดับ Ranking ร้านยอดนิยม ช่องทางในการติดต่อกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ในกรณีที่ถ้าเกิดปัญหาจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ส่วน ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคทั่วไป ไม่เพียงแค่จะได้รับการบริการที่ดีและปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะของการเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย (User friendly) มีช่องทางในการติดต่อ หรือแม้แต่การยกเลิกออเดอร์ระหว่างทางก็สามารถทำได้ง่ายและเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องติดต่อผู้ให้บริการผ่านหลายช่องทางที่อาจจะมีการตอบสนองค่อนข้างช้า รอนานหลายชั่วโมง เป็นต้น และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ กลุ่มไรเดอร์ (Rider) ที่เปรียบเสมือนคนกลางระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหักค่า GP (Gross profit) ที่อาจจะมีการปรับลดค่ารอบโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ต้องทำรอบควบออร์เดอร์ ไม่มีความชัดเจนในการทำงาน เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ ก็จะได้รับการดูแลคุ้มครองและความเป็นธรรมในเรื่องของผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากในกฎหมายฉบับนี้มีกลไกสำคัญที่สุดคือ ‘การตั้งคณะกรรมการร่วม’ ที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เกือบ 20 หน่วยงาน จะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงข้อมูลและระบบ ในการดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้ดำเนินงานในการกำกับดูแล ไม่เกิดการทับซ้อนระหว่างกัน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“การสื่อสารที่ชัดเจน” ทลายอุปสรรคความไม่เข้าใจกฎหมาย DPS
แม้ที่ผ่านมา จะมีการสื่อสารเกี่ยวกับรายละเอียดของกฎหมายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ดูเหมือนว่า หลายๆประเด็นยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น ผู้ขายสินค้าในแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือแม้แต่คนไลฟ์สดขายของในโซเชียลมีเดีย ยังมีความเข้าใจว่า ตนเองจะต้องมีหน้าที่ไปจดแจ้งกับ ETDA ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายกำกับเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เท่านั้น ดังนั้น ETDA ในฐานะเจ้าภาพหลัก จึงเตรียมเร่งสปีดการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น การเปิดเวทีชี้แจงรายละเอียดของกฎหมาย การปล่อยสื่อเพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย พร้อมจัดทำคู่มือฉบับประชาชน เพราะอยากให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเกิดความเข้าใจและเล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญของการมีกฎหมาย DPS ได้อย่างถูกต้องมากที่สุด รวมถึงรวบมัดทุกคำถามตอบทุกข้อสงสัย จัดทำ FAQs เผยแพร่ผ่านทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ ETDA Thailand เพื่อสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมหลังมีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย DPS ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ในวงกว้างให้มากที่สุด
ถ้าถามว่า เมื่อกฎหมาย DPS (Digital Platform Services) บังคับใช้ 21 สิงหาคมนี้ จะทำให้ตัวเลขของปัญหาการซื้อ-ขายออนไลน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นศูนย์เลยหรือไม่ อาจไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้ แต่ในมุมของผู้ใช้บริการ สิ่งที่ทุกคนจะได้รับแน่นอน คือ ความมั่นใจว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้งานอยู่นั้น มีความน่าเชื่อถือแน่นอน เพราะหนึ่งในสาระสำคัญที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด คือ เมื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้ามาจดแจ้งข้อมูลแล้ว จะถูกการันตีด้วยการประกาศว่า เป็นผู้ให้บริการที่ได้เข้ามาจดแจ้งกับ ETDA แล้วด้วย
ตลอดจนกฎหมายฉบับนี้ ยังถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการร่วมสร้าง Ecosystem ของการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ร่วมสร้างความเชื่อมั่น ภายใต้กลไกการดูแลตนเอง หรือ Self-regulate ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เป้าหมายที่ ETDA ต้องการเห็นในอนาคตอันใกล้ จึงคาดหวังให้ทุกคนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อกฎหมาย DPS หลังได้รับการสื่อสารในวงกว้างมากที่สุด และร่วมกันผลักดันกฎหมายดังกล่าว ผ่านการเป็นทั้ง ‘ผู้ให้-ผู้รับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ เพื่อท้ายที่สุดแล้ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญ ที่ปูทางให้ทุกคนมีชีวิตดีได้...เมื่อมีดิจิทัล