Digital Trend
- 06 พ.ค. 64
-
4587
-
ต่างคน ต่างวัย ต่างใจ ใช้งานอินเทอร์เน็ตกันยังไง? มีอะไรน่าสนใจมั่ง?
ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือ ทั้งการปรับพฤติกรรมในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์ หลายคนต้องใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยไม่ใช่เพียงแค่การทำเพื่อความบันเทิง แต่ต้องทำงานด้วยอินเทอร์เน็ต จึงอยากชวนมาดูว่า รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านตัวละคร 4 ตัว
คนแรก ‘BB (บีบี)’ ชายวัย 59 ปี อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มานาน เขาทำงานในหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ตอนเกิดโรคระบาดร้ายแรงของโควิดในปีที่แล้ว เขาต้องทำงานที่บ้านอยู่หลายเดือน เรามาดูพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเขากัน
- ในวันธรรมดา บีบีใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตประมาณ 9 ชั่วโมง เพราะต้องทำเอกสาร ประชุมออนไลน์ รับ-ส่งเอกสาร และขอข้อมูลจากเพื่อนร่วมงาน ทำให้แทบจะต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา
- ในวันหยุดเขาจะลดการใช้อินเทอร์เน็ตลงเหลือแค่ 8 ชั่วโมง เพราะได้ตื่นสายมากขึ้น แต่บีบีเคยชินกับการต้องรับข่าวสารหรือแชร์ข่าวสารผ่านทางข้อความกับเพื่อน นอกจากนี้ยังเข้า Facebook ไปดูสักหน่อยว่าหลานชายทั้ง 2 คนของเขา เติบโตไปถึงไหนแล้ว
- ถึงจะได้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) แต่บีบีก็ยังคิดว่า เขาชอบใช้อินเทอร์เน็ตในที่ทำงานมากที่สุดอยู่ดี
คนที่ 2
‘X (เอ็กซ์)’ หญิงวัย 45 ปี อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ เมื่อสองปีก่อนเธอได้เริ่มขายของออนไลน์ และพบว่าเป็นธุรกิจที่ดี เธอจึงเริ่มออกจากงานมาทำเต็มตัว
- เอ็กซ์ทำงานที่บ้าน และในทุกวันเธอจะต้องอยู่หน้าจอแท็บเล็ตถึงเกือบ 11 ชั่วโมง เพื่อพูดคุยกับลูกค้าและทำการตลาดออนไลน์ เพราะเธอทำงานทุกวัน แต่ทุก 2-3 เดือนจะมีวันหยุดให้ตัวเองได้พักสมองบ้าง
- ในวันหยุดเธอจะพยายามไม่เปิดแท็บเล็ต และลงปิดร้านในแพลตฟอร์มที่เธอเปิดเอาไว้ เธอจะใช้แค่เพียงโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมักเป็นการโพสต์รูปที่เธอได้ไปกินอาหารและท่องเที่ยวแทน ในวันหยุดนี่แหละเป็นช่วงเวลาของการถ่ายรูปเก็บไว้เยอะ ๆ เพื่อทยอยลงรูปไปจนกว่าจะถึงวันหยุดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ทำให้เธอใช้อินเทอร์เน็ตลดลงเหลือเพียงประมาณ 10 ชั่วโมง
คนที่ 3
‘Y (วาย)’ ไม่ระบุเพศ อายุ 33 ปี ออกจากงานเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อทำงานเป็นฟรีแลนซ์ วายเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ และอยุธยาบ้านเกิด เพราะงานของเขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้
- วายใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากถึง 12 ชั่วโมงครึ่งทุกวัน ไม่ว่าจะทำงานหรือวันหยุด
- แต่ถึงจะทำงานฟรีแลนซ์ วายก็ชอบไปทำงานในร้านกาแฟ เพราะเขารู้สึกมีสมาธิมากกว่าและสามาถสั่งกาแฟกับขนมมากินได้ตลอด พร้อมกับสลับการทำงาน กับการเล่นโซเชียลมีเดีย ฟังเพลง และซื้อของออนไลน์ไปมาทั้งวัน
- วายบอกว่า ในช่วงที่มีการระบาดค่อนข้างรุนแรง เขาเลือกจะซื้อประกันออนไลน์ให้ตัวเองและพ่อแม่ เพราะไม่ต้องออกไปสัมผัสกับผู้คนโดยตรง
คนสุดท้าย ‘
Z (ซี หรือ แซด จะเรียกอะไรก็ได้ เขาว่างั้น)’ เรียนอยู่ในชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยที่ภาคใต้ เป็นนักศึกษารุ่นแรก ๆ ที่ต้องเรียนออนไลน์ทั้งเทอม
- ในวันเรียน เธอต้องเข้าไปเรียนทางออนไลน์ (และเช็กชื่อ) อย่างน้อยก็ 2 วิชา พอเรียนเสร็จก็ต้องคุยกับเพื่อน หาข้อมูลมากทำรายงาน และยิ่งตอนทำงานกลุ่ม เธอยังต้องประชุมงานทางออนไลน์กับเพื่อนต่ออีกทำให้เขาใช้อินเทอร์เน็ตถึงวันละ 12 ชั่วโมง
- ในวันหยุด หลังจากการเรียนที่เคร่งเครียด จะให้ออกจากหอพักก็เสี่ยง ซีเลยเลือกจะอยู่ในห้อง นอนดูหนังและเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนทั้งวัน จนรู้สึกตัวอีกทีก็ใช้อินเทอร์เน็ตไปเกือบ 13 ชั่วโมงแล้ว (วันหยุดช่างผ่านไปเร็วจริง ๆ)
- เมื่ออยู่หอทั้งวัน ซีจึงชอบหุ้นกับเพื่อน ๆ สั่งอาหารออนไลน์กินกันเร็ว ๆ แล้วไปเล่นเกมต่อ
จากวิธีการใช้งานอินเทอร์เน็ตของทั้ง 4 คน เป็นการสะท้อนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนที่อยู่ในวัยที่ต่างกัน มีเพศ อาชีพ และความชอบที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ในรายงานของ ETDA ได้สรุป
ผลลัพธ์ของการสำรวจให้เราเข้าใจง่าย ๆ เป็นหมวดหมู่ โดยจะขอยกมา
9 ไฮไลต์ ดังนี้
1. เมื่อเอาทั้ง 4 คนมาเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ต จะได้วันเฉลี่ยถึง 11 ชั่วโมง 25 นาที ต่อวัน (ตรงกับค่าเฉลี่ยของคนไทย)
จากที่ในปี 2562 พวกเขาทั้ง 4 คนใช้เพียง 10 ชั่วโมง 22 นาที มากขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที โดยเหตุผล 3 อันดับแรก คือ
(1) อินเทอร์เน็ตเข้าถึงง่ายและครอบคลุมมากขึ้น (ไม่ว่าอยู่ภาคไหนก็สามารถใช้งานได้
(2) มีความจำเป็นต้องใช้งาน (ทำงานและเรียน)
(3) บริการต่าง ๆ สามารถใช้อินเทอร์เน็ตแทนได้ (ทั้งการทำงาน การเรียน การธุรกรรม หรือความบันเทิง)
2. หากเรียงลำดับตามเจเนอเรชัน มีการใช้งานเฉลี่ย ดังนี้
- Baby Boomer (อายุ 56 – 74 ปี) เฉลี่ยที่ 8 ชั่วโมง 41 นาที
- Gen x (อายุ 40 -55 ปี) อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 20 นาที
- Gen Y (อายุ 20 – 39 ปี) อยู่ที่ 12 ชั่วโมง 26 นาที
- Gen Z (อายุน้อยกว่า 20 ปี) อยู่ที่ 12 ชั่วโมง 8 นาที
สาเหตุที่ Gen Y และ Z ใช้งานเยอะที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน ที่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้พวกเขาต้องเรียน ทำงาน และประชุมผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
3. สถานที่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด
จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจาก
บ้าน/ที่พักอาศัย ที่ 67.8% เลย รองลงมาจึงเป็น
สถานที่สาธารณะ (เช่น คาเฟ่/ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า) ที่ปัจจุบันมีบริการ WiFi ให้ใช้ฟรีที่ 45.4% มากกว่าการใช้งานใน
ที่ทำงาน (แค่ 30.1%) ขณะที่ร้านอินเทอร์เน็ต/ร้านเกมอยู่ที่เพียง 21.3%
4. คนไทยฮิตใช้โซเชียล
ไม่ว่าในเจนเนอเรชันไหน
ใช้ Social Media (95.3% ของผู้ตอบแบบสำรวจ) เพื่อติดตามเพื่อนหรือแลกเปลี่ยนความเห็น และยังใช้อินเทอร์เน็ตดูหนัง/ดูคลิป/ฟังเพลง (85%) เพื่อความบันเทิง มีการค้นหาข้อมูลออนไลน์ (82.2%) ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่สำคัญในยุคดิจิทัลที่ต้องทันข่าวสารและเรียนรู้ตลอดเวลา ส่วนอันดับที่ 4 คือ การติดต่อสื่อสาร (77.8%) เช่น การโทรศัพท์หรือพิมพ์ข้อความ (Chat)
5. ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด ทำให้กิจกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ...
การเรียนออนไลน์ ที่เดิมอยู่ที่ 24.4% (ปี 2562) เป็น 57.5% (ปี 2563) และการสั่งอาหารออนไลน์ที่ปี 2562 อยู่ที่ 50% เป็น 77.8% ในปี 2563 เลย ส่วนอีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือการซื้อประกันออนไลน์ที่ 16.4% สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงเวลาที่เราตั้งการ์ดสู้กับโรคระบาด
6. Social Media ที่คนไทยนิยมมากที่สุด
หนีไม่พ้น Facebook ที่หลายคนนั่งไถไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกตัวอีกทีก็ผ่านไปหลายชั่วโมง (98.2%) รองลงมาเป็น YouTube ที่สามารถใช้ดูวิดีโอที่หลายคนชอบฟังเพลง ดูรายการออนไลน์ หรือเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ (97.5%) ส่วนอันดับ 3 ก็เป็นอีกแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมจากคนไทยจนเราใช้แทนคำว่า ‘ส่งข้อความ’ อย่าง ‘Line (ไลน์)’ ที่สามารถส่งทั้งข้อความ เสียง รูป หรือวิดีโอได้ (96%) ส่วนน้องใหม่ที่เริ่มฮิตขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทำงานที่บ้าน (Work From Home) อย่าง TikTok ยังตามมาห่าง ๆ ที่ 35.8%
7. ขวัญใจขาชอปออนไลน์
เมื่อลองถาม เอ็กซ์ ผู้ขายของออนไลน์บอกว่า เธอและเพื่อน ๆ
ชอบขายของและบริการในช่องทางออนไลน์ผ่าน Facebook fan page (64.7%) รองลงมาเป็น Shopee (47.5%) และ Instagram (40.8%) เพราะสมัครใช้งานง่าย (ตรงกับผู้ตอบแบบสำรวจ)
แต่พอลองถาม วาย คนซื้อของและบริการออนไลน์บอกว่า เขาและเพื่อน ๆ
ชอบซื้อผ่าน Shopee (91%) Lazada (72.9%) Facebook (55.1%) เนื่องจากสินค้าหลากหลาย ราคาเอื้อมถึง มีโปรโมชัน และชำระเงินได้หลายช่องทาง (ตรงกับผู้ตอบแบบสำรวจ)
พอได้ยินแบบนี้ เอ็กซ์คงต้องรีบปรับแผนการทำการตลาดออนไลน์ของเธอแล้ว เพราะคนซื้อนิยมซื้อในช่องทางที่ต่างจากที่เธอขาย
8. มีปัญหา ปรึกษาใครดี
เมื่อสอบถามต่อไปอีก ก็พบว่า
คนกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด (58.4%) ไม่รู้จัก ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ดังนั้น หากผู้อ่านพบปัญหาในการซื้อขายของออนไลน์หรือได้รับความไม่เป็นธรรม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC (Online Complaint Center) โดย ETDA ซึ่งได้ผสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการดูแลผู้บริโภคอื่น ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งส่งต่อการดูแลไปยังหน่วยงานข้างต้น
ติดต่อได้ง่าย ๆ 4 ช่องทาง คือ
หากอยากอ่านข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจเพิ่มเติม หรือใครที่เริ่มคิดจะขายของออนไลน์ ทำคอนเทนต์ หรือทำการตลาดออนไลน์ และไม่อยากลงขายของผิด ๆ แบบเอ็กซ์ ยังมีข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของแต่ละเจเนอเรชัน การใช้งานอินเทอร์เน็ตของในแต่ละพื้นที่ หรือข้อมูลอื่น ๆ ใน
รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563
9. เริ่มแล้ว การสำรวจปี 64 ลุ้นรับไอโฟน
ปี 2564 นี้ ETDA เริ่มทำการสำรวจอีกครั้งกับการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำปี 2564 หรือ Thailand Internet User Behavior 2021 ที่
https://www.etda.or.th/iub ใช้เวลาตอบเพียงไม่กี่นาทีก็ได้ลุ้นรางวัลอีกมากมาย ภายในสิ้นเดือนนี้! (31 พฤษภาคม 2564)
โควิด-19 ทำให้คนไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือ ทั้งการปรับพฤติกรรมในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์