Digital Trend
- 17 ส.ค. 66
-
2187
-
“Digital Detox” ฮีลใจสไตล์ใหม่ บาลานซ์ชีวิตดิจิทัล
เราจะบาลานซ์ชีวิตอย่างไร เมื่อทุกวันเป็นวันดิจิทัล??...เชื่อว่าประเด็นคำถามนี้ เริ่มเกิดขึ้นในใจของคนทุกๆ Gen ในวันที่ “ดิจิทัล” เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกายที่งอกออกมาใหม่ และไลฟ์สไตล์ชีวิตเราก็อยู่กับดิจิทัลเกาะติดหน้าจอมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน (อ้างอิงข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2565) จนดันให้ไทยเรา กลายเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 5 อันดับของโลก ที่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ดังนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจำนวนชั่วโมงการใช้งานที่กินเวลาชีวิตหายไปเกือบครึ่งวันนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราผ่อนคลายและมีความสุขจริงๆ โดยไม่ใช่การใช้งานจนมากเกินความจำเป็น ที่อาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ เรียกว่า แทนที่จะสุขแต่กลับทุกข์มากขึ้น ตามมา
เมื่อเร็วๆ นี้ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งสนับสนุน และส่งเสริมให้คนไทยเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยากให้คนไทยมีชีวิตที่ดีถึงแม้จะใช้ดิจิทัลไปด้วย จึงเปิดเวที ETDA LIVE เสวนาออนไลน์ในหัวข้อ "Digital Detox แค่ Trend หรือ Main ที่เราต้องมี" ชวนผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA และผู้บริหารศูนย์คาดการณ์อนาคต ETDA Foresight พร้อมครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง คุณวัชรพล นนท์ภักดี หรือคุณปาร์ตี้ นักพากย์ฟีลกู้ด TIKTOKER และคุณยุวสินธุ์ ตะวงษา หรือคุณไลอ้อน Storyteller จากเพจ THE LIBRARY มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง พาทุกคนไปภาพความจริงของชีวิตดิจิทัลที่คนไทยต้องเผชิญ พร้อมทำความรู้จักกับ Digital Detox หนทางสู่การบาลานซ์ชีวิตให้สุขบนโลกยุคใหม่
“ชีวิตดิจิทัล” ง่าย สะดวก เร็ว อาจไม่สร้างสุข
ในวันที่ชีวิตเราขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการท่องโลกออนไลน์เกือบ 24 ชั่วโมงไม่เว้นแม้แต่ตอนนอน แน่นอนคงปฏิเธไม่ได้ว่า ท่ามกลางชีวิตยุคใหม่ เราสะดวก สบาย ทำธุรกรรม ทำงาน ก็เร็ว ทันใจ แค่ปลายนิ้ว แต่คุณเคยรู้สึกหรือไม่? เมื่อเรามีเครื่องมือที่ทันสมัย มีการเชื่อมต่อโลกออนไลน์อย่างไรขีดจำกัด เข้ามาช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แต่ทำไมหลายครั้งเรากลับรู้สึกว่า ไม่ค่อยมีเวลาและยุ่งมาก และรู้สึกไม่มีความสุขหรือเป็นทุกข์อยู่บ่อยครั้งจากวงเสวนาครั้งนี้ ทำให้เราได้คำตอบว่า เมื่อเราเริ่มคลี่ความยุ่งนั้น แล้วกางออกมาแล้วก็จะพบว่า การใช้เวลาอยู่กับการไถโทรศัพท์มือถือ ส่องโซเชียลมีเดีย ขโมยเวลาชีวิตไปจากเราแต่ละวันไปมากเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้น การใช้เวลาและชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลมากเกินไป ก็อาจทำให้เรามักเกิดความรู้สึกเชิงลบได้บ่อยครั้งด้วย เช่น เวลาที่เราเล่นโซเชียลมีเดีย จากที่ไม่คิดอะไร ก็รู้สึกเครียดไม่พอใจ เมื่อต้องเจอกับเนื้อหาที่ไม่ตรงกับที่เราคิดหรือไม่ชอบ เกิดความรู้สึกฟุ้นซ่าน กังวลว่าชีวิตตัวเองไม่ดีพอ ไม่ประสบความสำเร็จมากพอ เมื่อเห็นความสำเร็จของคนอยู่ในโลกออนไลน์ หรือหงุดหงิดเมื่อหาโทรศัพท์มือถือไม่เจอหรือลืมพกติดตัวมา หรือแม้แต่การรู้สึกหมดไฟจากการทำงานรูปแบบใหม่ที่เทคโนโลยีส่งผลให้เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา จนทำให้เส้นแบ่งชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานกลายเป็นเส้นเดียวกัน เป็นต้น
Digital Detox วิถีสร้างสมดุลชีวิตดิจิทัลสไตล์ใหม่
Digital Detox ไม่ใช่คำใหม่ หลายคนอาจรู้จักและได้ยินกันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังๆ ที่เราใช้ชีวิตดิจิทัลท่องโลกออนไลน์มากกว่าเวลานอนเสียด้วยซ้ำ โดย Digital Detox คือ กิจกรรมของการบำบัดอาการเสพติดเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ต การใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยวิธีการ “พัก” หรือ “เว้น” จากการใช้งานชั่วคราว แล้วหันมาทำกิจกรรมอื่นๆ แทน เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ที่ตัดขาดจากโลกออนไลน์และเครื่องมือเทคโนโลยีทุกชนิด เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เรียกว่า กำลังมาแรงในขณะนี้เลยก็ว่าได้และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนเกินความต้องการนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตใจของเราได้เช่นกัน โดยในวงเสวนาอธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ จากการศึกษาพบว่า ‘การใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกระตุ้นของการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้ผู้ใช้เกิดความเครียด’ เพราะปกติมนุษย์มีการหลั่งฮอร์โมนความสุขอยู่ประมาณ 2-3 ชนิด คือ ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่เกิดขึ้นในเวลาที่ผู้คนมีการสัมผัสกัน เช่น การกอด หรือมีการพูดคุยกันต่อหน้า ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ที่จะช่วยให้ผู้คนหลับสบายคลายเครียด ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะเกิดขึ้นขณะที่เราใช้ชีวิตบนโลกความจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ถ้าหากทุกคนใส่ใจหันมาเริ่มต้นทำ Digital Detox ได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่เพียงช่วยลดปริมาณฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดลง แต่ยังส่งผลดีต่อเราในระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย
Digital Detox แค่ Trend หรือ Main ที่เราต้องมี
จากผลการศึกษาอนาคต Digital Well-Being ของคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยศูนย์ ETDA Foresight ล่าสุดพบภาพฉากทัศน์อนาคตทั้งในภาพที่ดีและน่าเป็นห่วงหลากหลายประเด็น โดยภาพฉากทัศน์อนาคตที่น่าเป็นห่วงและอาจจะเกิดขึ้น คือ ผู้คนเกิดอาการปวดคอบ่าไหล่ รวมถึงโรคโนโมโฟเบีย (Nomophobia) หรือโรคกลัวการขาดมือถือ ขณะเดียวกันยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางสุขภาพจิต (Mental Health) เกิดความเครียด กังวลมากเกินจริง ประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง จากภาวะหมดไฟ (Burnout) และปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ที่สำคัญ โซเชียลมีเดียอาจมีผลทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายขึ้นจากการหลั่งไหลของข้อมูลต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาหาเราและเมื่อเราเปิดดูข้อมูลแบบไหนอัลกอริทึม (Algorithm) ก็จะนำเสนอเนื้อหาแบบนั้นๆ ให้เรามากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องค้นหาเลย และในอนาคต Digital Detox จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่เรารู้จักและคุ้นชิน…นี่สะท้อนให้เห็นว่า Digital Detox เครื่องมือแห่งการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับเทคโนโลยี (Tech-Life Balance) วันนี้คงไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือ กระแส ที่หนุ่มสาวคนออฟฟิตใช้พักกายใจอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ชีวิตเราจะต้องมีและคุ้นเคย เพื่อสร้างสุขอย่างสมดุลที่เหมาะสมให้กับชีวิตดิจิทัลในระยะยาว เพราะโซเชียลมีเดียก็เหมือนอาหาร แม้ในมุมนึงจะมีประโยชน์ต่อเรา แต่ถ้าทานมากไปก็เกิดโทษได้ การเว้น พัก จากการใช้งานหรือทำ Digital Detox บ้างก็เปรียบเสมือนการควบคุมอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้มีช่วงเวลาของการขับสารพิษ ถือเป็นการสร้างวินัยในการใช้ชีวิต เพื่อเคลียร์พื้นที่ของความคิด ความรู้สึก ให้พร้อมเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆ ที่ดีกว่า
เคล็ดไม่ลับ บาลานซ์ชีวิตดิจิทัล สร้างสุขอย่างมีคุณภาพ
เมื่อวันนี้เราเลี่ยงชีวิตดิจิทัลไม่ได้แบบ 100 % เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถ บาลานซ์รักษาสมดุลระหว่างชีวิตดิจิทัล กับชีวิตจริงบนโลกออฟไลน์ได้นั้น จากการพูดคุยในวงเสวนาทำเราก็ได้คำตอบว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการบาลานซ์ชีวิตดิจิทัล สร้างสุขอย่างมีคุณภาพนั้น คือ “สติในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัล” ที่เราต้องรู้ตัวตลอดเวลาว่า ณ ตอนนี้เรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร เช่น เรากำลังใช้ชีวิตดิจิทัล ท่องโลกออนไลน์ เพื่อเข้ามาทำงาน หาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้งานของเรามีประสิทธิภาพ เราก็ต้องตั้งใจให้เป็นแบบนั้น เพราะหลายครั้งที่เราเริ่มต้นท่องโลกออนไลน์ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง แต่เรากลับตกหลุมพราง ปล่อยใจ ความคิดไปกับการไถโทรศัพท์มือถือ เสพเนื้อหาบนโลกโซเชียลมีเดียโดยไร้ทิศทาง กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาทิ้งเป็นชั่วโมงแล้ว ต่อมาคือ “ใช้ชีวิตดิจิทัลและชีวิตจริง บนสัดส่วนแบบ 50:50” ไม่ใช้ชีวิตออนไลน์จนมากเกินไป หรือจะไม่ใช้เลยก็ไม่ได้ แต่ต้องใช้อย่างพอดี และสร้างโอกาสจากการใช้ชีวิตในแต่ละพาร์ทอย่างเต็มที่ ที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับชีวิตจริงมาเป็นอันดับแรก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้าง ทั้งในชีวิตจริงและในออนไลน์ ต้องคอยรักษาให้สมดุลกัน โดยต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตดิจิทัล เพื่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เราคุ้นชิน นอกจากนี้ “เวลาชีวิตเรามีค่าต้องเลือกเปิดรับสื่อที่ดี สร้างสรรค์ มากกว่าแค่ความบันเทิง” เนื่องจากบนโลกออนไลน์ มีข้อมูลต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ ดังนั้น เราต้องตระหนักเสมอว่า เวลาในแต่ละวันของเรามีค่า เราต้องเลือกเปิดรับข้อมูล เนื้อหาที่มีประโยชน์ เสริมสร้างทักษะ ความรู้ เพื่อให้เรามีแนวคิดไอเดียใหม่ มีทิศทางในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ “เราต้องมีช่วงของการเว้นพัก งด ชีวิตดิจิทัล” มีช่วงเวลาของการหยุดท่องโลกออนไลน์บ้างในแต่ละวัน เพื่อให้เราได้มีเวลาในการอยู่กับตัวเอง กับครอบครัว คนใกล้ชิด พักสมองจากเนื้อหาบนโลกออนไลน์บ้าง อย่างน้อยๆ ก็วันละ 1-2 ชั่วโมง แค่นี้ก็ทำให้เราได้รีเฟรชพร้อมเริ่มต้นใหม่ในทุกวัน อย่างมีคุณภาพและมีความสุขยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่เต็มอิ่ม อยากเปิดมุมมองแนวคิดดีๆ เพื่อสร้างสุขและบาลานซ์สร้างสมดุลให้กับชีวิตดิจิทัลมากยิ่งขึ้น สามารถชม "Digital Detox แค่ Trend หรือ Main ที่เราต้องมี" ฉบับเต็มๆ ได้ที่ เพจ ETDA Thailand