Digital Trend
- 29 ธ.ค. 63
-
11282
-
ทักษะดิจิทัลที่คนไทยต้องมี รับปี 2021
ใกล้ปีใหม่ 2564 เข้ามาแล้ว เป็นธรรมเนียมที่เราต้องมาตั้ง New Year’s Resolution ปณิธานรับปีใหม่กันช่วงต้นปีเพื่อเดินหน้าพัฒนาตัวเองกันต่อไป สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายอะไร
ETDA ได้รวบรวม ทักษะ และอาชีพที่มีความต้องการสูงในปัจจุบัน และอนาคต มาให้เป็นของขวัญปีใหม่เพื่อเอามาตั้งเป้าหมายพัฒนาตัวเองกันในปี 2564
ก่อนจะดูว่าทักษะมีอะไรบ้าง ต้องบอกก่อนเลยว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะด้านดิจิทัลของมนุษย์จึงต้องปรับตามให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ผนวกกับปีนี้ได้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 จึงยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ตลาดแรงงานไทยในระยะสั้นมีคนตกงาน และเสี่ยงที่จะตกงานหลายล้านคน ส่วนในระยะยาวจะส่งผลต่อรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ตลาดแรงงานไทยยังมีแนวโน้มที่จะเลิกจ้างแรงงานในสาขาที่มีความเสี่ยงสูงจำนวนมาก เช่น แรงงานที่ไม่มีทักษะและสามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ แรงงานจึงต้องเตรียมย้ายไปยังสาขาที่จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคดิจิทัล พร้อมกับพัฒนาทักษะ upskill reskill ให้เท่าทันต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
การมีทักษะด้านดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการอยู่รอดในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ได้ออกรายงาน IMD World Digital Competitiveness Ranking 2020 โดยได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness Ranking) จากประเทศที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 63 ประเทศ โดยดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลนี้ วัดจากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ดังนี้
1. องค์ความรู้ (Knowledge) เป็นการวัดความสามารถในการเข้าใจและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมีปัจจัยย่อย ได้แก่ ความสามารถพิเศษ, การฝึกอบรมและการศึกษา และความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์
2. เทคโนโลยี (Technology) เป็นการวัดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมีปัจจัยย่อย ได้แก่ โครงสร้างการควบคุม, เงินทุนและโครงสร้างเทคโนโลยี
3. ความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) เป็นการวัดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของคน ธุรกิจ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ ทัศนคติที่ปรับตัวได้, ความคล่องตัวทางธุรกิจ และการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ส่องผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ปี 63 โดย IMD
จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD จะเห็นว่าสิงคโปร์จัดอยู่ในอันดับ 2 จากประเทศสมาชิกทั้งหมดที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 63 ประเทศ และมีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วม
ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด และจัดอยู่ในอันดับ 3 เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 5 ประเทศ
ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาคนในประเทศให้มีทักษที่พร้อมรับกับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในเรื่ององค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยี และความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน
ไทยอันดับเลื่อนขึ้น เพราะอะไร
จากตารางผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทย จะเห็นว่าปีนี้ไทยได้อันดับรวมอยู่ที่อันดับ 39 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 1 อันดับ เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยเทคโนโลยี และปัจจัยความพร้อมในอนาคต ส่วนปัจจัยความรู้มีอันดับเท่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาด้านความพร้อมในอนาคต และด้านความรู้ เนื่องจากยังคงมีอันดับค่อนไปในทางที่ไม่ดีนักในปีนี้ และทั้งสองปัจจัยเป็นเหตุดึงรั้งให้ไทยจัดอยู่ในอันดับ 39 ในปีนี้
สำหรับปัจจัยย่อยที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมาก มีทั้งอันดับต่ำในปีนี้และมีการเลื่อนอันดับลง คือ ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา อยู่ภายใต้ปัจจัยความรู้ ที่เลื่อนอันดับลง 5 อันดับจากปีที่แล้ว ซึ่งมีอันดับต่ำสุดในบรรดาปัจจัยย่อยทั้งหมดในปีนี้ ตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา คือ ตัวชี้วัดรายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษา และตัวชี้วัดความสำเร็จของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ตกลงมา 7 อันดับทั้งคู่จากปีที่แล้ว
ส่วนปัจจัยความพร้อมในอนาคต ถึงแม้ปัจจัยเทคโนโลยีมีอันดับเลื่อนขึ้นและจัดอยู่ในอันดับ 22 ในปีนี้ แต่มีตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาอย่างมาก คือ ตัวชี้วัดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังคงรักษาอันดับ 54 ไว้เหมือนปีที่แล้ว
ทักษะด้านดิจิทัลของไทย เทียบกับต่างประเทศ
จาก
The Future of Jobs Report 2020 จัดทำโดย
World Economic Forum พบว่า สิงคโปร์มีทักษะทางดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 2 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด และยังอยู่ในอันดับ 1 หากเทียบกับประเทศสมาชิกในอาเซียนที่เข้าร่วม สอดคล้องกับผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วน
ประเทศไทยมีทักษะทางดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 18 เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิ้น 4 ประเทศ ไทยจะจัดอยู่ในอันดับท้ายสุด
สิ่งที่น่าสนใจ คือ สิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน แต่มีความสามารถทางดิจิทัลอยู่ในอับดับที่สูงมาก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยได้เริ่มโครงการ Skills Future Credit เพื่อพัฒนาทักษะคนวัยทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 โดยชาวสิงคโปร์ทุกคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจะได้รับเครดิตคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อเอาไปใช้กับหลักสูตรของรัฐบาลที่ได้รับอนุมัติทำให้คนทำงานเรียนรู้พัฒนาตัวเองต่อเนื่องได้ แม้ว่าจะเรียนจบมาแล้วก็ตาม โดยเครดิตนี้จะไม่หมดอายุและรัฐบาลสิงคโปร์จะเติมเงินเป็นระยะให้ แต่แลกเป็นเงินไม่ได้ โอนให้คนอื่นไม่ได้ จึงเป็นการเตรียมพร้อมให้ประชากรในประเทศได้เรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลที่สำคัญ ที่สามารถใช้จริงได้ในอนาคต
ปัจจุบันสิงคโปร์ไม่ได้เจาะกลุ่มพัฒนาทักษะให้กับคนวัยทำงานเท่านั้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เน้นย้ำความสำคัญถึงชาวสิงคโปร์ทุก ๆ คน งานทุกงาน ในทุกช่วงชีวิตว่ามีความสำคัญ หรือพูดง่าย ๆ พัฒนาคนแบบยกแผง ผ่านโครงการใหญ่หนึ่งที่ชื่อ SkillsFuture แม้แต่นักเรียน คนธรรมดาทั่วไปไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรอยู่ หรือมีการศึกษาเดิมมามากน้อยเพียงใด ก็สามารถมีอนาคตที่ดีขึ้นได้ด้วยทักษะความชำนาญและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดังคำกล่าวที่ว่า Your skills. Your asset. Your future.
ตัวอย่างชุดทักษะแห่งอนาคต (SkillsFuture Series) ที่สิงคโปร์จัดเป็นหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเน้นไปที่ 8 หมวดหมู่ชุดทักษะแห่งอนาคต คือ การวิเคราะห์ข้อมูล(Data Analytics), การเงิน (Finance), บริการที่เปิดใช้งานเทคโนโลยี (Tech-Enabled Services), สื่อดิจิทัล (Digital Media ), ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity ), ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship), การผลิตขั้นสูง (Advanced Manufacturing) และการแก้ปัญหาในเมือง (Urban Solutions) โดยการเรียนรู้ทักษะแต่ละหมวดนั้นยังแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรระดับกลาง และหลักสูตรขั้นสูง ผู้ที่สนใจสามารถใช้เครดิตที่ตนเองมีจาก SkillsFuture Credit มาเรียนได้
Top 5 ทักษะสำคัญ ที่เป็นที่ต้องการในไทย
The Future of Jobs Report 2020 ชี้ให้เห็นว่า ทักษะการทำงานบางอย่าง ทั้งทักษะด้านความรู้ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ (Soft skills) ที่ตลาดงานต้องการในปัจจุบัน และยังคงมีความสำคัญในอนาคต เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เผชิญ ความอดทนต่อความเครียด การใช้เทคโนโลยี และการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม เป็นต้น
รายงานระบุว่า ในปี 2025 หรือปี 2568 จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้กว่า 50% ของลูกจ้างจำเป็นต้อง Reskill ใหม่ และคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า ลูกจ้างกว่า 40% ต้อง reskill ใหม่ หมายถึง การที่เรามี Skill เดิม แต่มีการเรียนรู้ปรับตัวเพื่อหยิบ Technology ใหม่ ๆ มาใช้ และด้วยผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้นส่งผลให้ลูกจ้างต้อง Reskills ใหม่ภายใน 5 ปีข้างหน้า งานกว่า 85 ล้านงานจะมีการแทนที่ด้วยเครื่องจักรกล
นอกจากนี้ยังระบุว่า นายจ้างกว่า 90% มีความคาดหวังว่าทักษะใหม่ ๆ ที่จะได้จากการเรียนรู้หน้างาน ระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของทักษะ ประเภทของงานหรือวิชาชีพ ฯลฯ ทักษะที่เกี่ยวกับคนและวัฒนธรรม การเขียน การขาย และการตลาด อาจใช้ระยะเวลาเรียนเพียง 1 – 2 เดือน ในขณะที่ทักษะด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ AI อาจใช้เวลา 2 – 3 เดือน ส่วนทักษะด้าน Cloud Computing และวิศวกรรมอาจใช้ระยะเวลานานกว่าทุกทักษะคือประมาณ 4 – 5 เดือน
หากดูในประเทศไทย ทักษะสำคัญที่จะเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน ได้แก่
• ทักษะคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม (Analytical Thinking and Innovation) เป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์ ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างถาม จับประเด็น แยกแยะและเชื่อมโยง นำไปสู่การคิดสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้
• การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem-Solving) เป็นคนที่มีทักษะในการจัดการกับปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และหาแนวทางการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา
• การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning and Learning Strategies) การเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง ฝึกคิดวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กลุ่มพร้อมร่วมกันแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม
• ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking and Analysis) เป็นคนที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การคิดวิเคราะห์ตามหลักเหตุผล และประเมินความถูกต้อง มีความสมเหตุสมผล โดยใช้วิจารณญาณของความเป็นมนุษย์
• ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity, Originality and Initiative) เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดต่างไม่ซ้ำใคร (คิดนอกกรอบ) มีความคิดริเริ่มและกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่
ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็จะมีความต้องการแรงงาน และทักษะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้น ๆ
จะเห็นได้ว่าในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้
TOP 5 อาชีพดาวรุ่ง-ดาวร่วงในไทย
นอกจากเรื่องทักษะสำคัญที่ต้องมี The Future of Jobs Report 2020 ยังได้จัดอันดับอาชีพที่จะมีความต้องการสูงและอาชีพที่มีแววลดลงในอนาคตด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความต้องการในการจ้างงานในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เนื่องจากเราอยู่ในยุคดิจิทัล และเป็นยุคที่มีการเกิดขึ้นของข้อมูลมหาศาล เราสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ออนไลน์ได้แล้ว จึงเป็นยุคที่ “ข้อมูล” เปรียบเสมือนสินทรัพย์ที่สำคัญ องค์กรต่าง ๆ จึงต้องการคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี มาช่วยในการทำให้ข้อมูลที่มีอยู่มากมายนี้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทักษะของแรงงานก็ต้องมีการปรับให้สอดรับกับยุคดิจิทัล บางงานที่เป็นงานที่ทำซ้ำ ๆ อาจสามารถทำให้เป็นอัตโนมัติด้วยการนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทน คนที่ทำงานอาชีพลักษณะนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะตกงาน นอกจากนี้เรื่องของการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากคนมีการใช้งานออนไลน์มากขึ้นจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว องค์กรที่อยากสื่อสารกับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องการคนที่มีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์เข้ามาช่วยด้วย ดังนั้นเราควรติดตามแนวโน้วความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการนั้น
ทั้งนี้ ETDA เห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ต้องการส่งเสริมให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สามารถ Go Digital จึงเร่งผลักดัน ให้ทุกภาคส่วนสามารถทำธุรกรรมที่น่าเชื่อถือ ผ่านทางออนไลน์ ได้อย่างมั่นใจและมั่นคงปลอดภัย
หากประชาชนมีทักษะด้านดิจิทัลพร้อม เทคโนโลยีพร้อม ภาครัฐ และภาคเอกชนจะมีบุคคลากรที่มีสามารถนำทักษะความรู้มาใช้กับเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะสามารถขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศต่อไป
ที่มา
ทักษะดิจิทัลที่คนไทยต้องมี