Digital Service
- 25 เม.ย. 66
-
6415
-
Data Sharing คืออะไร ? และใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำ Data Sharing
ในโลกยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน การจะขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ได้อย่างสมบูรณ์นั้น หลายภาคส่วนยังมีความต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอยู่มาก เริ่มตั้งแต่ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าและบริการที่พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) ภาคธุรกิจเองก็ต้องการข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ครอบคลุมทั้งธุรกิจรูปแบบเดิมที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) และธุรกิจ Start up ที่สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่จากการใช้ประโยชน์จากข้อมูล
ภาครัฐเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูลมาช่วยขับเคลื่อนประเทศ โดยมีการส่งเสริมผ่านการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) และการส่งเสริมให้เกิดการรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำมาป้อนให้ AI เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้ ทั้งหมดนี้เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวเข้าสู่การเป็น Data-Driven Country ผ่านการนำข้อมูลมาช่วยขับเคลื่อนการตัดสินใจ (Decision Making) รวมไปถึงช่วยยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศก้าวสู่การเป็น Data-Driven Country ได้อย่างสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลข้ามองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือข้ามอุตสาหกรรม ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานและธรรมาภิบาลด้านการใช้ข้อมูลมีความเหมาะสมและปลอดภัย
สำหรับบริบทของประเทศไทย แนวคิดเรื่องการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ก่อนอื่นจึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับความหมายของ Data Sharing กันก่อน
Data Sharing คือ กระบวนการแบ่งปันข้อมูลจากผู้ถือข้อมูลต้นทาง ไปยังผู้รับข้อมูลปลายทางที่มีความต้องการนำข้อมูล
นั้นไปใช้ประโยชน์ โดยกระบวนการแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวควรมีความปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล การแบ่งปันข้อมูลนั้นก็ควรสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำ Data Sharing คือต้องทำให้เกิดกระบวนการแบ่งปันข้อมูลที่มีความสะดวก (Convenience) ปลอดภัย (Secure) และเคารพสิทธิส่วนบุคคล (Privacy)
ในส่วนของการทำ Data Sharing จะประกอบด้วยผู้เล่นที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ถือข้อมูลต้นทาง (Data Holder), ผู้รับข้อมูลปลายทาง (Data Recipient), เจ้าของข้อมูล (Data Owner), ผู้ให้บริการข้อมูลกลาง (Data Broker) และหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) โดยบทบาทหน้าที่ของแต่ละผู้เล่น ได้แก่
- ผู้ถือข้อมูลต้นทาง (Data Holder) : หน่วยงานหรือองค์กรที่มีข้อมูลของเจ้าของข้อมูล และจะส่งต่อข้อมูลนี้ไปให้ผู้รับข้อมูลปลายทางเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล
- ผู้รับข้อมูลปลายทาง (Data Recipient) : หน่วยงานหรือองค์กรที่รับข้อมูลจากผู้ถือข้อมูลต้นทาง โดยผู้รับข้อมูลปลายทางจะได้รับข้อมูลเท่าที่เจ้าของข้อมูลยินยอม และสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่เคยแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ
- เจ้าของข้อมูล (Data Owner) : เจ้าของข้อมูลจะเป็นผู้ให้ความยินยอมก่อนที่จะเกิดการส่งต่อข้อมูลระหว่างผู้ถือข้อมูลต้นทางและผู้รับข้อมูลปลายทาง ซึ่งเจ้าของข้อมูลจะอยู่ในฐานะผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค ในกรณีการทำ Data Sharing ที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล
- ผู้ให้บริการข้อมูลกลาง (Data Broker) : หน่วยงานหรือองค์กรที่รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ นำมาประมวลผล ปรับรูปแบบข้อมูลให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน วิเคราะห์ข้อมูล และเป็นผู้ให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลแก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น
- หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) : หน่วยงานกำกับดูแลจะมีหน้าที่กำกับดูแลและให้การรับรองตามกรอบกฎหมายและมาตรฐานที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละผู้เล่นมากขึ้น เลยจะขอยกตัวอย่างกรณีการเปิดบัญชีออนไลน์ข้ามธนาคาร สมมติให้ นาย ก มีข้อมูลอยู่กับธนาคาร A แต่ต้องการเปิดบัญชีใหม่กับธนาคาร B โดยไม่ต้องการเดินทางไปสาขาเพื่อกรอกข้อมูลใหม่ทั้งหมด นาย ก สามารถให้ความยินยอมให้ธนาคาร A แบ่งปันข้อมูลส่วนตัวของตน จากนั้นข้อมูลของนาย ก ที่อยู่กับธนาคาร A ก็จะถูกส่งต่อไปให้แก่ธนาคาร B และนาย ก ก็สามารถเข้าใช้บริการของธนาคาร B ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยจากตัวอย่างนี้ Data Holder, Data Recipient และ Data Owner ก็คือ ธนาคาร A, ธนาคาร B และ นาย ก ตามลำดับ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวไปจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการแบ่งปันข้อมูลที่เกิดขึ้นมีความปลอดภัย และสอดรับตามกรอบของมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มากไปกว่านั้นหากกระบวนการแบ่งปันข้อมูลนั้น จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลชนิดอื่นที่ผู้ถือข้อมูลต้นทาง (Data Holder) ไม่มี ก็จะมีผู้ให้บริการข้อมูลกลาง (Data Broker) เข้ามาเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งหากศึกษาแนวทางการทำ Data Sharing ในระดับลงลึกมากขึ้น แนวทางการเชื่อมต่อระหว่างผู้เล่นในกระบวนการทำ Data Sharing ยังมีได้อีกหลากหลายรูปแบบ โดยเปลี่ยนไปตามลักษณะของการจัดเก็บข้อมูล แนวทางการใช้ข้อมูลของแต่ละประเภทธุรกิจ รวมถึงรูปแบบของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กลางที่อำนวยความสะดวกในการให้บริการ
ในต่างประเทศได้นำกระบวนการ Data Sharing ไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มักเป็นการนำไปใช้เพื่อการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค (Customer Centric) ผ่านการนำเทคโนโลยีด้านการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถแชร์ข้อมูลของตนไปยังผู้ให้บริการได้ง่ายและปลอดภัย โดยไม่ต้อง
เสียเวลาในการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน พร้อมทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคได้สินค้าหรือบริการที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนอง
ความต้องการของผู้บริโภครายนั้นโดยตรง ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจอย่างเช่น โครงการ European Health Data Space ของสหภาพยุโรป ได้เริ่มนำร่องเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยข้ามประเทศ และโครงการ Consumer Data Right ของออสเตรเลีย ที่ได้นำการแบ่งปันข้อมูลมาช่วยสร้างความสะดวกในการเปิดบัญชีใหม่ข้ามธนาคาร และพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละบุคคล
ทุกคนคงเห็นภาพเดียวกันแล้วว่า Data Sharing คืออะไร และมีภาพรวมในการทำงานอย่างไรบ้าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และดูแลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ก็เล็งเห็นถึงประโยชน์ และพร้อมที่จะมามีส่วนช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนให้การทำ Data Sharing เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย อย่างสะดวก ปลอดภัย และเคารพสิทธิส่วนบุคคล ภายใต้การสร้างสมดุลระหว่างการใช้นโยบายกำกับดูแลและการส่งเสริมให้เกิดการนำข้อมูลไปช่วยในการขยายผลทางธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยนั้นสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป