Digital Service
- 21 ก.พ. 65
-
2061
-
ETDA แนะ 7 นวัตกรรม e-Office ตัวช่วยธุรกิจ SMEs ให้พร้อมสู่ยุคดิจิทัล
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs ผู้ประกอบการหลายราย ต้องตกอยู่ในสภาวะวิกฤตในการหาช่องทางรอด อย่างการ เร่ง ‘ปรับ’ และ ‘เปลี่ยน’ รูปแบบการทำงานให้เป็นดิจิทัลแต่การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อ SMEs ตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก เงินทุนมีจำกัดหรืออาจจะยังไม่แน่ใจเรื่องความพร้อม ทั้งในเรื่องของศักยภาพคนรวมถึงเครื่องมือเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการทำงาน ส่งผลให้ SMEs รวมถึงผู้ประกอบการหลายราย ต่างต้องหาทางรอดด้วยการปรับรูปแบบธุรกิจ บางธุรกิจก็ไปจนสุดทางกับการปิดกิจการก็มีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการปรับตัวของ SMEs ไทยในปัจจุบันและการมีอยู่หรือการหายไปของผู้ประกอบการไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วย ดังนั้น เพื่อให้ SMEs หรือผู้ประกอบการที่กำลังหาทางหรือช่องทางสนับสนุนธุรกิจตัวเอง ได้มีโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจให้อยู่รอดมากขึ้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งยกระดับให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปต่อได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
จึงได้ร่วมกับภาครัฐและพาร์ทเนอร์บริษัทเทคโนโลยีร่วมกันขับเคลื่อนงานด้าน e-Office ที่ขยายวงกว้างไปยังกลุ่ม SMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้หน่วยงานที่สนใจพร้อมกับการทำงานในยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม e-Office ที่จะเข้ามาปลดล็อกและแก้ปัญหาการทำงาน และการทำธุรกิจให้ดีกว่าที่เคยเป็น ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ เช่น Hackathon: Finding the Best Enabler ที่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการ Service Provider ได้มาร่วมโชว์เคส ประลองไอเดีย นวัตกรรม ที่จะเข้ามายกระดับการทำงานให้ดีกว่าที่เคยเป็น ซึ่งหลังจากกิจกรรมจบลงช่วงปลายปี 2564 ETDA ก็ไม่รอช้า ได้เชิญผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายเจ้าของ 10 นวัตกรรม มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ถึงที่มาและแนวคิดของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานจากรูปแบบเดิมๆ สู่การทำงานแบบ e-Office กันแบบเจาะลึก ในเวที ETDA Live : The Best Enabler Insight 2 ตอน และเพื่อให้ SMEs ผู้ประกอบการที่พลาดได้รู้จัก นวัตกรรม e-Office มากยิ่งขึ้น วันนี้เราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 7 นวัตกรรม e-Office อีกตัวช่วยธุรกิจ SMEs ให้พร้อมสู่ยุคดิจิทัล
Digital Workplace ลดทุกข้อจำกัด เชื่อมทุกการทำงานและธุรกิจ ทำงานง่ายแม้อยู่คนละที่
การปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น การย้ายสถานที่ขายสินค้าและบริการมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ การเรียนรู้ระบบการทำงานออนไลน์ การประชุมออนไลน์ e-Meeting กับทีมงานและคู่ค้า ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นควบคู่กัน โดยเฉพาะปัญหาด้านการจัดการบุคลากร เมื่อทีมงานต้องทำงานคนละที่ ทำงานจากที่บ้าน ทีมงานมีหลายทีมทำให้เชื่อมต่อกันลำบาก และติดตามประเมินผลงานยาก จึงเกิดนวัตกรรม MANAWORK (มานะเวิร์ค) โดย LFFINTECH (แอลเอฟฟินเทค) ระบบบริหารจัดการทีมงานออนไลน์ ที่เปรียบเสมือนทีม Management เข้ามาช่วยให้เจ้าของธุรกิจ SMEs และทีมงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้อุปสรรค เหมือนอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่บ้าน ด้วยเทคโนโลยี AI ที่สามารถติดตามการทำงานของแต่ละฝ่ายได้แบบเรียลไทม์ที่สำคัญทำให้วัดผลการทำงานมีความชัดเจนมากขึ้นเทียบเท่าการทำงานที่ออฟฟิศ พร้อมช่วยจัดลำดับความสำคัญของงาน กำหนดแผนวันเวลาส่งมอบงาน แนบไฟล์งานได้ทุกประเภท และสามารถดูภาพรวมงานทั้งหมดได้อย่างสะดวกในแพลตฟอร์มเดียว
แก้ปัญหาขาดแรงงาน เลือกคนทำงานตรงใจนายจ้าง ประหยัดต้นทุน
ปัญหาขาดแรงงาน ขาดคนทำงานที่มีฝีมือและความชำนาญเฉพาะด้าน ไม่ตรงตามที่นายจ้าง ผู้ประกอบการต้องการ เกิดการย้าย ลาออก อยู่ตลอดเวลา ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ ผู้ประกอบการ ในฐานะนายจ้างหลายคนพบบ่อยครั้ง จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานต้องสะดุด ธุรกิจดำเนินไปต่อไม่ราบรื่น และยิ่งปัจจุบันที่ Digital Transformation ได้กลายมาเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดในยุคนี้ด้วยแล้ว ทำให้หลายธุรกิจต่างพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานและการทำธุรกิจ แต่ปัญหาที่พบคือ การหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสายเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานกับเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้กลับเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในการจ้างงานแบบระยะสั้น เพื่อขับเคลื่อนโปรเจคเร่งด่วน กระทันหัน ที่ใช้เวลาไม่นานนัก อีกทั้ง ค่าจ้างสำหรับกลุ่มเฉพาะทางก็ยังมีราคาสูงอีกด้วย
ดังนั้นนวัตกรรม TALANCE (ทาเลนต์) จึงเป็นอีกตัวเลือกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เพราะ Talance เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวม Freelance Developer ระดับมืออาชีพจากทั่วประเทศ ที่ครอบคลุมการให้บริการ อาทิ Web Application / Mobile Application /Cross-Platform Developer และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ (AI, Blockchain Big data, Low-code/no-code Solution) เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ SMEs ที่ต้องการ Freelance Developer แบบเร่งด่วน และบริษัทที่มีความยากลำบากในการหาพนักงานประจำ โดย Talance จะรับโจทย์และวิเคราะห์ลักษณะงานจาก SMEs ตามความต้องการ เพื่อหาผู้รับจ้างหรือคนทำงานที่ตรงโจทย์ จากนั้นก็เปิดให้ SMEs ได้สัมภาษณ์กับผู้รับจ้างก่อนมีการว่าจ้างอย่างเป็นทางการ ซึ่งนวัตกรรมนี้ก็ช่วยให้ธุรกิจ SMEs ได้คนงานตามที่คาดหวังและประหยัดต้นทุนมากกว่าการจ้างงานในระยะยาว
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เราจะต้องทำความรู้จักเลย คือ Myworkforce (มายเวิร์คฟอร์ซ) ระบบบริหารงานและทีมงาน ที่จะช่วยให้การสั่งงาน ตรวจสอบงาน บันทึกรายละเอียดงานได้ง่ายขึ้น เพราะระบบนี้ครอบคลุมตั้งแต่ การบริหารจัดการงานหน้าบ้าน คำสั่งซื้อของลูกค้า จนถึงงานหลังบ้านการทำงานของทีมงาน ทั้งการสั่งงาน กระจายงาน แก้ไข และตรวจสอบงานได้ทุกที่ทุกเวลา ก่อนปิดงาน ด้วยระบบคำสั่งจากหัวหน้า ที่ทำให้ทีมเห็นงานที่ต้องทำทั้งหมดได้สะดวก ในคลิกเดียว
ยกระดับธุรกิจ นำเข้า-ส่งออกไทย ให้โกออนไลน์ ไปไกลกว่าที่เคย
จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2563 เราจะเห็นว่า แม้ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึงร้อยละ 60-70 ของ GDP ประเทศ แต่กลับมีบริษัทคนไทยส่งออกในสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับบริษัทต่างประเทศที่ส่งออกมากกว่า และขณะที่โลกของเราก้าวสู่ยุคดิจิทัลแล้ว แต่การนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศบางส่วนของไทยเรายังเป็นระบบอนาล็อก ทำงานแบบ Manual ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลซึ่งกระทบต่อโอกาสทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก
จะทำอย่างไรให้ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกไทย มีประสิทธิภาพเทียบเท่าบริษัทต่างประเทศ จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ เกิดนวัตกรรม ZUPPORTS (ซัพพอร์ทส์) โดยสตาร์ทอัพไทย ที่จะให้บริการ Software as a Service (SaaS) เพื่อบริหารงานขนส่งระหว่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ (online freight management services) มีระบบช่วยเปรียบเทียบราคาขนส่งออนไลน์ที่โปร่งใส ระบบติดตามสถานะสินค้า เอกสารและการวางบิลออนไลน์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล อีกทั้งยังเสริมทีมผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีนำเข้า ดูแลลดความเสี่ยงเรื่องพิกัดภาษีนำเข้า ที่สามารถลดขั้นตอนการทำงาน และสามารถลดต้นทุนขนส่งได้อีกด้วย
ยกระดับธุรกิจ นำเข้า-ส่งออกไทย ให้โกออนไลน์ ไปไกลกว่าที่เคย
ในโลกยุคโซเชียลมีเดีย การบอกเล่าแบบปากต่อปาก หรือ word of mouth สำคัญทีเดียวไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระดับใด แต่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคพึงพอใจต่อสินค้าและบริการจนต้องบอกต่อนั้น กุญแจที่จะไขสู่ความสำเร็จได้ก็คือ “ธุรกิจต้องรู้จักลูกค้าของตนเองและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็ว” ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้า เพื่อให้เราทำความรู้จักกับเขาได้อย่างถ่องแท้ ทำการตลาด สื่อสารได้อย่างแม่นยำโดนใจจึงสำคัญ โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาช่วยในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อย่าง MAA (มา) แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลการขายอัตโนมัติ ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้ SMEs ไทยสามารถใช้ Data ขับเคลื่อนธุรกิจและการขายได้ดี เหมือนมีทีม Data Scientist ช่วยอยู่ทั้งทีมเพราะแพลตฟอร์มนี้จะช่วยในเรื่องของการเก็บข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ SMEs สามารถทำงานทำต่อได้ พร้อมแสดงผลวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้ทันที ทำให้ SMEs รู้จักกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำเพื่อประสิทธิภาพในการทำการตลาดที่ยอดเยี่ยม
อีกนวัตกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ChocoCRM (ช็อคโก้ ซีอาร์เอ็ม) ระบบ MarTech รูปแบบใหม่สำหรับทีมการตลาด ที่ทำให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจมุมมองของธุรกิจและลูกค้าได้แบบ 360 องศา และช่วยวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกพฤติกรรมของลูกค้า แบ่งกลุ่มลูกค้า พร้อม กำหนด Journey ของการเข้าถึงสิ้นค้าและบริการ เพื่อนำไปสู่การจัดแคมเปญโฆษณาได้อย่างตรงจุด
เช่นเดียวกับ NEXTBEST (เน็กซ์ เบสท์) เครื่องมือทางเลือกใหม่ในการทำการตลาดที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับ SMEs ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ที่ทำให้ผู้ประกอบการได้มองเห็นความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าได้ชัดเจนมากขึ้น ผ่านนวัตกรรม NEXTBEST ที่มีการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยี AI และ Customer Genome ที่จะช่วย SMES ลดต้นทุน สร้างยอดขายบนออนไลน์ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจ SMEs เข้าใจลูกค้ามากขึ้น สร้างกลยุทธ์ สร้างรายได้ กำไร ปิดการขายได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องสูญเงินไปกับการทำโฆษณา หรือการยิงโฆษณา (ads) แบบไร้ทิศทางอีกต่อไป
นอกจากปัญหาขาดเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการทำงานแล้ว ยังพบว่า มีธุรกิจ SMEs จำนวนไม่น้อยที่อยากปรับเปลี่ยนการทำงาน ยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ และยังไม่รู้ว่าจะเลือกใช้นวัตกรรมแบบไหน ประเภทไหนเข้ามาช่วยทรานส์ฟอร์ม เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการทำงานและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ไม่สะดุดไปต่อได้ด้วยเครื่องมือดิจิทัลทางเลือกใหม่ ที่ทันสมัย ETDA จึงจัดทำ “Service Providers Profile” เพื่อเป็น e-Catalog ที่รวบรวม 15 นวัตกรรมหรือโซลูชัน e-Office จากเวที Hackathon มาอยู่ในที่เดียวกันในรูปแบบที่เข้าใจง่าย โดยเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่นี่ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามกิจกรรม นวัตกรรมดิจิทัลดีๆ จาก ETDA ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand
แหล่งอ้างอิงข้อมูล สำหรับเขียนบทความ
- กิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler
- คู่มือ e-Service Providers Profile จัดทำโดย ETDA
- ปัญหาของ SME ไทย (1)
- ปัญหาของ SME ไทย (2)
- ปัญหาธุรกิจ SME และอุปสรรคที่ผู้กอบการจะต้องเจอมีอะไรบ้าง พร้อมวิธีแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ
- 5 ways for SMEs to take on 2022
- เปิดไส้ในส่งออก 70% จีดีพีไทย 50 อันดับแรกเป็นบริษัทต่างชาติ (ข้อมูลการส่งออกไทยร้อยละ 60-70)