Digital Service
- 19 พ.ค. 59
-
2410
-
การควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งได้ให้อำนาจคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในมาตรา 37 (2) กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจ ติดตามดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับหมวด 3 ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในมาตรา 32 มาตรา 33 และ มาตรา 34 ได้บัญญัติ ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 3 รูปแบบ คือ ต้องแจ้งให้ทราบ ต้องขึ้นทะเบียน ต้องได้รับใบอนุญาต (แล้วแต่กรณี) โดยการกำกับ ดูแล ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงเพื่อรักษา ความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับ ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน
โดยที่การกำกับดูแลเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจบริการ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐ และความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งแนวทางในการกำกับดูแลจะเน้นการพิจารณาในระดับนโยบายที่เกี่ยวกับความจำเป็น ในการควบคุมหรือกำกับดูแลธุรกิจบริการต่างๆ หรือการให้บริการของรัฐที่อาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ
คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ควบคุมดูแลผู้ให้บริการการชำระเงิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้กำกับดูแล ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ครอบคลุมผู้ให้บริการทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
ผู้เขียน: กลุ่มงานกำกับดูแลฯ
ผู้เรียบเรียง: กลุ่มงานติดตามฯ