TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

เจาะแนวคิด 4 มุมมอง ขับเคลื่อนธุรกรรมออนไลน์ไทย ให้ไปไกลกว่าที่คิด

Digital Trend Documents
  • 28 พ.ย. 64
  • 1858

เจาะแนวคิด 4 มุมมอง ขับเคลื่อนธุรกรรมออนไลน์ไทย ให้ไปไกลกว่าที่คิด

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างเป็นวงกว้าง ดังจะเห็นได้จากการที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น Meta พร้อมการประกาศวิสัยทัศน์เข้าสู่ยุค Metaverse อย่างเต็มตัว ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกให้เกิดการขยับตัว ตอบรับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้

ขณะเดียวกัน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า)​ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยวิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก” ก็ไม่พลาดในการเตรียมความพร้อมสังคมไทยให้เท่าทันยุคสมัย ภายใต้งาน “ETDA สู่ปีที่ 11 ก้าวสำคัญ ยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งได้อัปเดตผลการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในรอบปี 2564 และก้าวต่อไปขององค์กรที่พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการจัดเสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกรรมออนไลน์ไทย ให้ไปไกลกว่าที่คิด” โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกำกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือบอร์ด ETDA มาแชร์มุมมองเรื่อง Digital Transformation ของประเทศไทยใน 4 มิติ ทั้งด้านสังคม ธุรกิจ รัฐ และ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้

20211117_Board_talk4.jpg

ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย Foresight

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ในฐานะบอร์ด ETDA ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และสังคม กล่าวว่า ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนเราไปอย่างสิ้นเชิง โดยจากสถิติผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยจาก ETDA พบว่า คนไทยใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ไม่เพียงแต่เจเนอเรชันผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน แต่รวมไปถึงเจเนอเรชันเด็กที่ต้องใช้เวลากับออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของการทำงาน การเรียน และความบันเทิง รวมถึงการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย ของ ETDA ที่พบว่า ในปี 63 ที่ผ่านมามีมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาทแม้ลดลงจากปีก่อนหน้า เพราะหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบต้องหยุดชะงักจากโควิด-19 แต่บางอุตสาหกรรมก็เติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน และส่งผลต่อมูลค่ารวมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การเพิ่มขึ้นในกลุ่มของประกันภัย รวมไปถึงแพลตฟอร์ม e-Tailer (กลุ่มผู้ค้าปลีกทางออนไลน์) ในขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีมูลค่ารวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งนี้ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมของคนในสังคม และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในภาคธุรกิจในการ transform กระบวนการดำเนินงานมากขึ้น สามารถเห็นได้จากรูปแบบการทำงานของคนทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าชีวิตของเราจะอยู่บนโลกออนไลน์ และใช้ชีวิตอยู่บนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน ปัจจุบัน ETDA ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ โดยได้นำเรื่องของ Foresight หรือ อนาคตศาสตร์ เข้ามาบูรณาการกับพันธกิจหลักของ ETDA เพื่อที่จะมองหาปัจจัยและสัญญาณอะไรที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงเทรนด์ของเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น เทรนด์ในการเข้าสู่ Metaverse ที่เป็นการใช้ชีวิตในโลกเสมือนนั้น เราจะต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของเราทางดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Digital Identity (Digital ID) ซึ่งเป็นทิศทางที่ ETDA ได้เล็งเห็นและกำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ เพื่อตอบสนองกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

“Digital ID จะเป็นต้นทางที่จะพาเราไปสู่ Digital Economy ถ้าเราไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าตัวตนของเราคือใครในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ก็จะเป็นปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส ความมั่นคงปลอดภัย และอื่น ๆ อีกมากมาย”

20211117_Board_talk3.jpg

3 กับดักของ Digital Transformation ในภาคธุรกิจ

ธีรนันท์ ศรีหงส์ บอร์ด ETDA ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมเสนอมุมมองของภาคธุรกิจว่า เรื่อง Digital Transformation นั้นนับเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในสังคมไทย เพราะจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะผู้บริโภคไม่ได้ ภาคธุรกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเพื่อก้าวให้ทัน ทั้งระหว่างภาคธุรกิจกับธุรกิจเอง หรือ ภาคธุรกิจกับภาครัฐ ที่ต้องมีการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน

ทั้งนี้ในปัจจุบันปัญหาและอุปสรรคของ Digital Transformation สำหรับภาคธุรกิจนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย
  • ประการแรก คือ ประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างยากลำบาก
  • ประการที่สอง คือระบบนิเวศดิจิทัล หรือ  Digital Ecosystem ของประเทศยังขาดความพร้อมในหลายภาคส่วน ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้ต้นทุนสูง เนื่องจากยังขาดมาตรฐานและการเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ
  • ประการที่สาม สังคมดิจิทัลในประเทศไทย ยังขาดคนที่มีความรู้ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ จนถึงระดับการบริหารจัดการ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
เพราะฉะนั้นแล้ว ETDA ในฐานะองค์กร ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ทุกภาคส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเร่งวางมาตรฐานให้เกิดมาตรฐานกลาง รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิด Ecosystem ที่เหมาะสมต่อ Digital Transformation ได้จริง และมี Action plan ที่ชัดเจน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน

“ETDA เป็นหน่วยงานภาครัฐ มีบทบาทในการพัฒนา Digital Capability ของตนเอง เพื่อให้กระบวนการภายในคล่องตัวมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงระบบของภาครัฐเองเข้ากับภาคเอกชนได้ดีขึ้น”

20211117_Board_talk2.jpg

รัฐต้องเร่งสร้างมาตรฐานให้เกิดความเชื่อมั่น

ด้าน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ด ETDA โดยตำแหน่ง ให้ความเห็นว่า ภาครัฐในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล กำหนดกฏเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ Digital Transformation เนื่องจากความต้องการของประชาชนที่สอดรับกับเทรนด์ในสังคมโลก รวมถึงการปรับตัวของภาคเอกชน เพื่อที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว ภาครัฐเองต้องทำหน้าที่ทำความเข้าใจบริบท และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และนำมากำหนดเป็นมาตรฐาน กฎระเบียบ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงต้องกำกับดูแลเรื่องของความถูกต้อง ด้วยการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้หรือการทำธุรกรรมทางออนไลน์ คือ เรื่องของความเชื่อมั่นซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบการ มีมาตรฐานหรือมีความน่าเชื่อถือที่เพียงพอ ผู้ใช้บริการก็จะเกิดความเชื่อมั่น ไม่เกิดความขัดแย้ง ไม่เกิดการฉ้อฉล ดังนั้นจึงนับเป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐที่ต้องเร่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งการกำหนดมาตรฐาน และกำหนดเรื่องของการดูแลผู้ให้บริการว่ามีความรับผิดชอบที่เพียงพอ

“หลักการของ Digital Economy คือ Share Economy สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าการ share ข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานจะเป็นการแสดงถึง ความชัดเจน ความโปร่งใส หรือ Governance และความรวดเร็วในการทำงานของรัฐ ที่หมายรวมถึงการให้บริการของภาครัฐด้วย” 
       

20211117_Board_talk_1.jpg

สร้าง Ecosystem สู่การผลักดันธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ก้าวไกล             

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ​ในฐานะประธานบอร์ด ETDA เปิดเผยว่า โลกดิจิทัลในปัจจุบันนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัด การจะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้เท่าทันและอยู่บนโลกที่ต้องใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเชื่อมั่นได้อย่างไรนั้น ETDA ในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันและส่งเสริม ระบบนิเวศดิจิทัล หรือ Digital Ecosystem ที่ดีให้เกิดขึ้น เนื่องจาก ETDA มีบทบาทตามกฎหมายในการกำกับดูแล เสนอแนะกฎระเบียบ และแนวทางต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่นในการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ETDA ยังมุ่งเน้นในการบูรณาการและเชื่อมโยงร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ (Co-Creation) ที่เป็นผู้กำกับดูแลเช่นเดียวกัน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการทำงานเชื่อมโยงลักษณะเช่นนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานและก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี

เพราะฉะนั้น ETDA ในฐานะ Regulator จะต้องเสนอแนะมาตรฐาน และเชื่อมโยงกรอบมาตรฐานนี้กับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นของคนที่จะทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อไปในอนาคต

“การที่ ETDA ทำงานร่วมกับหน่วยงาน Regulator อื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ร่วมกำหนดมาตรฐานที่ดี จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้รับประโยชน์ ในการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างเชื่อมั่นและมีประสิทธิภาพ”

ที่สำคัญ การขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาคประชาชนต้องพร้อมรับและปรับตัวให้รู้เท่าท้นกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ภาคเอกชนต้องเร่งพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐที่มีทั้งบทบาทส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล ตลอดจนเสนอแนะมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ Digital Transformation นำไปสู่การยกระดับสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืน

การขับเคลื่อนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่พร้อมรับและปรับตัวให้เท่าท้นกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล

Rating :
Avg: 1 (52 ratings)