Digital Service
- 04 ต.ค. 64
-
996
-
ฝันอยู่ในอากาศ ขาดข้อมูลอ้างอิง ทำอะไรต่อเนื่องก็ยากไปหมด
“ผมเคยเป็นผู้ประกอบการที่เป็นมวยวัดมาก ๆ เลย ขอแค่ทำงานไปวัน ๆ โดยที่ไม่มีข้อมูล ปิดงบมั่วซั่ว ส่งสำนักงานบัญชี ไม่ต้องจริงจังมากก็ได้ อันนั้นคือความผิดพลาดในฐานะธุรกิจ SMEs"
นั่นคือ คำพูดของ "ไผท ผดุงถิ่น" CEO of Builk One Group ที่ร่วมพูดคุยกับเวที ในงาน Virtual Series EP.2 “The New Way of Finance: On Point, On Time, and Online งานบัญชีออนไลน์ ทางเลือกใหม่ ของ SMEs” ภายใต้โครงการ e-Solution: Opportunity Enabler for SMEs โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Techsauce เพื่อ Transform ธุรกิจ SMEs ให้พร้อมกับการทำงานยุคใหม่
ภายใต้หัวข้อพูดคุยเรื่อง “Financial e-Tools: How Does It help? Learn From Direct User Experience ประสบการณ์ตรงจากผู้ใช้ที่ได้มากกว่าการลดภาระ” ที่เชิญตัวแทนจากภาคธุรกิจซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการนำเครื่องมือ e-Office และ e-Tool มาช่วยยกระดับงานบัญชีและการเงิน และหน่วยงานรัฐผู้ผลักดันการใช้งานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจาก ไผท คือ "เจษฎา ธนสิทธิพันธ์" CFO, Wongnai และ "ขนิษฐ์ ผาทอง" ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม ETDA
ความสำคัญของเทคโนโลยี สู่การยกระดับ “งานด้านการเงิน- บัญชี”
เจษฎา เริ่มต้นด้วยการพูดถึงความสำคัญของเทคโนโลยีระบบการเงินการบัญชีในปัจจุบัน ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างหันมาใช้เทคโนโลยีกับระบบการเงินและบัญชีกันมากขึ้น ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภคและการทำงาน
สำหรับ ไผท กล่าวในฐานะตัวแทนของธุรกิจ SMEs ที่ทำธุรกิจในรูปแบบ B2B (Business to Business) ว่าการใช้เทคโนโลยีระบบบัญชีนั้นจำเป็นต่อธุรกิจแบบ B2B มาก แม้จะไม่ได้มีการทำธุรกรรมจำนวนมากเหมือนธุรกิจ B2C (Business to Customer) อย่าง Wongnai ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องการทำธุรกรรมแล้ว การมีข้อมูลการเงินยังเป็นตัวชี้วัดและจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำธุรกิจในด้านของการปรับแผนกลยุทธ์ เมื่อต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงหรือสภาวะวิกฤตที่เข้ามา
ไผท ยกตัวอย่างจากธุรกิจของ Builk One Group ที่นอกจากจะทำธุรกิจด้วยการขายซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังมีส่วนที่ขายวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นการขายบนช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะ แต่การเอาเทคโนโลยีมาใช้ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในปัจจุบัน และไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับระบบบัญชีเท่านั้น ยังรวมถึงการทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์, ระบบบริหารงานบุคคล ฯลฯ
สำหรับ ขนิษฐ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมของ ETDA ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักขององค์กรที่ต้องการผลักดันให้มีการทำเอกสารและการทำธุรกรรมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในภาครัฐและเอกชน
จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก ขนิษฐ์ มองว่า ภาครัฐเองก็ได้มีการปรับตัวอย่างมาก ยกตัวอย่างหน่วยงานหลัก ๆ เช่น กรมบัญชีกลาง ที่นำเอาเทคโนโลยีมาบริหารในเรื่องการเงินและการบัญชีของการบริหารในประเทศ ซึ่งหน่วยงานอื่นอย่าง สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ก็พยายามที่จะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในมุมของการตรวจ ซึ่งหากมองในภาพรวมของหน่วยงานทั่วไป เรื่องของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะจากการที่ ETDA เข้าไปหารือ ก็มีความพยายามหาซอฟต์แวร์ เช่น e-Procurement e-Accounting เข้ามาบริหารการจัดการภายในองค์กรจำนวนมาก
นอกจากนั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกองค์กรไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนก็หาเครื่องมือมาใช้ในการทำงาน เพื่อไม่ให้ต้องพบปะกัน ภาครัฐเอง ETDA ก็ได้เข้าไปสนับสนุนในเรื่องนี้ ทั้งด้านมาตรฐาน กฎหมาย หรือความมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้การขับเคลื่อนไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ติดขัดและเกิดความเข้าใจร่วมกันในแนวทางเดียวกัน
ประสบการณ์จริงจากองค์กรที่เปลี่ยนไปใช้ระบบบัญชีออนไลน์
จากประสบการณ์ตรงของทั้ง เจษฎา และ ไผท การเปลี่ยนรูปแบบการทำบัญชี หรือการทำธุรกรรมเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถลดทั้งขั้นตอนการทำงานและลดต้นทุนได้ โดย เจษฎา เล่าว่า Wongnai เองมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบบัญชีแบบออนไลน์ ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 อยู่แล้ว ซึ่งทำให้ยังสามารถทำงานได้อย่างลื่นไหลแม้จะต้อง Work From Home นอกจากนั้น ยังเล่าถึงประสบการณ์ของบริษัทในการเปลี่ยนมาใช้ระบบออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก
“ลองจินตนาการว่า ก่อนหน้านี้ทุก ๆ เดือนเราต้องออกใบกำกับภาษีกี่ใบ เพราะเรามีลูกค้าเยอะมาก เราก็ต้องมีทีมงานมาจัดการเอกสารตรงนี้ สิ่งที่เราทำช่วงปีที่ผ่านมาคือ ลงทุนกับระบบ e-Payment ที่สามารถเชื่อมต่อและออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ส่งให้ลูกค้าทางอีเมลได้เลย มันช่วยลดขั้นตอนที่เราต้องไปพิมพ์เอกสาร ส่งไปรษณีย์ และป้องกันกรณีเอกสารชำรุดหรือสูญหายด้วย” เจษฎา กล่าว
ในฝั่งของ ไผท ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของบริษัทตัวเอง ในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีระบบบัญชี โดยกล่าวว่าทางบริษัทได้ทำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ขึ้นมา ให้ตอบโจทย์รูปแบบการทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งสามารถลดทั้งขั้นตอน และภาระการทำเอกสาร การออกและส่งใบกำกับภาษี และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ตรวจสอบบัญชีได้ โดยในไตรมาสที่ผ่านมาผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้เข้ามาที่บริษัทเลย แต่ใช้วิธีการทำงานผ่านระบบคลาวด์แทน
นอกจากนั้น ยังเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว ที่ได้ไปช่วย transform ธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด ทำให้ผู้ประกอบการพยายามที่จะหาโซลูชัน หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ได้มากที่สุด เพราะงานก่อสร้างเป็นงานที่ต้องประสานกับหลายภาคส่วน ซึ่งสิ่งที่มองว่าสำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งห่วงโซ่ของภาคธุรกิจ จึงจะผลักดันให้เกิดการใช้ระบบบัญชีออนไลน์แบบเต็มรูปแบบได้
“วันนี้เราพยายามจะเปลี่ยนให้กลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอราคา การประสานงาน ในวงการอุตสาหกรรมเองก็มีการผลักดันกันเองด้วย เพราะถ้าธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเปลี่ยนแค่คนเดียว แต่คนในส่วน Supply chain นั้นไม่เปลี่ยนตาม มันก็เกิดอุปสรรค เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันผลักดัน”
การลงทุนกับระบบบัญชี จะให้อะไรได้มากกว่าแค่การลดภาระ
เมื่อถามถึงความคุ้มค่ากับการลงทุนเปลี่ยนระบบการเงินการบัญชีเป็นรูปแบบออนไลน์นั้น ในฝั่งของ เจษฎา ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะมองว่าการลงทุนกับระบบบัญชี ไม่ได้ส่งผลทางตรงให้ธุรกิจเติบโตขึ้น หรือมียอดขายมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ตรงและมุมมองของตน มองว่าระบบบัญชีเป็นแกนหลักของการทำธุรกิจ และเป็นการลงทุนที่ส่งผลในระยะยาว
สำหรับ ไผท มองว่าการบริหารธุรกิจสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมีคือ ข้อมูลที่วัดผลได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลทางการเงินจึงสำคัญ และยังกล่าวต่อถึงประสบการณ์ส่วนตัวของตน กับการละเลยความสำคัญของระบบบัญชี ซึ่งตนมองว่าผู้ประกอบการควรจะมีข้อมูลระบบการเงินและบัญชีขององค์กร
“ผมเคยเป็นผู้ประกอบการที่เป็นมวยวัดมาก ๆ เลย ขอแค่ทำงานไปวัน ๆ โดยที่ไม่มีข้อมูล ปิดงบมั่วซั่ว ส่งสำนักงานบัญชี ไม่ต้องจริงจังมากก็ได้ อันนั้นคือความผิดพลาดในฐานะธุรกิจ SMEs ทำให้เราวางแผนได้ยากมาก เรามีแต่ฝันอยู่ในอากาศ ไม่มีข้อมูลมาอ้างอิง พอเวลาจะไปขอกู้ธนาคาร หรือทำอะไรต่อเนื่อง มันยากไปหมด”
นอกจากนั้น ไผท ยังยกตัวอย่างจากธุรกิจหนึ่งของ BUILK Group ในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งการใช้แพลตฟอร์มสำหรับการทำบัญชีนั้นทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ใช่แค่การทำธุรกรรมทั่วไป หรือการจัดการภาษีเท่านั้น แต่สามารถบริหารจัดการเรื่องที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น คำนวณค่าใช้จ่าย, ต้นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งส่งผลสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ ทำให้ ไผท มองว่าการลงทุนกับระบบบัญชีและการเงินนั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับขนาดและรูปแบบหรือความต้องการของธุรกิจตนเองด้วย
ความไม่มั่นใจ กับดักสำคัญของการพัฒนาระบบบัญชี
ขนิษฐ์ จาก ETDA มองว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนมาใช้ระบบบัญชี หรือการเงินออนไลน์ เพราะเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบ ด้วยระบบบัญชีและการเงินเป็นเรื่องสำคัญ ต้องถูกต้อง แม่นยำ และตรวจสอบได้ ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความไม่มั่นใจกับการใช้เทคโนโลยี กังวลว่าจะทำให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมาย หรือไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทาง ETDA เองที่ผ่านมาก็พยายามให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และเข้าไปวางมาตรฐานรูปแบบการใช้งาน เช่น
เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในการใช้งานมากขึ้น และทำให้การใช้งานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ขยายไปในวงกว้างมากขึ้น
ในมุมมองของภาคธุรกิจ
เจษฎา มองว่าการสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ โดยยกตัวอย่างจาก Lineman Wongnai เอง ที่แม้จะเป็นธุรกิจ Startup และใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่เมื่อจะเปลี่ยนมาใช้ระบบบัญชีแบบออนไลน์ หรือใช้ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนตัวก็เกิดความกังวลเช่นเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าตัวระบบพร้อมใช้งานแค่ไหน เช่นเดียวกับเรื่องการทำระบบบัญชี จากเดิมที่ต้องทำงานในคอมพิวเตอร์ของออฟฟิศ แต่พอต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ ในช่วงแรกก็ยังไม่มั่นใจและไม่เข้าใจการทำงานของระบบ ซึ่งมองว่าในมุมผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีมาก ความไม่เข้าใจตรงนี้ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคหรือทำให้เกิดความกังวล จนในที่สุดก็ไม่เลือกที่จะนำมาใช้งาน
ผู้ประกอบการควรนำเทคโนโลยีระบบบัญชีเข้ามาใช้เมื่อไหร่
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการในการเริ่มต้นใช้ระบบบัญชีออนไลน์ เจษฎา มองว่าไม่ใช่เรื่องที่มีกฎตายตัวว่าจะต้องใช้ตั้งแต่ตอนเริ่มธุรกิจทันที ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการเอง รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้ตัวเองว่าเราควรจะเริ่มใช้เมื่อไหร่
“ผมมองว่ามันไม่ได้มีกฎตายตัวนะ จริง ๆ ว่าเราควรจะต้องทำตอนไหน มันขึ้นอยู่กับความพร้อมของเราเอง ความพร้อมของตลาด ความพร้อมของลูกค้าเรา ของคู่ค้าเรา วันนี้เรายังเล็กอยู่ อาจจะอยากลงทุนในด้านอื่นก่อน แต่ถึงจุดหนึ่งที่บริษัทเติบโตมาก มันอาจจะใช้ระบบเดิมๆไม่ได้แล้ว”
เจษฎา ยกตัวอย่างจากบริษัท Wongnai เอง เมื่อจำนวนลูกค้าเริ่มเยอะมากขึ้น ทำให้ตระหนักได้ว่าไม่สามารถใช้วิธีและระบบแบบเดิม ๆ ในการทำงานได้อีกต่อไป
ในฝั่งของ ไผท มองว่าปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมากมาย ซึ่งหากผู้ประกอบการยังไม่พร้อมจะทำด้วยตัวเอง ก็ควรไปหาพาร์ตเนอร์ที่เป็น Service Provider เข้ามาช่วย ซึ่งจะเป็นแต้มต่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าหาแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และหากวันหนึ่งที่ธุรกิจเติบโตจนพร้อมลงทุน ก็สามารถพัฒนาระบบบัญชีด้วยตัวเองได้ โดยส่วนตัว ไผท ย้ำว่า การมีข้อมูลที่เชื่อถือได้จะทำให้การพัฒนาง่ายขึ้น
แถลงข่าวกิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler
และอย่าลืมวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564 นี้ กับการแถลงข่าวกิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler ภายใต้โครงการ e-Solution: Opportunity Enabler for SMEs ร่วมเฟ้นหา Service Provider ที่เป็น ‘Best Enabler’ หรือสุดยอดนวัตกรรม หรือ Solution ด้าน e-Office
ไฮไลต์ในงานแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เวลา 09.30 – 11.55 น.
Special Speech: New Solution กับการปลดล็อก SMEs ไทย สู่ธุรกิจดิจิทัล โดย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
การแสดงพลังความร่วมมือของ Smart Partner ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนและเข้าร่วมงานได้เลยที่ https://bit.ly/3osUjO9
การมีข้อมูลที่เชื่อถือได้จะทำให้ธุรกิจพัฒนาได้ง่ายขึ้น