TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

Insight-driven Marketing เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดและงานขายอย่างไร ด้วยข้อมูลเชิงลึก

Digital Service Documents
  • 20 ต.ค. 64
  • 2490

Insight-driven Marketing เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดและงานขายอย่างไร ด้วยข้อมูลเชิงลึก

การทำการตลาดโดยใช้ข้อมูลเชิงลึกถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับแผนการตลาด อีกทั้งยังสามารถใช้เครื่องมือที่หลากหลายมาเพื่อช่วยวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดเพื่อให้สามารถจับเทรนด์ได้ก่อนใคร

แล้วจะทำอย่างไรในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อสร้างงานขายให้ปัง ด้วยข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่เราอาจมองข้าม สำหรับธุรกิจ SMEs วิธีในการเลือกใช้เครื่องมือ (e-Tool) ในการบริหารงานลูกค้าสัมพันธ์ (CRM : Customer Relationship Management) เพื่อเข้าใจลูกค้า เข้าใจตลาด เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้มากขึ้น

Exclusive Workshop “Insight-driven Marketing Workshop เพิ่มประสิทธิภาพการขายอย่างไรด้วยข้อมูลเชิงลึก” ได้เชิญ ชลธิชา แสงพันธุ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Analytist บริษัทที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทางการตลาด ในเวที Virtual Series EP.3 CRM for SMEs : Boost Your Customers’ Experience, Boost Your Business ในโครงการ e-Solution Opportunity Enabler for SMEs  โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า)​ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Techsauce เพื่อ Transform ธุรกิจ SMEs ให้พร้อมกับการทำงานยุคใหม่

insight_driven2-(1).jpg

เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดและการขายด้วยข้อมูลเชิงลึก 

ในการทำธุรกิจมีข้อมูลหลากหลายประเภท เช่น ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เพศ อายุ การศึกษา ประวัติการซื้อสินค้า หรือประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ ที่เราสามารถนำมาประกอบเพื่อสร้างเป็นข้อมูลเชิงลึก โดยประโยชน์ของข้อมูลเหล่านี้คือ จะทำให้เรารู้ใจลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจในการเสนอสินค้าให้กับลูกค้าได้ถูกต้องตามกลุ่มเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ และเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า ทำให้เกิดการซื้อขายต่อไปในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น

  • เข้าใจลูกค้ามากขึ้น 
  • เข้าใจตลาดมากขึ้นและเห็นตลาดมากขึ้น
  • ลดต้นทุน 
  • ลดการสูญเสีย
  • เพิ่มยอดขาย เพิ่มโอกาส
insight_driven3-(1).jpg

เครื่องมือที่ดีจะช่วยจัดการข้อมูลได้ง่ายขึ้น จับเทรนด์ได้ทัน ใช้สร้างจุดแข็งเอาชนะคู่แข่ง

ตัวอย่างเครื่องมือที่จะทำให้เข้าใจตลาดได้มากขึ้น เช่น “Google Search Trends” ซึ่ง ชลธิชา มองว่าเป็นเครื่องมือที่ฟรีและดี เนื่องจาก 80% ของลูกค้าจะใช้ Google เสิร์ชก่อนทำการซื้อสินค้าใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะการประกอบการตัดสินใจซื้อในครั้งแรก ซึ่ง Google ได้แบ่งปันข้อมูลการเสิร์ชผ่านเครื่องมือตัวนี้ พร้อมแนะนำวิธีการใช้งานเพื่อดูสิ่งค้นหายอดนิยม ซึ่งสามารถเสิร์ชจากคำที่เราต้องการ และดูเป็นรายปีว่าสิ่งนั้นเป็นที่นิยมช่วงไหน

อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบสินค้าได้ และสามารถรู้ได้ว่าการเสิร์ชเกิดขึ้นในจังหวัดไหนของประเทศมากที่สุด โดยมีความเข้มของสีแยกตามพื้นที่จังหวัดบนแผนที่ประเทศไทย ทำให้รู้ถึงตลาดว่าในช่วงเวลานั้นอะไรกำลังเป็นที่นิยมเพื่อนำมาใช้วางแผนงานการตลาด 

อีกหนึ่งเครื่องมือที่น่าสนใจเพื่อใช้จับตาดูว่าเทรนด์อะไรกำลังมา คือ เว็บไซต์ Social.gg โดยจะมีหมวดสินค้าหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น หมวดความสวยความงาม หมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหาร การศึกษา หรือหมวด e-Commerce ซึ่งจะแสดงผลโดยแบ่งเป็นประเภท Top Trend และ Most Recent เพื่อดูว่าสิ่งไหนกำลังเป็นกระแสหรือมาใหม่ล่าสุด หรือในกรณีที่มีการจ้าง Influencer ก็สามารถใช้ข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความนิยมและดูแนวทาง Content และ Influencer ของคู่แข่งได้

นอกจากนี้ ยังเครื่องมือที่ใช้เปรียบเทียบเว็บไซต์ของเราและของคู่แข่ง เช่น Similarweb.com โดยสามารถเปรียบเทียบยอดผู้ใช้งานในเว็บของเราและของคู่แข่ง ซึ่งจะแสดงว่าผู้ใช้เข้ามาดูกี่หน้าเพื่อนำมาประเมินคู่แข่ง และยังแสดงให้เห็นว่าสื่อไหนที่ผู้ใช้เข้ามาถึงเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังแสดงข้อมูลว่าผู้ใช้เข้าชมเว็บไซต์ใดก่อนที่จะเข้ามายังหน้าเว็บของเรา 

“หลักการของการซื้อมาขายไปส่วนใหญ่ คือการที่เราจับเทรนด์ได้ทันเวลา เพราะว่าเราไม่ได้เป็นผู้ผลิต หมายความว่าถ้าเกิดคุณจับ Demand ในตลาดให้ทันและคุณหาสินค้าได้ถูกหรือว่าได้เจ๋งกว่าคนอื่น และรู้ว่าต้องขายให้ใคร Tools ที่เราแนะนำมาใช้ได้หมดเลย เพียงแต่ต้องขยันหาขยันเสิร์ชแล้วจะเจอ เมื่อก่อนยากมากที่จะรู้ว่าคนต้องการอะไร ต้องทำรีเสิร์ชเท่านั้น มีต้นทุนเป็นล้าน วันนี้นักธุรกิจ SMEs ทุกท่านโชคดีมากที่มี Tools ต่างๆ มากมายให้ใช้ อยากจะให้พยายามทดลองใช้ให้มากที่สุด”

นอกจากนี้ ในส่วนของ ชลธิชา เอง ก็ยังได้พัฒนาเครื่องมือของตนเอง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น คือ www.MarketingAnalyticsAutomation.com โดยเป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลการขายอัตโนมัติ เพื่อวิเคราะห์ Customer Insight เพียงนำ Data ของร้านเข้าระบบก็จะมีแสดงรายการยอดขายว่าช่วงไหนขายดี สินค้าตัวไหนขายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง และยังมีการแสดงผลวิเคราะห์อัตราการซื้อซ้ำ แสดงผลลูกค้าประจำเพื่อช่วยในการรักษาฐานลูกค้าเก่า 
 

เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

“เราอาจจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่เป็นนักการตลาด หรือในที่นี้อาจจะมีไอทีอยู่ด้วย ต้องเริ่มให้ถูกที่ถูกทางก่อน”

การนำข้อมูลมาจัดแบ่งจะช่วยให้มองเห็นทิศทางของการทำตลาดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากเริ่มต้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตั้งแต่แรกจะทำให้การวิเคราะห์ลูกค้าเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่ง ชลธิชา ก็ได้แสดงตัวอย่างการนำข้อมูลไปทำ Visualize บน Data Project และสามารถทำออกมาเป็น Sales by Segment เพื่อแบ่งกลุ่มลูกค้า ซึ่งเมื่อจัดประเภทของลูกค้าแล้วจะทำให้เห็นตัวอย่างของลูกค้าที่หายไปหากเราเริ่มต้นทำอย่างเป็นระบบจะ ทำให้เรามองเห็นปัญหาและหาวิธีแก้ไขได้ทันเวลาและแก้ไขได้อย่างตรงจุดถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าหายไป  

การทำ CRM ต้องเน้นเรื่องการบริหารลูกค้าทั้งใหม่และเก่า หรือจะดูเป็นพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อนำมาจัดกลุ่มเพื่อจัดโปรโมชั่นให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และหากเริ่มต้นเร็วและดีเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นทำให้สามารถจับทิศทางการขายได้พร้อมสร้างโอกาสการเพิ่มยอดขายเอาชนะคู่แข่งในตลาด

นอกจากนี้ ยังได้สาธิตการทำ Data Project Canvas เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มองเห็นปัญหาในการทำธุรกิจจากการนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ พร้อมทราบถึง Pain Point ที่ต้องปรับแก้ และการมองหาระบบที่ช่วยจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

insight_driven4-(1).jpg

แล้วเมื่อไหร่ที่ธุรกิจควรเริ่มทำข้อมูลเชิงลึก

ในการทำ Data Project จะมีการวิเคราะห์จากข้อมูลหลายส่วนด้วยกันทั้งในส่วนของงบประมาณที่มี แหล่งข้อมูล เทคโนโลยีที่จะใช้ และที่น่าสนใจคือ Pain Point ซึ่งเชื่อว่าทุกที่ที่สนใจ CRM จะมีข้อมูลในส่วนของปัญหาแต่อาจจะยังมองไม่เห็น ซึ่ง ชลธิชา ก็ได้ยกตัวอย่าง Pain Point ที่พบได้โดยจะมีทั้งปัญหาของการไม่จัดการข้อมูลซึ่งจะทำให้ไม่ทราบว่าลูกค้ากลุ่มไหนหายไป และอาจจะมองไม่เห็นภาพว่า Segment ไหนสำคัญต้องเก็บข้อมูลส่วนไหนไว้บ้าง หรือในส่วนของการขายก็อาจจะไม่ทราบว่าควร Cross-sell ให้กับลูกค้ากลุ่มไหนบ้าง

และสำหรับปัญหาของแบรนด์ที่ไม่มีข้อมูลติดต่อลูกค้า การเก็บงานออฟไลน์ยังคงเก็บในรูปแบบกระดาษ และยังไม่เคยแบ่งกลุ่มลูกค้าว่าเป็นลูกค้าใหม่ลูกค้าเก่าหรือลูกค้าประจำ หากทราบข้อมูลในจุดนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดีในเรื่องของการเพิ่มยอดขายและช่วยในการรักษาฐานลูกค้าไว้ได้

เมื่อทราบเครื่องมือและความจำเป็นของการเพิ่มประสิทธิภาพการขายด้วยข้อมูลเชิงลึกแล้วอาจเกิดความสงสัยว่า ต้องมีข้อมูลเท่าไหร่ถึงควรจะเริ่มทำ Data Project ในประเด็นนี้ ชลธิชา แนะนำว่าหากเริ่มทำ Data Project ในช่วงที่มีข้อมูลเยอะจะยิ่งจัดการข้อมูลได้ยากยิ่งขึ้น เพราะหากข้อมูลมีจำนวนมากเกินกว่าจะเก็บไว้ใน Excel ทำให้จะต้องไปใช้ Tools ที่มีค่าใช้จ่ายถึงจะทำงานได้ หรืออาจต้องใช้ Data Engineer เข้ามาช่วยเพราะต้องจัดระเบียบข้อมูล   

ขณะเดียวกันหากมีข้อมูลไม่พอหรือมีข้อมูลที่ขาดหายไปจะทำให้ภาพจากการวิเคราะห์ออกมาไม่ตรง อย่างไรก็ตาม ก็แนะนำว่าควรจะทำเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่าต่อไปควรจัดการ Data อย่างไรและจะได้แก้ไขได้อย่างตรงจุด

 

Data Project ควรจะทำเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่าต่อไปควรจัดการ Data อย่างไรและจะได้แก้ไขได้อย่างตรงจุด

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)