TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

เจาะลึก Digital Transformation Trends ปี 2021

Digital Trend Documents
  • 07 เม.ย. 64
  • 27673

เจาะลึก Digital Transformation Trends ปี 2021

ปัจจุบันทุกองค์กรต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คำถามคือ องค์กรจะเตรียมพร้อม รับมือ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

Change และ Transformation 

หลายคนมักสับสนระหว่าง Change และ Transformation สำหรับคำว่า Change เป็นได้ทั้งความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ หรือยิ่งใหญ่และซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยการติดตามและควบคุม การเปลี่ยนแปลงจึงจะคงอยู่ เช่น การเปลี่ยนแปลงขั้นตอน กระบวนการทำงานในองค์กร แต่ Transformation มักเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อย่างมีนัยสำคัญ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานภายในจากความเชื่อ อันเป็นที่มาของพฤติกรรมต่าง ๆ หากเกิดขึ้นแล้ว มักจะเกิดถาวร เรียกได้ว่า เป็นการปฏิรูป ก็ว่าได้ 

องค์กรที่จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคที่ทุกอย่างที่มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ ต้องสามารถ Transform องค์กรของตนได้ ไม่ใช่เพียงแค่ Change

Digital Transformation ไม่ให้โดน Digital Disruption

Digital Transformation คือการนำ Digital Technology เข้ามาปรับใช้กับทุกภาคส่วนขององค์กร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รากฐานขององค์กรไปจนถึงกระบวนการส่งมอบให้ลูกค้า เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรอย่างมีกลยุทธ์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยให้ตามทันโลกเศรษฐกิจ และไม่โดน Digital Disruption ซึ่งก็คือสภาวะที่ธุรกิจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การไม่พัฒนาในตัวองค์กร หรือการมี “Disruptive Challenge” จากผู้ที่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจ

อีกทั้งจากการเกิดขึ้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยี เป็นเหตุให้องค์กรต้องมีการจับตาแนวโน้ม Digital Transformation ที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

10 Digital Transformation Trends ปี 2021

Digital-Transformation-Trends-02.jpg

ในปี 2564 Forbes ได้คาดการณ์ 10 Digital Transformation Trends ไว้ ซึ่งหลายอย่างเกิดขึ้นแล้วบางส่วนในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะโตขึ้นอีกเรื่อย ๆ จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย

1. เทคโนโลยี 5G จะกลายเป็นกระแสหลัก

เรามักจะได้ยินการพูดถึงประโยชน์ของ 5G บ่อยครั้ง แต่ยังไม่เห็นว่าสำคัญ จนกระทั่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การทำงานหรือเรียนออนไลน์ การประชุมออนไลน์ และการทำงานร่วมกันออนไลน์ จึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งธุรกิจปัจจุบันยากที่จะอยู่ได้โดยไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้น เทคโนโลยี 5G สามารถตอบโจทย์ความต้องการการเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้ และรวดเร็วยิ่งขึ้นได้ จึงมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมยิ่งขึ้นในปี 2564

2. Customer Data Platform จะเป็นที่นิยม

Customer Data Platform หรือ CDP เป็นระบบที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้า และนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้งานต่อที่หลากหลาย เช่น วิเคราะห์หา Customer Insight ทำให้ Brand สามารถทำการตลาดเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่ง CDP ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การที่องค์กรมีข้อมูลกระจัดกระจายอยู่หลายแหล่ง ซึ่งบริหารจัดการยาก ทำให้บริษัทไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ทันท่วงที CDP เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ โดยการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่มา จัดระเบียบ แยกหมวดหมู่ และทำให้ทุกคนที่ต้องการเข้าถึงสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย และช่วยให้บริหารข้อมูลลูกค้าได้แบบ 360 องศา จากที่เห็นในปัจจุบันว่าข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และไม่มีท่าทีจะหยุดในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ CDP จะกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

3. Hybrid Cloud จะเป็นโครงสร้างขององค์กรยุคใหม่

องค์กรหลายแห่งมีการวางสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) แบบ Hybrid Cloud ซึ่งเป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างระบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบ Private Cloud และ Public Cloud ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการ ช่วยให้สามารถทำงานอย่างไร้รอยต่อได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ ’ทุกที่ทุกเวลา’ เช่น บริษัทอาจใช้ทรัพยากรการประมวลผลของระบบคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) และแอปพลิเคชันสำหรับกระบวนการบางอย่าง เช่น ซอฟต์แวร์บัญชีเงินเดือน (Payroll Software) แต่เลือกที่จะใช้ระบบคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญทางธุรกิจ โดยมีกุญแจสำคัญคือ Public Sphere และ Private Sphere ที่เชื่อมโยงกันผ่านการเข้ารหัสการเชื่อมต่อ (Encrypted Connection) ช่วยให้สามารถรับส่งข้อมูลอย่างมั่นคงปลอดภัย ซึ่งได้ขยายขอบเขตจาก IT แบบดั้งเดิม เป็นการตอบโจทย์การใช้งานในวงการต่าง ๆ อย่างหลากหลาย

การเกิดขึ้นของโควิด-19 ช่วยเน้นย้ำความสำคัญของระบบโครงสร้าง Cloud ที่ช่วยเรื่องความรวดเร็วและยืดหยุ่น เห็นว่ามีองค์กรที่เร่งลงทุนใน Cloud เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน และการ Disruption ดังที่เกิดในปี 2563

อีกทั้ง IDC (Internet Data Center) ยังได้คาดการณ์ว่า ตลาด Hybrid Cloud จะโตขึ้น 20.5% ในปี 2564 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของบริการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Security Service) และการให้บริการข้อมูล (Data Service) ที่เป็นไปตามข้อกำหนด (Compliance)

Digital-Transformation-Trends-03.jpg

4. Cybersecurity จะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง

Cybersecurity หรือ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เริ่มได้รับการพูดถึงน้อยลง จนกระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ Cybersecurity กลับมาได้รับการพูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากเหล่าแฮกเกอร์ได้ใช้โอกาสที่คนทำงานออนไลน์จากบ้านในการโจมตีธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจากฐานข้อมูลทั่วโลก ซึ่งในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 การโจมตีข้อมูลธนาคารเพิ่มสูงถึง 238% และการโจมตีผ่านระบบคลาวด์เพิ่มสูงถึง 600%

การที่คนเริ่มทำงานที่ออฟฟิศน้อยลง และทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องกลับมายกระดับกลยุทธ์ด้าน Cybersecurity เพื่อรองรับอุปกรณ์และเครือข่ายในการ Work from Home นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และ Cloud เพิ่มความพยายามในการทำให้สินค้าและบริการ มีความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

5. Privacy and Confidential Computing มีความเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น

หัวใจหลักของ Confidential Computing คือ การเข้ารหัสกระบวนการคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ Data เป็นการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้กับข้อมูลอีกชั้นกับข้อมูลที่มีความสำคัญ (Sensitive Data) ในบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Microsoft, IBM, Alibaba, VMware ต่างช่วยกันพัฒนาวิธีการและหาหนทางในการสร้าง The Confidential Computing Consortium ซึ่งน่าจะได้เห็น Confidential Computing กลายเป็นกระแสหลักในโลกธุรกิจในปี 2564

6. Headless Tech จะ Disrupt อุตสาหกรรม และเปลี่ยนรูปแบบของการทำ e-Commerce

“Headless Tech” คือการที่ธุรกิจสามารถแยกการทำงานของ Front-End (โปรแกรมหน้าบ้าน เช่น เว็บไซต์ แอปพลิแคชัน) กับ Back-End (โปรแกรมหลังบ้าน เช่น ฐานข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน) ได้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้า การเปลี่ยนจากประสบการณ์แบบ Omnichannel ไปสู่การเชื่อมต่อทุกอย่างตั้งแต่ โกดัง ไปถึง หน้าร้าน ไปจนถึงการให้บริการทางออนไลน์

บริษัทต่าง ๆ ได้สร้างประสบการณ์ในการชอปปิงไปยังช่องทางใหม่ ๆ ทำให้ Developer ในฝั่งผู้ขายมีอิสระในการสร้างประสบการณ์การซื้อรูปแบบที่สร้างสรรค์ผ่านช่องทางใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

7. Work from Home มีแนวโน้มจะอยู่นานกว่าโควิด-19

ถึงแม้ว่าในช่วงหลัง พนักงานสามารถเริ่มกลับไปทำงานได้แล้ว แต่หลาย ๆ บริษัทยังคงมีนโยบาย Work from Home ให้กับพนักงานอยู่ ทำให้เกิดการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Smart Work from Home เช่น Zoom, Webex หรือ Microsoft Teams ซึ่งส่งผลทำให้ยอดขายคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือเชื่อมต่อต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการทำงานจากบ้านเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้เราอาจจะได้เห็นการอพยพของประชากร เนื่องจากคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ จึงมีแนวโน้มที่คนจะย้ายจากเมืองหลวง ไปสู่พื้นที่ที่ค่าครองชีพถูกกว่า ซึ่งส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านเครือข่ายและการเชื่อมต่อในพื้นที่ชนบทมากยิ่งขึ้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการที่ถูกลง หลาย ๆ บริษัทจึงอาจจะยังไม่กลับไปใช้วิธีการเดิม ๆ ในเร็ว ๆ นี้

Digital-Transformation-Trends-04.jpg

8. เทคโนโลยี AI จะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการใช้ Data, AI มากยิ่งขึ้นในทุกภาคส่วน ในขณะที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่า AI คือเทรนด์แห่งอนาคต ในความจริงแล้ว AI นั้นอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สังเกตจากสิ่งที่เราเห็นบนโซเชียลมีเดีย หรือการที่ Netflix สามารถแนะนำภาพยนตร์ที่เหมาะกับเรา ล้วนเกิดจาก AI ทั้งสิ้น

ในอนาคต AI จะมีผลต่อการซื้อ การบริโภค การจ้างงาน และความบันเทิง โดยได้รับอิทธิพลจากข้อมูลจำนวนมหาศาล และความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่า AI จะเติบโตในอนาคตอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าปัจจุบัน ท้ายที่สุดแล้ว AI จะต้องไดัรับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการใช้งานเพื่อจุดประสงค์ในเชิงบวกเท่านั้น

9. Device Form Factors จะได้รับความสนใจอีกครั้ง

ผู้บริโภคต้องการอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบาลง ขนาดเล็กลง และสามารถเชื่อมต่อได้ดีกว่าเดิม แต่ก็ยังต้องใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แทนที่จะถืออุปกรณ์หลาย ๆ เครื่อง ผู้ใช้งานต้องการอุปกรณ์แบบไฮบริดมากขึ้น ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามวัตุประสงค์ในการใช้งาน

ในปี 2564 เราจะได้เห็นการกลับมาของโทรศัพท์พับได้อีกครั้ง หากสามารถให้คุณภาพและการเชื่อมต่อได้ดีเท่า ๆ กับโทรศัพท์รูปแบบปัจจุบัน ไอเดียหลักของโทรศัพท์พับได้คือ สามารถขยายเป็นแท็บแล็ตได้เมื่อต้องการจอที่ใหญ่ขึ้น และสามารถพับกลับเป็นโทรศัพท์ได้เมื่อต้องการใช้งานแบบปกติ เช่น Microsoft Surface Duo หรือ Samsung Galaxy Fold 2 ซึ่งในปี 2564 จะมีอุปกรณ์ลักษณะนี้ออกมาให้เราได้เห็นมากขึ้นอีกแน่นอน

10. Quantum Computing จะกลายเป็นกระแสหลัก

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ที่อาศัยปรากฏการณ์เชิงควอนตัมในการช่วยประมวลผลข้อมูล (Quantum Computing) อาจจะยังไม่เป็นที่พูดถึงเท่าไร แต่เทคโนโลยีนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการที่ Quantum Computing สามารถประมวลผลที่เร็วกว่าคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปอย่างมหาศาล เทคโนโลยีนี้มีการนำมาใช้จัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับการพัฒนาวัคซีน ในอนาคตคาดการณ์ว่าเราจะได้เห็นกรณีศึกษาในหลากหลายอุตสาหกรรมในอนาคต เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสามารถอันทรงพลังของ Quantum Computing มากขึ้น

จาก Trend ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2021 ETDA ต้องการให้องค์กรไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนเตรียมพร้อม รับมือ และสามารถปรับตัวให้เท่าทันต่อ Digital Transformation ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต ที่ต้องมีการเฝ้าระวังปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา เนื่องด้วยการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยหวังว่าทุกภาคส่วนจะสามารถนำข้อมูลไปปรับใช้กับหน่วยงานเพื่อ Go Digital อย่างมั่นใจ และมั่นคงปลอดภัยไปด้วยกัน

ที่มา 
Forbes, G-Able, Quickserv, CIO Insight

Digital Transformation คือการที่เรานำ Digital Technology เข้ามาปรับใช้กับทุกภาคส่วนขององค์กร ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่รากฐาน ไปจนถึงกระบวนการส่งมอบให้กับลูกค้า เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรอย่างมีกลยุทธ์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยให้ตามทันโลกเศรษฐกิจ และไม่โดน Digital Disruption

Rating :
Avg: 5 (13 ratings)