Digital Service
- 21 เม.ย. 64
-
10279
-
Digital Service อะไร ยังไง ว่าไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ แทบทุกสิ่งที่เราทำในชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้บริการทางออนไลน์ ส่งผลให้การใช้อินเทอร์เน็ตของเราสูงขึ้นด้วย โดย ผลสำรวจปีล่าสุด ของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า คนไทยในปี 2563 ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน หรือเกือบครึ่งวัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่ 1 ชั่วโมง 3 นาที และหากเปรียบเทียบกับผสสำรวจฯ นับตั้งแต่ปี 2560 จะเห็นได้ว่า จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 35 นาที ต่อวัน เท่านั้น
ด้วยความต้องการบริการทางออนไลน์ ที่สะดวก รวดเร็ว และยังปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะช่วยให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต่างหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางบริการทางออนไลน์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด เข้าถึงผู้รับบริการหรือผู้บริโภค และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคดิจิทัลและยุค New Normal ของผู้คนให้มากขึ้น
แล้วประเภทของ ธุรกิจบริการดิจิทัล หรือ Digital Service มีอะไรบ้าง ETDA จะนำไปทำความรู้จักผ่าน Digital Service Landscape เพื่อให้ได้เห็นภาพที่กว้างและมองบริการดิจิทัลได้อย่างครอบคุลมมากยิ่งขึ้น
ประเภทของ Digital Service
Digital Service สามารถจำแนกได้ในหลากหลายรูปแบบและประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนิยามหรือวัตถุประสงค์ของการจำแนก โดยในที่นี้จากผลการศึกษาของ ETDA ขอแบ่งออกเป็น 11 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1. บริการด้านการเงิน (Finance) ธุรกิจบริการด้านการเงิน ถือเป็นกลุ่มธุรกิจบริการที่มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นอกจากจะเป็นการให้บริการ Internet Banking ที่เราคุ้นเลยแล้ว ยังรวมไปถึงการใช้บริการออนไลน์ด้านการเงินอื่น ๆ เช่น การกู้ยืม (Peer- lending) การจ่ายสินค้าหรือบริการ (Payment Solutions) การชำระค่าสาธารณูปโภค หรือแม้แต่การลงทุน/การจ่ายประกันภัย (Investment/Insurance) และการบริหารจัดการทางการเงินต่าง ๆ (Financial Management Tools) สิ่งเหล่านี้ล้วนรวมอยู่ในบริการด้านการเงินของ Digital Service ทั้งสิ้น
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านการเงิน ได้แก่ แอปพลิเคชัน K PLUS ของ ธนาคารกสิกรไทย, SCB EASY ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet อย่าง True Money บริการจัดพอร์ตลงทุนของ Finnomena, โปรแกรมซื้อขายหุ้น Settrade Streaming ฯลฯ
2. บริการด้านสาธารณสุข/สุขภาพ (Health) หนึ่งในบริการที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาและการดูแลสุขภาพได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาได้มากยิ่งขึ้น โดยบริการด้านสาธารณสุข/สุขภาพนี้ มีทั้งในแง่ของการขอรับคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แบบออนไลน์ (Telehealth/e-Consult) การบันทึกประวัติการรักษาทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Health Record/Data) หรือแม้แต่การค้นหาข้อมูลทางการแพทย์ (Medical Service Search) ถึงวิธีการรักษา การดูแลสุขภาพ และการประเมินความเสี่ยง
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข/สุขภาพ ได้แก่ แอปพลิเคชันสมุดสุขภาพประชาชน H4U หรือ Health For You โดยกระทรวงสาธารณสุข แอปพลิเคชันผู้ช่วยการออกกำลังกาย DailyBurn แอปพลิเคชัน บันทึกการกรน SnoreLab ฯลฯ
3.บริการด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) บริการที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปีดูได้จากผลสำรวจ มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซประเทศไทย ที่สูงถึง 4 ล้านล้านบาท และ ตัวเลข B2C มีมูลค่าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยตัวอย่างบริการด้านอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ บริการแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ (e-Tailer/e-Marketplace) บริการส่งเสริมการขาย (Enabler) บริการด้านการตลาด (Marketing) บริการการขนส่งสินค้า (Logistics) บริการบริหารจัดการคลังสินค้า (Fulfillment) ตลอดจน Supply Chain
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada, Kaidee, Line OA หรือ LINE Official Account
4. บริการด้านไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) บริการที่เกี่ยวข้องกืบเรื่องราวความสนใจในชีวิตประจำวันโดยเน้นในเรื่องของ เนื้อหาด้านดิจิทัล (Digital Content/Digital Media) ในทุกรูปแบบ ทั้งสำหรับรับชมและรับฟัง โดยอาจแฝงไปด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การรีวิว การโฆษณา แต่ทั้งนี้บริการในรูปแบบไลฟ์สไตล์จะไม่สามารถทำการซื้อขายสินค้า/บริการผ่านผู้ให้บริการได้
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านไลฟ์สไตล์ ได้แก่ Wongnai เว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร, แพลตฟอร์มสตรีมมิง Spotify หรือ Netflix โซเชียลมีเดียอย่าง YouTube, TikTok, Pinterest ฯลฯ
5. บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ (Property/Urban) หนึ่งในกลุ่มบริการที่มีมูลค่าการเติบโตสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการเฉพาะที่สนับสนุนด้านอสังหาริมทรัพย์ (Specialized Service) เช่น ฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงอย่างรอบด้าน แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ วิดีโอ/ไลฟ์สตรีมพาชมโครงการ รวมไปถึงการซื้อขายและเช่า (Ride Sharing)
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ แอปพลิเคชัน Sansiri Home Care โดย แสนสิริ, เว็บไซต์นายหน้าซื้อ-ขาย ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ DDproperty ฯลฯ
6. บริการด้านอาหารและการเกษตร (Food/Agriculture) ธุรกิจบริการมาแรงในช่วงเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในส่วนของบริการรับ-ส่งอาหาร (Food Delivery) ที่จากผลสำรวจ
พฤติกรรมการใช้ Online Food Delivery ในช่วงสถานการณ์การระบาด Covid-19 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 85% ได้ใช้บริการด้านนี้ ถือเป็นการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงก่อน นอกจากนี้บริการในกลุ่มนี้ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีเกษตรกรรม (Agri Tech) ที่ให้บริการด้านการเกษตร เช่น การควบคุมประเมินการเพาะปลูก ปริมาณน้ำ อากาศ หรือปัจจัยอื่น ๆ การเก็บข้อมูล และคาดการณ์ด้านการเกษตร
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านอาหารและการเกษตร ได้แก่ แอปพลิเคชัน Plants for U โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, แอปพลิเคชันสมุดทะเบียนเกษตรดิจิทัล FARMBOOK, แอปพลิเคชัน Happy Fresh ฯลฯ
7. บริการด้านการท่องเที่ยว (Travel) หนึ่งในบริการที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการออนไลน์มากกว่าช่องทางออฟไลน์ เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงในการวางแผนการเดินทางได้ดีกว่า ทั้งเรื่องของการจองที่พัก ทัวร์ และกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงการให้บริการปล่อยเช่าที่พักรายวัน-เดือน (Home Sharing) ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ เว็บไซต์ Agoda, Airbnb, Booking, Expedia, Gowabi ฯลฯ
8. บริการด้านอุตสาหกรรม (Industry) บริการเฉพาะกลุ่มที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (IT Solution) เช่น การใช้ IoT หรือ Internet of Things (อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) เพื่อควบคุมการผลิตผ่านแอปพลิเคชัน การประเมินหรือวิเคราะห์ผลข้อมูล รวมทั้งในกลุ่มการก่อสร้าง (Construction) ที่ช่วยในเรื่องของการออกแบบและคำนวณโครงสร้าง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณต้นทุนการก่อสร้างที่เหมาะสม
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านอุตสาหกรรม ได้แก่ BIMx แอปพลิเคชันเพื่อการออกแบบบ้าน Billing Flow แอปพลิเคชันสำหรับจัดทำใบเสร็จรับเงิน Stock Flow แอปพลิเคชันบริหารจัดการสต๊อกสินค้า ฯลฯ
9. บริการด้านการศึกษา (Education) ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้ทุกโรงเรียนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ (e-Learning) ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้บริการด้านการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากในเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ ยังรวมไปถึง บริการหาข้อมูลงานวิจัยหรือห้องสมุดออนไลน์ บริการจัดเก็บข้อมูล สถิติ หรือการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานการศึกษา (School Management) และการจัดหาบุคลากรให้ตรงความต้องการด้านการศึกษา (Career Counselling)
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านการศึกษา ได้แก่ Coursera เว็บไซต์สำหรับการเรียนออนไลน์ Google Classroom แอปพลิเคชันห้องเรียนออนไลน์ Nearpod แอปพลิเคชันสําหรับบริหารจัดการสื่อการเรียนการสอน ฯลฯ
10. บริการด้านเพลง ศิลปะ และนันทนาการ (Music, Art and Recreation) บริการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเพื่อความบันเทิง เช่น เพลง ศิลปะ นันทนาการ งานอีเวนต์ ที่โดยส่วนมากจะเป็นการซื้อขายตั๋วเข้าชมงานต่าง ๆ (Event and Ticket) ผ่านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการในแต่ละเจ้า
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านเพลง ศิลปะ และนันทนาการ ได้แก่ เว็บไซต์ Eventpop, Zipevent ฯลฯ
11. บริการด้านบริการธุรกิจ (Business Services) กลุ่มผู้ให้บริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจโดยเฉพาะ เช่น การขนส่งของภาคธุรกิจ (Logistic for Business) การจัดการทรัพยากรบุคคล (Job Matching/Freelancing)
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการด้านบริการธุรกิจ ได้แก่ JobDB เว็บไซต์หางาน, Trello แอปพลิเคชัน Dashboard หรือ กระดานสรุปข้อมูล, Dropbox เว็บไซต์สำหรับการฝากและแชร์ไฟล์ ฯลฯ
ที่มา:
เมื่อธุรกิจต้องอยู่รอด โดยเข้าถึงผู้รับบริการหรือผู้บริโภค และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคดิจิทัลและยุค New Normal ของผู้คนให้มากขึ้น