ETDA
- 18 Mar 20
-
976
-
เรื่องเล่า ทสรช. ตอน โรงเรียนสร้างอาชีพ อีคอมเมิร์ซสร้างโอกาส
คำบอกเล่าจากคณะคุณครูผู้ดูแลโครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช. ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน ที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนหลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่การดำเนินการระยะที่ 1 (ปี พ.ศ.2559) จนถึงปัจจุบัน
สถานศึกษาแห่งโอกาสและการสร้างอาชีพ
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน สถานศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กจากชนเผ่าต่าง ๆ กว่า 11 ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง เมี่ยน ลัวะ ลาวบ้านโคก พื้นราบ ไทยยวน ไทยพวน ไทลื้อ ขมุ ถิ่น และมลาบรี ทำให้เป้าหมายของการจัดการศึกษามุ่งเน้นที่การพัฒนานักเรียนให้มีความรู้และทักษะการดำรงชีวิต สามารถประกอบอาชีพและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข นอกจากการเรียนรู้ในวิชาสามัญ ทางโรงเรียนจึงมีการจัดการสอนวิชาชีพต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น วิชาการผลิตเครื่องเงิน วิชาคหกรรมสาขาอาหารและโภชนาการ วิชาหัตถกรรมพื้นบ้าน ช่างมัดย้อม ช่างไม้ นวดแผนไทย เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพให้แก่นักเรียน
(ภาพผลงานสินค้าของนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่านที่มา - เฟซบุ๊กแฟนเพจ: PhanDoi56 - ปั้นดอย 56)
“ปั้นดอย 56” ศูนย์รวมทักษะและผลิตภัณฑ์จากสองมือ
เมื่อนักเรียนมีความชำนาญจนสามารถผลิตสินค้าจากทักษะอาชีพแขนงต่าง ๆ ที่ทางโรงเรียนได้เปิดสอน ทางโรงเรียนจึงได้นำสินค้าเหล่านั้นมาจัดจำหน่าย เพื่อช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียนและโรงเรียน ให้แก่ผู้ที่สนใจบอกต่อแบบปากต่อปาก รวมถึงการเข้าร่วมออกบูทในงานต่าง ๆ จนในที่สุดก็เกิดเป็นแบรนด์ ปั้นดอย 56 จัดจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เครื่องเงินน่าน ผ้าทอน่าน กาแฟน่าน ผ้ามัดยอมคราม ฯลฯ
“พอเราเข้าร่วมโครงการการใช้ไอซีทีเพื่อสร้างรายได้ ทำให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย”
- ครูสุนิตา ไชยชนะ (ครูผู้ดูแลโครงการประจำ)
ขยายโอกาสสร้างรายได้ ด้วย อีคอมเมิร์ซ
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน เข้าร่วม โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช. เพื่อนำสินค้าของนักเรียนขายผ่านช่อนทางออนไลน์ตั้งแต่การเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการในระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2559 โดยครูและนักเรียนภายในโรงเรียนได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับพื้นฐานการขาย การตลาดออนไลน์ เช่น การสร้างเรื่องราวให้แก่สินค้าให้น่าสนใจเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า การถ่ายภาพสินค้าให้โดดเด่น การจัดทำโลโก้สินค้าให้มีเอกลักษณ์ ส่งผลให้สินค้า ปั้นดอย 56 เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ทางโรงเรียนได้อย่างน่าพอใจ
“หลังจากเข้าสู่โครงการนักเรียนมีความสนใจในเรื่องไอซีทีมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องธุรกิจออนไลน์เพราะเป็นการต่อยอดความคิดของนักเรียนโดยมีเราร่วมส่งเสริมเขา”
- ครูภิรญา สอนศิริ (ครูผู้ดูแลโครงการประจำ)
รู้หรือไม่?
- โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 สามารถทำยอดขายได้ติดอันดับ TOP 3 ของโรงเรียนขายดี ที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ ทสรช. ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2
- ตลอดระยะเวลาที่ร่วมกิจกรรมของโครงการในระยะที่ 1 (ส.ค. 59 - ม.ค. 60) โรงเรียนสามารถสร้างรายได้กว่า 2,410 บาท ผ่านช่องทางออนไลน์
- ในการร่วมกิจกรรมของโครงการระยะที่ 2 (ก.ย. 60 - ม.ค. 61) โรงเรียนสามารถก้าวกระโดดเป็นโรงเรียนที่สามารถสร้างรายได้ได้สูงสุดอันดับที่ 1 คิดเป็นมูลค่า 55,890 บาท
บทความที่เกี่ยวข้องโครงการ :