AIGC
- 25 พ.ย. 67
-
213
-
ดีเดย์ 4 ธ.ค.นี้ - กระทรวง ดีอี นำทัพ ‘อว.- ศธ.’ ผนึก UNESCO เตรียมแถลงข่าวเจ้าภาพร่วม จัดงานระดับโลก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025”
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เตรียมจัดงานแถลงข่าว “Official Launch Event for the 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025: Ethical Governance of AI in Motion” and “Thailand’s Artificial Intelligence Readiness Assessment Methodology” ในวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 9.00 น. – 15.00 น. ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เพื่อประกาศความร่วมมือหลังประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมกับ UNESCO ในการจัดงานระดับโลก UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“Ethical Governance of AI in Motion" ตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนจริยธรรม ในการยกระดับการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ของโลก สู่การปฏิบัติจริง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างยั่งยืน โดยในงานได้รับเกียรติจากผู้นำ และผู้บริหารระดับของไทยและต่างประเทศ อาทิ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาค ยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมปาฐกถาพิเศษถึงความพร้อมในการจัดงาน ตลอดจนการแสดงวิสัยทัศน์ มุมมองถึงทิศทางการขับเคลื่อนจริยธรรม AI ในเวทีสากล
นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าว ยังเปิดเวทีแสดงจุดยืนถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม สอดคล้องตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment หรือ UNESCO RAM กรอบการประเมินความพร้อมด้าน AI ที่ได้รับการยอมรับในนานาชาติ และมีหลายประเทศสมาชิกได้นำไปประยุกต์ใช้งานตามบริบทของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการนำมา UNESCO RAM ประยุกต์ใช้ในบริบทของไทย รวมไปภายในงานยังมีการจัดเสวนาเชิงลึกจากผู้นำและผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ.NECTEC, ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผอ.ETDA, ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA, ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รอง ผอ.สวทช.
ผู้สนใจสามารถติดตามงานแถลงข่าวผ่านการถ่ายทอดสด ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงาน ได้ที่เพจ ETDA Thailand (https://www.facebook.com/ETDA.Thailand)