AIGC
- 05 ส.ค. 67
-
16
-
การประชุม “2nd International Policy Advisory Panel [IPAP] 2024"
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาศูนย์ AI Governance Center by ETDA หรือ AIGC ได้จัดประชุม " 2nd International Policy Advisory Panel [IPAP] 2024" ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งที่ 2 ของปีนี้ เพื่อสรุปภาพรวมความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญของศูนย์ AIGC รวมถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์จากคณะที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ IPAP ในเรื่อง Next Frontiers in Data, AI, and Governance Research & Policy
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid โดย Prof. Dr. Urs Gasser (TUM, Germany) ประธานในที่ประชุม ร่วมกับ นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์, ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ และ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม Fego ชั้น 15 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) โดยมี Prof. Dr. Albert Bifet, Prof. Dr. Christian Fieseler, Prof. Dr. Peter Parycek, Prof. Dr.Kerstin Vokinger และ Dr. Sandra Cortesi เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงคณะ AIGC Fellow เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมในครั้งนี้ด้วย
การประชุม 2nd International Policy Advisory Panel [IPAP] นี้ ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สพธอ. ได้กล่าวถึงผลดำเนินกิจกรรมสำคัญที่ผ่านมาของศูนย์ AIGC เช่น ความร่วมมือระหว่างศูนย์ AIGC กับองค์กรระดับนานาชาติในด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) นอกจากนั้นศูนย์ AIGC ยังมีบทบาทสำคัญที่จะเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ของ OECD Working Party on Artificial Intelligence Governance (AIGO) และ ASEAN Working Group on AI Governance อีกด้วย ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึงผลตอบรับที่ดีเยี่ยมจากการจัดหลักสูตร AI Governance Program (AiX) for Healthcare รุ่นที่ 2 สำหรับผู้บริหารและหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับกลางจนถึงผู้ปฏิบัติงาน AI Change Agent programs ทั้ง 2 รุ่น ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความรู้ให้กับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยในด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์
ประเด็นสำคัญจากประชุมครั้งนี้ Prof. Dr. Urs Gasser (TUM, Germany) ประธานการประชุมและคณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ IPAP ได้มีการหารือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ AI capacity building, AI Literacy, and training ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นไปที่การพัฒนาความรู้และทักษะความสามารถในด้านการใช้ AI ให้กับประชาชน องค์กรต่าง ๆ รวมถึงเยาวชน ทั้งนี้ยังได้หารือถึงประเด็นนวัตกรรมและ AI รวมถึงโมเดล Open source ซึ่งส่งผลทางสังคม เช่น ความยั่งยืน ความโปร่งใสในการใช้ข้อมูล เป็นต้น รวมถึงมีการหารือในประเด็นอื่น ๆ ที่ควรคำนึงถึงในการกำกับดูแลการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ AI ในทางการแพทย์ เป็นต้น
โดยข้อเสนอแนะและข้อมูลจากการหารือของคณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานในระยะถัดไปของศูนย์ AIGC เพื่อส่งเสริมการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้อย่างมีธรรมาภิบาลในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้าน ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ในระดับภูมิภาคหรือนานาชาติต่อไป