Cybersecurity
- 11 ธ.ค. 63
-
1791
-
ETDA จัด Cyber SEA Game 2020 ปั้นคนอาเซียนรุ่นใหม่ด้าน Cybersecurity ต่อเนื่อง ปีนี้ สิงคโปร์ คว้าชัย
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ภารกิจของ ETDA คือการส่งเสริมและดูแลให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัย ดังนั้น การยกระดับทักษะกำลังคนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ให้มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นอีกยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงานขององค์กร
ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลต่อการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ซึ่งนำมาสู่การใช้ระบบออนไลน์เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีบุคลากรที่รับการพัฒนาเกินเป้าหมาย (1,161 คน จากเป้าอย่างน้อย 1,000 คน) และยังมีการจัดฝึกซ้อมรับมือภัยคุกคามไซเบอร์สำหรับหน่วยงานด้านสาธารณสุข โดยมีบุคลากรจาก 44 หน่วยงาน เข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับประชาชนทั่วไป นอกจากมี ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ที่ทำหน้าที่แจ้งเตือนและให้ข้อแนะนำในการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์แล้ว ETDA ยังได้จัดทำคู่มือ คนไทยรู้ทันภัยไซเบอร์ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงภัยคุกคามต่าง ๆ และมีแนวทางในการป้องกันและแก้ไขเมื่อเผชิญปัญหา
ETDA ยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินงาน ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre หรือ AJCCBC) ด้วยทุนสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น JAIF: Japan-ASEAN Integration Fund มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งได้พัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์ AJCCBC ยังได้สนับสนุน กิจกรรมการแข่งขัน Cyber SEA Game ที่นำสุดยอดฝีมือด้าน Cybersecurity ที่เป็นคนรุ่นใหม่จาก 10 ประเทศอาเซียน อายุไม่เกิน 29 ปี ที่เรียนหรือทำงานเกี่ยวกับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้มาร่วมประลองฝีมือ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ETDA โดยศูนย์ AJCCBC ได้จัดกิจกรรมการแข่งขัน Cyber SEA Game 2020 ขึ้น โดยกิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และด้วยสถานการณ์โควิด-19 การแข่งขันในปีนี้จึงจัดในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Cloud Server ที่มี Operator คอยดูแลระบบตลอดเวลา ผ่านโจทย์ที่ท้าทายในรูปแบบ Capture the Flag (CTF) ที่ทีมผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมต้องพยายามแฮกเพื่อบุกเข้าไปชิงข้อมูลหรือพื้นที่ของคู่ต่อสู้ทีมอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามป้องกันพื้นที่ของตนไม่ให้ทีมผู้เข้าร่วมแข่งขันทีมอื่น ๆ เข้ามาแฮกข้อมูลหรือพื้นที่ของทีมตนได้
นับเป็นการแข่งขันที่ไม่เพียงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จากประเทศสมาชิกอาเซียนได้โชว์ศักยภาพความสามารถในการรับมือภัยไซเบอร์ แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอีกด้วย
ปี 2563 นี้ มีประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมส่งตัวแทนร่วมแข่งขันทั้งหมด 9 ประเทศ ประเทศละ 1 ทีม ทีมละ 4 คน รวม 36 คน ยกเว้นประเทศมาเลเซีย ที่ไม่ได้ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน ผลปรากฏว่า ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ สิงคโปร์ ได้รับรางวัล Amazon e-gift card มูลค่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ รองชนะเลิศ คือ เวียดนาม ได้รับรางวัล Amazon e-gift card มูลค่า 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ รองชนะเลิศ อันดับ 2 คือ อินโดนีเซีย ได้รับรางวัล Amazon e-gift card มูลค่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 3
อันดับ |
ทีม |
คะแนนรวม |
1 |
สิงคโปร์ |
3,080 |
2 |
เวียดนาม |
2,970 |
3 |
อินโดนีเซีย |
2,440 |
4 |
ไทย |
2,030 |
5 |
บรูไน |
750 |
6 |
เมียนมา |
560 |
7 |
ฟิลิปปินส์ |
440 |
8 |
กัมพูชา |
330 |
9 |
สปป.ลาว |
200 |
Cyber SEA Game เวทีส่งเสริมสุดยอดฝีมือด้าน Cybersecurity ที่เป็นคนรุ่นใหม่จาก 10 ประเทศอาเซียน