Digital Transformation
- 21 ธ.ค. 63
-
2274
-
สตง. จับมือ ETDA - สวทช. จัดงาน “ปี 64 ถึงทีบอกลากระดาษ”
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมจัดแถลงข่าว สตง. นำร่อง ปี 64 ถึงทีบอกลา “กระดาษ” ผนึกความร่วมมือผลักดันการพัฒนาระบบการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน รวมถึงการนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ จากกระดาษ สู่ดิจิทัล เมื่อเช้าที่ผ่านมา (21 ธันวาคม 2563) ณ ETDA
ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. เปิดเผยว่า สตง. มีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับงานการตรวจสอบ โดยเฉพาะด้านการเงินที่มีหลายหน่วยงานของภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้รับการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ โดยการนำระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในระบบงานตรวจสอบ เพื่อให้การออกเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบทางการเงินของหน่วยงานราชการสามารถทำผ่านระบบได้
ดังนั้น สตง.จึงร่วมกับ ETDA ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาดูแลพัฒนาระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของ สตง.และหน่วยงานที่รับตรวจให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง มีมาตรฐาน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และ สวทช. ซึ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบการทำงานให้อยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาร่วมกันสร้างระบบการตรวจสอบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มนำร่องระบบการตรวจสอบในหน่วยงานของ สวทช. เป็นที่แรก ก่อนขยายผลไปยังหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
และหากหน่วยงานของภาครัฐดำเนินงานผ่านระบบดิจิทัลได้ทั้งหมดก็จะทำให้การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่สำคัญยังทำให้การตรวจสอบการเงินมีความรวดเร็ว สามารถตรวจสอบการใช้เงินได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องรอสิ้นปีและยังมีความละเอียด ตรวจสอบได้ทุกรายการมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การใช้เงินแผ่นดินมีความคุ้มค่า โปร่งใส
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า บทบาทของ ETDA ในความร่วมมือครั้งนี้คือ การทำให้กระบวนการตรวจสอบ เชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลหรือเอกสารที่ได้รับนั้นมีความถูกต้อง มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่มีการแก้ไขระหว่างทาง ซึ่ง ETDA จะเข้าไปสนับสนุนในเชิงกระบวนการทำงานของระบบเอกสารอิเล็กทริกนิกส์และการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะเอามาใช้ในการรับส่งข้อมูล ซึ่งได้ส่งทีมกฎหมาย ทีมมาตรฐาน และทีมไอที เข้าไปปรับปรุงระบบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบ ทั้งในส่วนของ สตง.และ สวทช.
- ทีมกฎหมาย เข้าไปดูแลในเรื่องของกฎระเบียบของการดำเนินงานทั้งหมด ทั้งเรื่องเอกสาร การลงลายมือชื่อ ว่ามีความสอดคล้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
- ทีมมาตรฐาน เข้าไปดูแลในเรื่องของข้อมูล กระบวนการต่าง ๆ ให้ได้รับการยืนยันความถูกต้อง ความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล
- ทีมไอที เข้าไปช่วยสนับสนุนด้านเทคนิค ในเรื่องของเครื่องมือที่จำเป็นต่อการใช้งานระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความพร้อมมากที่สุด
การดำเนินงานของ ETDA ครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ
- ระยะแรก เน้นให้คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการตรวจสอบ เกิดความคุ้นเคยกับระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จากเดิมที่ขอรับข้อมูลเอกสารหลักฐานจากหน่วยรับตรวจสอบเป็นกระดาษ ก็เปลี่ยนมาขอเป็นแบบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขั้นนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
- ระยะถัดไป ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทำให้ไม่ต้องขอหรือรับส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่จะสามารถดึงข้อมูลเอกสารมาตรวจสอบผ่านระบบได้เลยตรง ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือ เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนดมากยิ่งขึ้น
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. การปฏิรูปการทำงานในอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เพียงทำให้การใช้กระดาษ รวมถึงงบประมาณต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องลดลงอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหางบประมาณที่สูญเสียไปกับการดูแล เก็บรักษาเอกสารสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้ อุปกรณ์ หรือแม้แต่สถานที่ในการเก็บรักษาได้อีกด้วย และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเกิดประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมได้นั้น จะต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมทักษะการใช้งานสำหรับผู้ตรวจและผู้รับตรวจ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการใช้งานระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงปลอดภัยในการตรวจสอบ นอกเหนือจากการพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งหากเราทำสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น จะทำให้เกิดการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคัญ คนทำงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปที่ทุกคนต้องทำงานที่บ้าน ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานรัฐจึงต้องเตรียมความพร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น
ทั้งนี้ สวทช. หวังว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สามารถรับการตรวจสอบการใช้เงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ที่จะสามารถนำไปต่อยอด ปรับปรุงงาน สร้างระบบแนะนำให้กับหน่วยรับตรวจอื่น ๆ และลดความผิดพลาดต่าง ๆ ในการตรวจโดยใช้ AI ในอนาคตได้
ปี 64 ถึงที หน่วยงานภาครัฐ บอกลา “กระดาษ”