TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

ข่าวประชาสัมพันธ์

4 ปี กฎหมายอำนวยความสะดวก เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาการออกเอกสารดิจิทัล เพื่อการให้บริการ e Service อย่างเต็มรูปแบบ

Digital Transformation Documents
  • 18 ธ.ค. 62
  • 1457

4 ปี กฎหมายอำนวยความสะดวก เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาการออกเอกสารดิจิทัล เพื่อการให้บริการ e Service อย่างเต็มรูปแบบ

จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี กระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนและสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน ส่งผลให้ประชาชนหรือภาคเอกชนได้รับความสะดวกจากการให้บริการของภาครัฐ


CHK_6556.png        CHK_6598.png

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการพัฒนาแนวทางการให้บริการภาครัฐ เรื่อง “4 ปี กฎหมายอำนวยความสะดวก สู่บริการภาครัฐไทยในยุคดิจิทัล” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาเรื่อง "นโยบายภาครัฐสู่การขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวก เพื่อประชาชน" เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 ธันวาคม 2562

ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เปิดเผยว่า หน่วยงานภาครัฐได้ปรับปรุงการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนและภาคธุรกิจ โดยสามารถลดขั้นตอนการดำเนินงานลงได้ 30–50% จำนวน 63 หน่วยงาน รวม 532 ใบอนุญาต ลดระยะเวลาการดำเนินงานเฉลี่ยได้ 41.71% โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานบริการที่สามารถลดระยะเวลาลงได้มากกว่า 70% มีจำนวน 41 ใบอนุญาต และรายการเอกสารที่เรียกจากประชาชน ลดลง 1,212 รายการ จากส่วนราชการ 58 หน่วยงาน รวม 530 ใบอนุญาต นอกจากนี้กรมการปกครองได้พัฒนาระบบโปรแกรมการคัดรับรองเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นภาษาอังกฤษ Single Sign-on โดยร่วมกับกรมการกงสุลจัดทำเอกสารราชการเป็นสองภาษา (ภาษาไทยควบคู่ภาษาอังกฤษ) จำนวน 12 ประเภท ซึ่งเอกสารทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนมีจำนวนการขอมากที่สุด โดยมีคนขอรับบริการ จำนวน 50,950 ฉบับ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสาร 20,380,000 บาท พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกการขอสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน โดยมีหน่วยงานที่สามารถยกเลิกการขอสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียน ได้ครบทุกงานบริการ จำนวน 60 หน่วยงาน

นอกจากนี้ได้ดำเนินการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเปลี่ยนการจัดทำเอกสารจากรูปแบบกระดาษไปสู่ข้อมูลดิจิทัล ส่งตรงถึงประชาชนผ่านสมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐกว่า 20 หน่วยงาน นำร่องพัฒนาเอกสารดิจิทัลใน 5 ประเภทเอกสาร ได้แก่
  • ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate)
  • บัตรที่ออกให้ประชาชน (e-Card)
  • ใบรับ/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt/e-Tax Invoice)
  • ใบรับรองแพทย์ (e-Medical Certificate) และ
  • ใบมอบอำนาจ (e-Proxy) โดยเน้นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้งานบริการภาครัฐง่ายและสะดวกขึ้น โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปซึ่งเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ จะเป็นการพิจารณาทบทวนยกเลิกใบอนุญาตให้เหลือเท่าที่จำเป็น รวมทั้ง จัดทำแนวทางและมาตรการเพื่อให้การบริการของรัฐตอบสนองต่อปัจเจกบุคคล ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

CHK_6620(1)-(1).png        CHK_6600(1).png

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งที่ผ่านมา ETDA ได้ประกาศมาตรฐานและข้อเสนอแนะมาตรฐานที่จำเป็น ทั้งด้านการเงินและการธนาคาร ด้านการค้าและการขน่สง ด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคงปลอดภัย ฯลฯ โดยได้นำไปใช้กับเอกสารสำคัญในหลายกรณี เช่น ใบอนุญาตส่งออกอ้อยน้ำตาล ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กว่า 300,000 ใบ และใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบริการ e-Tax Invoice by Email สำหรับผู้ประกอบการที่ขนาดรายได้ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบเอกสารผ่านระบบได้ มียอดการใช้แล้วกว่า 140,000 ใบ

 

ในการรองรับการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล ETDA ยังได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น
  • บริการ e-Timestamping ระบุเวลาที่เอกสารได้รับการสร้างขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้หากเอกสารนี้ได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีปริมาณการใช้งานสะสมจำนวน 1,512,741 เอกสาร จากหน่วยงานสำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ สำนักงานศาลปกครอง
  • บริการสำหรับการตรวจสอบมาตรฐานของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่อดิจิทัลที่เชื่อถือได้ผ่านช่องทาง Web Portal (valiation.teda.th) ซึ่งรองรับการตรวจสอบเอกสาร ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และเอกสารแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)
  • บริการลงทะเบียนข้อความมาตรฐานเพื่อเผยแพร่มาตรฐานข้อมูลกลางของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกผ่านระบบดิจิทัลโดยหน่วยงานของรัฐ และ
  • ซอฟต์แวร์ในลิขสิทธิ์การใช้งานแบบ OpenSource สำหรับสร้างเอกสารดิจิทัล
นอกจากนั้น ETDA ยังเข้าไปนำร่องสนับสนุนการออกหนังสือสำคัญเป็นอิเล็กทรอนิกส์ในหลายหน่วยงาน เช่น การพัฒนาใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) กับโรงพยาบาลศิริราช กรมวิชาเกษตร และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในการรับบริการของประชาชน และคาดกว่าจะลดค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์เอกสารของหน่วยงานได้หลายล้านบาทต่อปี

Standard.jpg

ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) กล่าวว่า สำนักงานรับผิดชอบในส่วนของการให้คำปรึกษา และสนับสนุนให้หน่วยงาน พัฒนาการออกเอกสารราชการผ่านระบบดิจิทัล ครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษาในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการ (Digital Transformation) และการปรับปรุงระบบดิจิทัลที่หน่วยงานมีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถออกเอกสารดิจิทัลตามรูปแบบที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ ETDA กำหนด รวมทั้ง ได้จัดทำแพลตฟอร์ม Government Data Exchange ให้เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ทุกส่วนราชการสามารถใช้ในการส่งต่อและแลกเปลี่ยนเอกสารดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเอกสารดิจิทัลเหล่านี้ไปใช้ในการบริการประชาชน หรือการดำเนินงานอื่น ๆ ตามภารกิจของตนได้ ภายใต้มาตรฐาน และแนวทางเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางสำหรับบริการภาคธุรกิจ (Biz Portal) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอรับบริการต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ถึง 78 ใบอนุญาต จาก 25 ธุรกิจ และภายในปี 2563 นี้ สำนักงานจะขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางให้รองรับการบริการสำหรับภาคประชาชน และการให้บริการดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การยืนยันตัวบุคคล การยื่นคำขอ การชำระค่าธรรมเนียม และการรับใบอนุญาตในรูปแบบดิจิทัลต่อไป

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)