ITA
- 30 ส.ค. 64
-
1970
-
ETDA คว้ารางวัล ITA Awards 2021 สูงสุดในองค์การมหาชน ระดับ AA ที่ 98.91 คะแนน
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับรางวัล ITA Awards 2021 ผลประเมินสูงสุดที่ 98.91คะแนน อยู่ในระดับ AA ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับคะแนนประเมินสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในประเภทองค์การมหาชน จากจำนวนหน่วยงานองค์การมหาชนที่เข้าร่วมการประเมิน ITA รวมทั้งสิ้น 55 หน่วยงาน ในการประกาศผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
นับเป็นการสร้างสถิติคะแนนประเมินสูงสุดใหม่ของ ETDA ตั้งแต่เข้าร่วมประเมิน ITA จนถึงปัจจุบัน เป็นผลจากความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย ภายใต้เจตจำนง พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยความครบถ้วน ถูกต้อง โปร่งใส
หลักการและจุดมุ่งหมายของการประเมิน ITA
การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือในเชิงบวกที่มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์ เปรียบเสมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรประจำปี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศได้รับทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร
ผลการประเมินที่ได้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการปฏิบัติงาน การให้บริการ และการอำนวยความสะดวกต่อประชาชน อีกทั้งยังเป็นปรโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการจัดทำแนวทางมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในปีงบประมาณต่อไปได้ด้วย
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ การประเมิน TA ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ของการดำเนินการและเป็นปีที่ 4 ที่ได้มีการปรับเข้าสู่การประเมินในรูปแบบออนไลน์อย่างเต็มระบบ ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐได้เกิดความตระหนักในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน เกิดความตระหนักใน การบริหารงานและกำกับดูแลการดำเนินงานให้มีคุณธรรม ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมานั้น หน่วยงานได้มีพัฒนาการในทางปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาเว็บไซต์ของตนเองให้ทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานมีการจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้
การประเมิน ITA เป็นการประเมินด้านธรมาภิบาลและการบริหารจัดการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมการประเมิน จำนวน 8,300 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ดังนั้นการขับเคลื่อนการประเมิน TA จึงจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่มีบทบาทกำกับติดตามหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสถาบันการศึกษาที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ประเมิน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
กรอบแนวคิดและระเบียบวิธีการประเมิน ITA
ส่วนที่ 1 การเก็บข้อมูลจากบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐทุกระดับที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานตนเอง โดยสอบถามการรับรู้และความคิดเห็นใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่
- ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่
- ตัวชี้วัดที่ 2 การใช้งบประมาณ
- ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ
- ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ
- ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต
ส่วนที่ 2 การเก็บข้อมูลจากผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐ (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยสอบถามการรับรู้และความคิดเห็นใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่
- ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน
- ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร
- ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงระบบการทำงาน
ส่วนที่ 3 การเปิดเผยข้อมูลทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) เป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เผยแพร่ไว้ทางหน้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน โดยมีคณะที่ปรึกษาการประเมิน ITA ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและคนกลาง (third party) เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลและให้คะแนน พร้อมข้อเสนอแนะตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนด แบ่งออกเป็น 2 ตัวชี้วัด ได้แก่
- ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล
- ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต
ผลคะแนนรายประเภทหน่วยงาน และผลคะแนน ETDA
ผลการประเมิน ITA 2564 รายประเภท ซึ่งมี 8 ประเภทหน่วยงาน พบว่า ประเภทหน่วยงานที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุดคือ ประเภทรัฐวิสาหกิจ คะแนนเฉลี่ย 93.31 คะแนน ขณะที่หน่วยงานประเภทอื่นๆ ก็มีคะแนนเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกันนัก ทั้งนี้ ในประเภทที่ 4 คือ องค์การมหาชน มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.26 คะแนน สำหรับหน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุดในประเภทนื้ คือ ETDA มีผลการประเมิน 98.91 คะแนน โดย ETDA ได้ 100% เต็มในตัวชี้วัดที่ 9 และ 10
นอกจากนี้ ETDA ยังมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานภายในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งร่วมประเมิน 8 หน่วยงาน
อีกทั้งยังมีส่วนร่วมผลักดันกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายในกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งทำให้กระทรวงฯ อยู่ในอันดับ 1 ของประเภทกระทรวงด้วย
ปี 65 ยังยืนยันเจตจำนง "พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยความครบถ้วน ถูกต้อง โปร่งใส"
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ที่กำลังจะมาถึง ETDA ยังยืนยันเจตจำนง "
พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยความครบถ้วน ถูกต้อง โปร่งใส" เดินหน้าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานปี 2565 รองรับการทำงานทุกรูปแบบของพนักงาน ไม่ว่าจะในสำนักงานหรือการปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from Home)
รวมพลังทุกส่วนงาน ผู้บริหาร-พนักงาน เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนมีทัศนคติ ค่านิยม ในการปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต พร้อมจัดมาตรการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา ประกาศผลการประเมิน ITA 2564
ETDA พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยความครบถ้วน ถูกต้อง โปร่งใส