1. หลักการเหตุผล/ความเป็นมา
|
หลักการเหตุผล/ความเป็นมา เป็นการอธิบายถึงที่มาและความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินโครงการซึ่งสามารถอธิบายได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นโครงการที่มีความสอดรับกับนโยบายของภาครัฐและมีความเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาประเทศ เป็นการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงาน เป็นการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ เป็นการดำเนินการเนื่องจากเป็นโอกาสในการพัฒนา หรือเป็นการดำเนินการเนื่องจากรูปแบบปัจจุบันมีอุปสรรคที่ต้องปรับปรุง เป็นต้น
|
2. วัตถุประสงค์
|
วัตถุประสงค์เป็นการระบุเป้าหมายที่ต้องการจากการดำเนินโครงการ ซึ่งควรจะตอบที่มา/เหตุผลที่ให้ไว้ในหัวข้อก่อนหน้าได้
|
3. ขอบเขตการดำเนินงาน
|
ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการที่จะพัฒนาใบอนุญาต/เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-License/e-Document) จะต้องครอบคลุมกิจกรรมหลักที่สำคัญประกอบด้วย 2 มิติ คือ
- มิติด้านขีดความสามารถของระบบการออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะครอบคลุมการคัดเลือกเอกสารที่จะพัฒนาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ การออกแบบโครงสร้างข้อมูล (XML Schema) การเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของระบบงานเดิม การพัฒนาแบบร่างของเอกสาร การสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ PDF/A-3 และการใช้ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)
- มิติในเรื่องของการออกแบบและพัฒนาระบบ ซึ่งจะครอบคลุมการเก็บรวบรวมปัญหาและความต้องการใช้งานในปัจจุบัน (Requirement Analysis) การออกแบบระบบ (Design) การพัฒนาระบบ (Build) การทดสอบระบบ (Test) และการติดตั้งเข้ากับระบบหลักของหน่วยงาน (Deploy) พร้อมทั้งจัดให้มีการอบรมการใช้งานระบบ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในจำนวนครั้งที่เหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้ระบบ
|
4. คุณสมบัติของบุคลากรในโครงการ
|
คุณสมบัติของบุคลากรในโครงการจะมีการระบุคุณสมบัติสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับงานเพื่อดำเนินโครงการ ซึ่งรายละเอียดโดยพื้นฐานจะเป็นการระบุเพื่อยืนยันความสามารถในการปฏิบัติงานได้ และสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องการที่ปรึกษา ควรที่จะคัดเลือกที่ปรึกษาที่มีการขึ้นทะเบียนกับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย และมีความเชี่ยวชาญในสาขา ICT : เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อคัดกรองที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่มีความสอดคล้องกับบริบทของโครงการ
|
5. สิ่งที่ส่งมอบและกำหนดเวลาส่งมอบ
|
สิ่งที่ส่งมอบและกำหนดเวลาส่งมอบ จะเป็นการระบุรายละเอียดโดยให้ความสำคัญกับเนื้อหาและผลงานที่ต้องเกิดขึ้นในแต่ละงวดงานที่ต้องมีการส่งมอบ โดยในงวดที่ 1 โดยมากจะขอให้มีการเสนอแผนงานและวิธีการดำเนินงาน พร้อมทั้งระบุความเสี่ยงและแนวทางรับมือความเสี่ยงของโครงการ และงวดที่เหลือ จะเป็นการแบ่งงวดงาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและปรับปรุงผลการดำเนินการได้เป็นระยะ จนกว่าจะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย
|
6. หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้รับงาน
|
หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้รับงานเป็นการแจ้งให้ผู้ที่ต้องการเข้ารับงานรับทราบหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งโดยทั่วไปจะพิจารณาจาก 2 ส่วน คือ
- การให้คะแนนทางด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วย ประวัติและผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ บุคลากรที่เสนอดำเนินงานในโครงการ และข้อเสนอทางด้านเทคนิค
- การให้คะแนนจากข้อเสนอทางด้านราคา
|