e-Payment
การทำระบบ e-Payment จะทำให้ธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความมั่นคงให้กับระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในด้าน
- ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย (Competitiveness)
- อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)
- ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index : HDI)
1. ช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
กระบวนการชำระเงินระหว่าง ผู้จ่าย/ผู้โอนเงินไปยังผู้รับเงินโดยเป็นการโอนสิทธิการถือครองเงินหรือการโอนสิทธิการถอนเงิน หรือหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการที่เปิดไว้กับผู้ให้บริการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นผ่านสื่อ และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโอนผ่านทางATM บัตรเครดิต บัตรเดบิต การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต การชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น
เครื่องเอทีเอ็ม
เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) เป็นเครื่องทำธุรกรรมทางการเงินอัตโนมัติของธนาคารพาณิชย์ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่ต้องการความรวดเร็วและความสะดวกสบาย เนื่องจากมีบริการที่หลากหลาย ทั้งบริการถอนเงิน สอบถามยอด โอนเงิน ซื้อ/ชำระค่าสินค้าและบริการ และเปลี่ยนรหัสบัตร ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น และจากผลสำรวจ Thailand Internet User Profile 2015 จะพบว่าการโอนเงินแบบออฟไลน์ผ่านเครื่อง ATM ได้รับความนิยมอันดับสองรองจากการโอนที่เคาน์เตอร์ธนาคาร
แผนภาพที่ 1 จำนวนเครื่องเอทีเอ็ม
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
จำนวนเครื่องเอทีเอ็ม ในปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 63,432 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งมี 61,614 เครื่อง โดยมี มีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.0 และเมื่อดูภาพรวมการเติบโตของในช่วงตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2558 พบว่า จำนวนเครื่องเอทีเอ็มมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี ร้อยละ 7.4 ดังแสดงตามแผนภาพที่ 1
เครื่องรับบัตร ณ จุดขาย (Electronic Fund Transfer at Point of Sale)
สำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการ นอกจากผู้ใช้บริการจะสามารถชำระด้วยเงินสดแล้ว ยังสามารถชำระผ่านเครื่องรับบัตร ณ จุดขาย (EFTPOS) ซึ่งติดตั้งที่ร้านค้า โดยใช้ผ่านบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิตและบัตรพลาสติกอื่นๆ
แผนภาพที่ 2 จำนวนเครื่องรับบัตร ณ จุดขาย (EFTPOS)
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
จำนวนเครื่องรับบัตร ณ จุดขายในปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 357,986 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจำนวน 340,179 เครื่อง ด้วยอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 5.2 ซึ่งต่ำกว่าในภาพรวมช่วงตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557 จำนวนเครื่องรับบัตร ณ จุดขาย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีร้อยละ 6.9
บัตรพลาสติก
บัตรพลาสติกต่างๆ ประกอบด้วย บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต ซึ่งเป็นบัตรที่ใช้ร่วมกับเครื่องเอทีเอ็มในการทำธุรกรรมทางการเงิน และเครื่องรับบัตร ณ จุดขาย (EFTPOS) ในการชำระค่าสินค้าและบริการจากร้านค้าที่ให้บริการ
แผนภาพที่ 3 จำนวนบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
การถือครองบัตรพลาสติกของประชากร ในปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 82.2 ล้านใบโดยมีการถือครองบัตรเดบิต สูงถึง 47.0 ล้านใบ คิดเป็นร้อยละ 57 ของการถือครองบัตรพลาสติกทั้งหมด โดยปัจจุบันเป็นที่สังเกตได้ว่าอัตราการเติบโตของบัตรเอทีเอ็ม ติดลบมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาซึ่งอาจจะมีสาเหตุจาก ธนาคาร พาณิชย์ ได้ มุ่ง ทำการ ตลาด ในการ ออกบัตร เดบิต ทั้ง การ ออก บัตร ใหม่ และ ทดแทน การ ออก บัตร เอทีเอ็ม แต่โดยภาพรวมถือครองบัตรพลาสติกยังมีอัตราการเติบโตโดยรวมตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2558 เติบโตร้อยละ 4.4
2. สถานภาพการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน
สถานภาพการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณการชำระเงินเนื่องมาจากมีการพัฒนาและส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนการใช้เงินสดและเช็ค เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของประเทศ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2557) โดยปัจจุบันมีช่องทางการให้บริการทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน และมิใช่สถาบันการเงิน รวมทั้งสิ้น 76 หน่วยงาน
การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย
การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย
การโอนเงินมูลค่าสูง (BAHTNET) การโอน เงินครั้งละหลายรายการ (Bulk Payment) การโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร (ORFT Inter Bank) การโอนเงินรายย่อยภายในธนาคารเดียวกัน (ORFT Intra Bank) การใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชําระเงิน (Payment Cards) และเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
ปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
แผนภาพที่ 4 ปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ** ข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและลดลงบางปีเล็กน้อยตามแหล่งข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2558 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 4,757.0 ล้านรายการ และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 9.0 โดยการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน (Payment cards) มีจำนวนปริมาณที่สูงที่สุดเป็น 2,625.3 ล้านรายการ คิดเป็นร้อยละ 55.2 ของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด นั้นแสดงถึงความนิยมในการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน แต่ถ้าดูอัตราการเติบโตกลับเป็นช่องทางที่มีอัตราการเติบโตในปี 2558 เป็นช่องทางที่เติบโตน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามรูปแบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2553-2558 เป็นต้นมา คือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 33.0 ต่อปี ทั้งนี้เพื่อช่วยให้มีความสะดวก รวดเร็ว เหมาะกับการชำระเงินจำนวนเงินที่ไม่สูงมากนักและลดความเสี่ยงการถือครองเงินสดมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่าง e-Money
แผนภาพที่ 5 มูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ** ข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและลดลงบางปีเล็กน้อยตามแหล่งข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 860,200,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมีมูลค่า 824,865,380 ล้านบาท ในอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยการโอนเงินผ่านระบบบาทเนต (BAHTNET) มีมูลค่าสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 92 ของมูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในปี 2558 โดยวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการชำระดุลระหว่างสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝากกับ ธปท.และเพื่อให้การโอนเงินสำหรับบุคคลที่สามมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือ เงินเล็กทรอนิกส์ (e-Money) โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 31.0 ต่อปี โดยผู้ใช้บริการได้ชำระเงินล่วงหน้าแก่ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ใช้บริการสามารถ นำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการแทนการชำระด้วยเงินสดตามร้านค้าที่รับชำระ ทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก และไม่เสียเวลารอเงินทอนอีกด้วยทำให้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน
ธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Internet banking และ Mobile banking
ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ได้มีการเพิ่มเติมช่องทางการให้บริการของธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet banking) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile banking) เช่น การโอนเงิน การสอบถามยอดเงิน ชำระค่าบริการต่างๆบริการเกี่ยวกับการตรวจดูรายการใช้จ่ายบัตรเครดิตย้อนหลังหรือแม้กระทั่งการพิมพ์รายการทางบัญชีที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาแบบไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร หรือตู้ ATM เพียงลูกค้ามีอุปกรณ์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำการรวบรวมข้อมูลทั้งปริมาณ และมูลค่าการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านช่องทาง Internet Banking และ Mobile Banking เพื่อให้เห็นถึงแนวโน้มของการเลือกช่องทางการใช้บริการของผู้ใช้บริการในยุคของดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างทั่วถึงและเพิ่มมากขึ้น
แผนภาพที่ 6 ปริมาณธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Internet banking และ Mobile banking
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ** ข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและลดลงบางปีเล็กน้อยตามแหล่งข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปริมาณการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านช่องทางบริการ Internet banking และ Mobile banking ในปี 2558 ที่สำคัญคือ ปริมาณการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile banking เพราะเติบโตและสูงกว่า Internet banking เป็นปีแรก โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 126.9 ต่อปี และอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยร้อยละ 76.6 ต่อปี
แผนภาพที่ 7 มูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Internet banking และ Mobile banking
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
มูลค่าของธุรกรรมการชำระเงินผ่านช่องทางบริการ Internet banking และ Mobile banking ในปี พ.ศ. 2558 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 20.2 และ 88.4 ตามลำดับ จะสังเกตุได้ว่าถึงแม้จะมีปริมาณการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile banking ที่สูงกว่า Internet banking แต่ก็ยังมีมูลค่าที่ยังต่ำกว่า แต่คาดว่าในอนาคต Mobile banking จะมีมูลค่าที่ใกล้กับ Internet banking มาขึ้นเรื่อยๆ เพราะพฤติกรรมและแนวโน้มจะเปลี่ยนไปทาง Mobile banking ที่เพิ่มมากขึ้น
ประกอบกับทิศทางของธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะต่อไป การพัฒนาระบบการชำระเงินจะมุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดความครอบคลุมและเข้าถึงผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคธุรกิจก้าวเข้าสู่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ซึ่งภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (Payment Systems Roadmap)ระยะที่ 4 จะมีทั้งในส่วนของการพัฒนาบริการชำระเงินรายย่อยรองรับภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาชน การมีช่องทางชำระเงินที่หลากหลายรองรับ e-Commerce/m-Commerce การบริการผ่าน Mobile ที่สะดวกรวดเร็ว (QR Code, เบอร์มือถือ) การใช้เครื่องรับบัตรร่วมกัน และกระจายเครื่องรับบัตร ซึ่งช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมพัฒนามาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขายสินค้า (e-Invoicing) มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงิน (Nation Payment Message Standard) ที่จะส่งผลให้ข้อมูลการค้าและข้อมูลการชำระเงินเชื่อมโยงกันได้โดยอัตโนมัติแบบ Straight-Through Processing ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจอีกด้วย