TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

สถิติและข้อมูล

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล Documents

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล

ความเป็นไปได้และความพร้อมของไทยในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
(Digital Economy Partnership Agreement: DEPA)

ความเป็นมา

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) ลงนามและมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและรูปแบบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยภาคีความตกลง DEPA อันได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี ได้ตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศดิจิทัล ความตกลง DEPA เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ประเทศดังกล่าวนำมาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนงานเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลโดยเฉพาะร่วมกัน ในขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเดินหน้าต่อเพื่อเร่งสมานบาดแผลที่โรคโควิด-19 ได้ทิ้งไว้กับระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมด้านสาธารณสุขของประเทศให้สามารถรองรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ตลอดจนฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและการค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ทั้งนี้ภายในอาเซียนนั้นมีสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 โดยเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศขนาดเล็กเช่นสิงคโปร์สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกในอนาคต รวมไปถึงล่าสุดได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำความตกลง DEPA กับไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าทางดิจิทัล อำนวยความสะดวกทางการค้า และพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพิจารณาจัดทำความตกลงดังกล่าวเพื่อก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่รองรับกิจกรรมและรูปแบบธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว รวมถึงกำหนดนโยบายและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการนำประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล

จากบทเรียนของสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี การจัดทำความตกลง DEPA และนำความตกลงไปสู่การปฏิบัติจะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าในยุคโควิด-19 ของไทย ความตกลง DEPA กำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ทางการค้าที่สามารถคาดการณ์ได้ รวมถึงกลไกอื่นๆ ที่อำนวยความสะดวกการค้าสินค้าและบริการของไทยไปทั่วทุกมุมโลก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวนั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดความจำเป็นในการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการพึ่งพาของประชาชนที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน และการพึ่งพาของภาคธุรกิจที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรม หรือกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการดำเนินธุรกิจและการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัลนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะกระจายความเสี่ยง เพิ่มความหลากหลายทางการค้า และยกระดับความสามารถของประเทศในการปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมในประเทศ

การจัดทำความตกลง DEPA เป็นหนึ่งในวิธีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าภาคีความตกลงตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาปัตยกรรมทางการค้า (Trade Architecture) ที่เน้นย้ำความสำคัญของระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน (rule-based system) การเติบโตที่รวดเร็วของการค้าดิจิทัลก้าวล้ำนำหน้าระเบียบและกฎเกณฑ์การค้าโลกที่มีอยู่เดิม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กฎเกณฑ์ทางการค้าที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและกฎระเบียบของประชาคมโลก จำเป็นต่อการฟื้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมถึงโลก ความตกลง DEPA จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการกำหนดกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับยุคดิจิทัล

สาระสำคัญของความตกลง DEPA

ความตกลง DEPA ระหว่างสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี เป็นความตกลงที่มีขอบเขตกว้างและครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลและการค้าดิจิทัลอย่างรอบด้านถึง 16 โมดูล (Module) เช่น การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการค้า การปฏิบัติต่อสินค้าดิจิทัลและสิทธิที่เกี่ยวข้อง ประเด็นด้านข้อมูล การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความยั่งยืน ความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภค ตัวตนทางดิจิทัล แนวโน้มและเทคโนโลยียุคใหม่ นวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล

 
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่