พระราชบัญญัติ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ. ๒๕๖๒
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๒”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกำกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้มีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนของรัฐด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ระบบงานเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ
สำนักงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
ให้สำนักงานเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
มาตรา ๕ นอกจากดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง ให้สำนักงานรับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๒) จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีการดำเนินการด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งทางการเงิน การค้า การลงทุน และการนำเข้าส่งออก รวมทั้งการให้บริการประชาชนของภาครัฐให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(๔) ศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการออกแบบสถาปัตยกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสนอแนะต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการกำหนดมาตรฐานเรื่องดังกล่าว
(๕) จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐาน และมาตรการหรือกลไกการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกันอย่างมีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ
(๖) กำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการให้การสนับสนุนการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว
(๗) วิเคราะห์และรับรองความสอดคล้องและความถูกต้องตามมาตรฐานหรือตามมาตรการหรือกลไกการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(๘) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางวิชาการหรือให้บริการที่เกี่ยวกับการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แก่หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และประชาชน รวมทั้งเผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(๙) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน
(๑๐) ฝึกอบรมเพื่อยกระดับของบุคลากรของสำนักงานและบุคคลภายนอกให้มีทักษะเกี่ยวกับมาตรฐาน ความมั่นคงปลอดภัย และการสร้างความน่าเชื่อถือในระบบและการให้บริการทางธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือคณะกรรมการมอบหมาย หรือตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา ๖ ในการดำเนินงานของสำนักงาน นอกจากหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติในมาตรา ๕ แล้ว ให้สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจทั่วไป ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทผูกพันทรัพย์สิน ตลอดจนทำนิติกรรมอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน
(๓) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของสำนักงาน
(๔) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่สำนักงานกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน หรือตามที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือคณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๗ ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงานประกอบด้วย
(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา ๓๕
(๒) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
(๓) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินงาน
(๔) เงินบริจาคจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศและเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๕) ดอกผลและผลประโยชน์หรือรายได้อื่นใดที่เกิดจากการดำเนินงานของสำนักงาน
ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและมาตรการบังคับทางปกครอง
มาตรา ๘ รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการกำกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนหกคน
ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินสองคน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างน้อยสามคน และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสำนักงาน
มาตรา ๑๐ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทย และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๕) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(๗) ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใด หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือลูกจ้างขององค์การเอกชนใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการและหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน
มาตรา ๑๑ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
มาตรา ๑๒ เมื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งใหม่ภายในหกสิบวัน ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๑ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
(๔) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ
มาตรา ๑๔ ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่และให้ดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๕ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ในการวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
กรรมการที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่มีการพิจารณาจะเข้าร่วมประชุมมิได้
การประชุมของคณะกรรมการอาจกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงาน
(๒) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดองค์กร การเงิน การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป การพัสดุ การตรวจสอบภายใน รวมตลอดทั้งการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ ของสำนักงาน
(๓) อนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน
(๔) ควบคุมการบริหารงานและการดำเนินการของสำนักงานและผู้อำนวยการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๕) แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ
(๖) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของผู้อำนวยการในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงาน
(๗) ประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงาน และการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อบังคับตาม (๒) ถ้ามีการจำกัดอำนาจผู้อำนวยการในการทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอกให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการได้
การปฏิบัติหน้าที่และจำนวนของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งหรือที่ปรึกษาตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ให้นำมาตรา ๑๕ มาใช้บังคับแก่คณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๑๘ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๙ ให้สำนักงานมีผู้อำนวยการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง มีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงาน
มาตรา ๒๐ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) อายุไม่เกินห้าสิบแปดปีบริบูรณ์
(๓) สามารถทำงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา
(๔) เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวกับภารกิจของสำนักงานและการบริหารจัดการ
(๕) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๖) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๗) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๘) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(๙) ไม่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามกฎหมาย
(๑๐) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
(๑๑) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
มาตรา ๒๑ ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
ก่อนครบกำหนดตามวาระการดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมไม่เกินสามคนต่อคณะกรรมการ
มาตรา ๒๒ ในแต่ละปีให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระยะเวลาและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๑ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์
(๔) คณะกรรมการให้ออก เพราะไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน มีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐ ยกเว้นกรณีมาตรา ๒๐ (๒)
มาตรา ๒๔ ให้ผู้อำนวยการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารงานของสำนักงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของสำนักงาน และตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนดังกล่าว นโยบายของคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการ และระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติของคณะกรรมการ
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ หรือประกาศของคณะกรรมการ
(๓) เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานตามระเบียบหรือข้อบังคับของสำนักงาน
(๔) แต่งตั้งรองผู้อำนวยการหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเพื่อเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานของผู้อำนวยการตามที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
(๕) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ หรือประกาศของคณะกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการรับผิดชอบในการบริหารงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ
มาตรา ๒๕ ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงาน ผู้อำนวยการอาจขอให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ มาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของผู้นั้น และมีข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติ และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานเป็นการชั่วคราวให้ถือว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใด ๆ
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานในสำนักงาน ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนในส่วนราชการหรือหน่วยงานเดิมไม่ต่ำกว่าตำแหน่งและเงินเดือนเดิมตามข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติ
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นกลับมาบรรจุและได้รับแต่งตั้งในส่วนราชการหรือหน่วยงานเดิมตามวรรคสองแล้ว ให้นับระยะเวลาของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นระหว่างที่มาปฏิบัติงานในสำนักงานสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานเต็มเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๘ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติงานชดใช้ทุนการศึกษาที่ได้รับจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่ได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ให้ถือเป็นการชดใช้ทุนตามสัญญา และให้นับระยะเวลาการปฏิบัติงานในสำนักงานเป็นระยะเวลาในการชดใช้ทุน
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐแห่งใดประสงค์จะขอให้พนักงานของสำนักงานซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติงานชดใช้ทุนการศึกษาที่ได้รับจากสำนักงานไปเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการก่อน และให้ถือว่าการไปปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นเป็นการชดใช้ทุนตามสัญญา และให้นับระยะเวลาการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นเป็นระยะเวลาในการชดใช้ทุน
มาตรา ๒๙ การบัญชีของสำนักงานให้จัดทำตามหลักสากล ตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๐ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงินและบัญชี แล้วส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานทุกรอบปีแล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อรับรอง
มาตรา ๓๑ ให้สำนักงานจัดทำรายงานการดำเนินงานประจำปีเสนอคณะกรรมการและรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และเผยแพร่รายงานนี้ต่อสาธารณชน
รายงานการดำเนินงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายละเอียดของงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นแล้ว พร้อมทั้งผลงานของสำนักงานและรายงานการประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานในปีที่ล่วงมาแล้ว
การประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานตามวรรคสอง จะต้องดำเนินการโดยบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
มาตรา ๓๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจ และตามกฎหมาย นโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อการนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ผู้อำนวยการชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือทำรายงานเสนอและมีอำนาจสั่งยับยั้งการกระทำของสำนักงานที่ขัดต่อหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน นโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของสำนักงานได้
ในกรณีที่ผู้อำนวยการฝ่าฝืนหรือไม่กระทำการตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
มาตรา ๓๓ ให้คณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๓๔ ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๕ เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นอันยกเลิก และให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง และงบประมาณของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นของสำนักงาน
ให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างที่โอนไปตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน จนกว่าจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงาน โดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิม
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างผู้ใดอยู่ภายใต้ระเบียบหรือสัญญาจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างมิให้ถือว่าการจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นสิทธิและประโยชน์ตามวรรคสอง
การบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างตามวรรคสองไม่ถือเป็นการออกจากงานเพราะสังกัดเดิมเลิกจ้าง
มาตรา ๓๖ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาใช้กับพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน จนกว่าจะมีข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๗ ในวาระเริ่มแรก กรณีที่งบประมาณซึ่งได้รับโอนมาตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง ไม่เพียงพอแก่การดำเนินงานของสำนักงาน ให้ผู้อำนวยการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามที่ผู้อำนวยการเสนอตามความจำเป็นและเหมาะสม
มาตรา ๓๘ การร่วมทุน การกู้ยืมเงิน และการดำเนินการใดเท่าที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ได้กระทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังไม่สิ้นสุด ให้ยังคงดำเนินการได้ต่อไปจนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสิ้นสุดลง
มาตรา ๓๙ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่ออกตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน มีหน้าที่เฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะต้องมีการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในฐานะคณะกรรมการระดับชาติและต้องมีการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ รวมทั้งต้องมีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมภาคเอกชนในการดำเนินการด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตลอดจนการดำเนินการในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง สมควรที่จะมีหน่วยงานที่มีการบริหารงานที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการดังกล่าว ในการนี้จึงได้ปรับปรุงสถานะและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เพื่อให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานตามภารกิจได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พัชรภรณ์/จัดทำ
๑๘ เมษายน ๒๕๖๒
นุสรา/ตรวจ
๑๘ เมษายน ๒๕๖๒