TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA เปิด 4 Big Step!  ปี 68 ‘ก้าวที่มั่นคง…เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจของทุกคน’

Digital Trend Documents
  • 07 ต.ค. 67
  • 111

ETDA เปิด 4 Big Step! ปี 68 ‘ก้าวที่มั่นคง…เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจของทุกคน’

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” มีพันธกิจหลัก ในการร่วมสร้างสังคมดิจิทัล เพื่อให้ช่วยส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย 2 เป้าหมายใหญ่ๆ ที่เป็นเป้าหมายรวมระดับประเทศที่สำคัญ คือ การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศไทยด้านดิจิทัลให้อยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก ภายในปี 2570 หรือ 30:30
ETDA-ภาพประกอบบทความประชาสมพนธ-2.jpg
เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ETDA จึงเร่งวางรากฐานที่มั่นคงเพื่อเตรียมความพร้อม ในการก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ ทั้งการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Ecosystem) ที่แข็งแกร่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น กำหนดกฎเกณฑ์ วางกรอบมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัว ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และรู้เท่าทัน ซึ่งจากการมุ่งมั่นทำงานหนักตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มปรากฏผลสำเร็จที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยขยับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลจาก 40 ขึ้นมาอยู่ใน อันดับที่ 35 ได้ ซึ่งถือว่าใกล้เป้าหมายเข้าไปทุกที

ก้าวต่อไปนับจากนี้เรียกได้ว่ามีความเข้มข้นและท้าทายอย่างมาก เนื่องจากทั่วโลกต่างมุ่งเป้าหมาย เดียวกันในการใช้ “ดิจิทัล” เป็นแผนใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสร้างพาวเวอร์ให้กับประเทศ จากคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ETDA จึงได้เร่งต่อยอด ขยายผล เพิ่มความเข้มข้น เพื่อให้งานทุกด้าน ยิ่งชัดเจน เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยยังคงยึดกรอบการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก เริ่มจาก
ETDA-ภาพประกอบบทความประชาสมพนธ-3.jpg
ด้านที่ 1 Digital Infrastructure and Ecosystem เร่งต่อภาพจิ๊กซอว์ระบบนิเวศดิจิทัลของ ประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่งาน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
(1) Document Management การวางโครงสร้างพื้นฐานของ Document Management ให้มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาแม้งานด้านนี้จะเป็นรูปเป็นร่าง มากพอสมควรแล้ว ทั้งในมิติ Digital ID และ CA (Certification Authority) ใช้สําหรับการตรวจสอบ และยืนยันความถูกต้องของ e-Signature แต่ยังคงต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้าน Trust Service ที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดย ETDA กําลังเร่งเสนอการปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับกฎหมายแม่แบบของ UN โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
(2) Digital Platform Services พัฒนามาตรการและแนวทางการกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากให้มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างชาติ
(3) AI & Data Sharing เสนอกฎหมายหรือมาตรการ เพื่อส่งเสริมให้การแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) เป็นไปอย่างน่าเชื่อถือและใช้งานง่ายขึ้น โดยเน้นสร้างความโปร่งใสในระบบนิเวศของ AI ว่าแต่ละฝ่ายเกี่ยวข้องกันอย่างไร และแต่ละภาคส่วน ควรมีบทบาทอย่างไร เพื่อให้เกิดการใช้งานข้อมูลและ AI อย่างปลอดภัย และ
(4) Legal & Standard พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมทางดิจิทัลต่างๆ สามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ให้บริการ (Service Provider) ผ่าน Innovation Sandbox เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม
ETDA-ภาพประกอบบทความประชาสมพนธ-4.jpg
ด้านที่ 2 Digital Service and Governance เพิ่มกลไกการกำกับดูแลการใช้ดิจิทัลอย่างมี ธรรมาภิบาลในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี AI
ด้านธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งเสริมกลไก สร้างความมั่นใจทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ มากยิ่งขึ้น ETDA ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม และกำลังเร่งแก้ไขปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาการฉ้อโกงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเร่งผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลดิจิทัล แพลตฟอร์มผ่านกลไกทั้งมาตรฐาน แนวปฏิบัติ (Best Practices) เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่จะช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญ กับการวิเคราะห์ผลกระทบจากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Labor Platform และ e-Commerce Platform เพื่อสร้างมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และสนับสนุนการสร้างชุมชนผู้ใช้งานที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกลไกการกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) ในอนาคต พร้อมเพิ่มบทบาทสายด่วน 1212 ETDA เพื่อเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มขนาดเล็ก เพิ่มความมั่นใจ ให้ผู้ใช้บริการที่จะได้รับการดูแลและความเป็นธรรมในการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น

ด้าน AI Governance เดินหน้าขยายผลต่อเนื่อง แม้ AI จะมีประโยชน์มากมาย แต่ทุกอย่างมักมีสองด้านเสมอ การส่งเสริมการใช้งาน AI จึงต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมให้รู้จักใช้อย่างมีธรรมาภิบาล (Governance) แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดหน่วยงานกลาง ที่จะกำกับดูแลเรื่อง AI โดยเฉพาะ ในขณะที่หลายประเทศมีแล้ว ในระยะต่อไป ETDA จะเร่งหารือกับ NECTEC และ สวทช. ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางหรือไม่ และจะมีกลไกและทิศทาง ในการขับเคลื่อน AI ในระดับประเทศอย่างไร สำหรับการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้อย่างมีธรรมาภิบาลยังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากหลายกลุ่มเริ่มตื่นตัวและสนใจนำ AI มาใช้ แต่ยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่ง ETDA มีศูนย์ AIGC พร้อมให้คำปรึกษา โดยดึงผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมด้วย ควบคู่ไปกับ Toolkit and Guideline ที่ยังต้องพัฒนาต่อ แม้ว่าตอนนี้จะได้ภาพกว้างและแนวทางหลักแล้ว แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องทำเพิ่ม เช่น AI Project Management ซึ่งมีความซับซ้อนในหลายมิติทั้งประเด็นทางเทคนิค เช่น การเลือกใช้ AI ที่เหมาะสมกับการใช้งาน เงื่อนไขการใช้งาน แนวทางการดูแลและจัดการข้อมูล พร้อมทั้งเตรียมออก Implementation Guidance เกี่ยวกับจริยธรรมของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งอ้างอิงจากข้อเสนอของ UNESCO
ETDA-ภาพประกอบบทความประชาสมพนธ-5.jpg
ด้านที่ 3 Adoption and Transformation เพิ่มความเข้มข้นในการผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับในภาครัฐปัจจุบันใช้ได้แล้วถึง 449 บริการ จาก 1,626 บริการ ซึ่ง ETDA ตั้งเป้าส่งเสริมการใช้งานให้ครอบคลุมบริการเพิ่มขึ้น ให้ได้ 80% ภายในปี 2568

นอกจากนี้ ETDA ยังมุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ โดยเน้นไปที่กลุ่ม SMEs เป็นหลัก เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่ม GDP ของประเทศ แต่เนื่องจาก SMEs ไทยมีจำนวนมาก ETDA อาจไม่สามารถเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้ทั้งหมด ETDA จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้าง Model การพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงนำไปพัฒนาต่อได้ ซึ่งผลจากการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของ SMEs ในพื้นที่ตัวอย่างพบว่าประมาณ 44% มีความพร้อมในระดับปานกลาง ดังนั้น ETDA จึงพยายามหาโมเดลที่จะช่วยให้ SMEs มี Digital maturity (ความสามารถขององค์กรในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด) เพิ่มขึ้น อย่างเช่น การส่งเสริมเพื่อให้เกิดแคมเปญการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่าง SMEs กับ Tech Providers ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเภทธุรกิจ ขณะที่ผู้ให้บริการก็มีรายได้ เพิ่มขึ้นจากการมีลูกค้า SMEs มากขึ้น แต่จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล พบว่า SMEs ส่วนใหญ่มีความต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังขาดแคลนเงินทุนโดยเฉพาะ ผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ETDA จะพยายามเพิ่มบทบาทการช่วยเหลือในด้านเงินทุน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดด้านต่างๆ
ETDA-ภาพประกอบบทความประชาสมพนธ-6.jpg
ด้านที่ 4 Digital Workforce, Literacy and Protection ส่งเสริมให้คนไทยมีศักยภาพ ตลอดจนทักษะเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งรู้จักใช้อย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน โดยขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) เพิ่มแรงงานด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้ทันสมัย และครอบคลุม ให้แก่บุคลากรตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ เช่น หลักสูตรระดับผู้บริหาร การรับรองทักษะดิจิทัล (DSPC) และการรับรองทักษะโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงรูปแบบการขยายความรู้ผ่านช่องทาง e-Learning โดยตั้งเป้าเพิ่มทักษะ แรงงานดิจิทัลให้ได้ 90,000 คน ภายในปี 2570 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดทักษะที่จำเป็นและวางแผนพัฒนากำลังคนไปจนถึงปี 2570

2) ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และลดอัตราการว่างงาน โดยต่อยอด Model การพัฒนาชุมชนในระดับภูมิภาค จับมือพาร์ตเนอร์ ปั้นโค้ชดิจิทัลชุมชน อบรมเพิ่มความรู้ และทักษะด้านดิจิทัล พร้อมผลักดันสู่การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) ก่อนส่งต่อพาร์ตเนอร์เพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ามีชุมชนเข้าร่วม 1,000 ชุมชน ภายในปี 2570 นอกจากนี้ยังมุ่งแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงพื้นที่ โดยร่วมกับหน่วยงานสำคัญในเชิงพื้นที่ เช่น สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการดำเนินงานล่วงหน้า 3 ปี เพื่อกำหนดเป้าหมาย งบประมาณ และกิจกรรมที่จะดำเนินการร่วมกัน

3) ส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทันและรู้วิธีป้องกันภัยออนไลน์ ลดความ เหลื่อมล้ำในกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย โดยตั้งเป้า เพิ่ม EDC Trainer กระจายไปยังอำเภอต่างๆ ในประเทศ เช่น ภาคใต้ ภาคตะวันออก ตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนืออย่างน้อย 80 อำเภอ (ปัจจุบันขยายไปแล้ว 137 อำเภอ) และเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50% (ประเทศไทยมี 878 อำเภอ) ภายในปี 2570 พร้อมจัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ และเสริมการวัดผล กระทบทางสังคม (Social Impact) ในเชิงพื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดสร้าง Community เครือข่ายการทำงาน เพื่อเพิ่มความยั่งยืนในการพัฒนาทักษะดิจิทัลคนไทย และตั้งเป้าภายในปี 2568 นี้ ETDA จะพัฒนาแหล่งรวบรวมข้อมูลกลาง (Content Management) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อ ตลอดจนคลังความรู้ในด้านดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น
ETDA-ภาพประกอบบทความประชาสมพนธ-7.jpg
ทั้งหมดนี้คือทิศทางในก้าวต่อไป ซึ่งลำพัง ETDA เพียงหน่วยงานเดียวไม่อาจทำให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนก้าวไปด้วยกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขัน นำพาประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย 30:30 และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยไปด้วยกัน

Rating :
Avg: 5 (1 ratings)