Digital Service
- 06 ก.ค. 65
-
9605
-
คนทำธุรกิจ-คนใช้บริการ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ต้องรู้ 6 ข้อ! เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
จะทำอย่างไร หากวันหนึ่ง “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่เราใช้อยู่ทุกวันจนเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นซื้อขายสินค้า/บริการออนไลน์ ดูหนังซีรีส์ ฟังเพลง จองที่พักโรงแรม สั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี และอื่น ๆ อยู่ดี ๆ กลับหายไปในพริบตา ซึ่งความรู้สึกที่ตามมาคงหนีไม่พ้นความหงุดหงิดใจที่พวยพุ่งขึ้นมา ขณะเดียวกัน ยิ่งคนไทยส่วนใหญ่หันมาทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น เหล่านักธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึงพ่อค้าแม่ขาย ก็เทน้ำหนักหันมาทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการ แน่นอนว่ายิ่งมีผู้ใช้จำนวนมาก ปัญหาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลก็ย่อมมีตามมาเหมือนเงาตามตัว เช่น ถูกหลอก โดนฉ้อโกง จากการทำธุรกิจ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ที่ผ่านมา ประเทศไทย แม้จะมีกฎหมายมาดูแลก็อาจจะยังไม่ครอบคลุมในมิติที่จำเป็น โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งการดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการ ทั้งในด้านการให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อดูแลความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีมาตรการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการ อีกทั้งบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีทั้งผู้ให้บริการอยู่ในประเทศไทยและในต่างประเทศ ทำให้พบอุปสรรคในด้านต่างๆ เช่น การติดต่อประสานงาน การแจ้งข้อร้องเรียนต่างๆ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์ม การติดต่อประสานงานเกี่ยวกับการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เล็งเห็นว่า ประเทศไทยควรมีกลไกในการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงนำไปสู่การเสนอ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. (ชื่อเดิมคือ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .…) ต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการ ตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ในการให้บริการ โดยล่าสุด นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA มาจับเข่าคุยเล่าให้ฟังถึงเรื่องกฎหมายฉบับนี้อย่างเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงผู้ใช้บริการ วันนี้จะขอแบ่งเป็นรายข้อเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” สื่อกลางที่จำเป็นต้องมี “ความโปร่งใสและเป็นธรรม” จึงนำมาสู่การใช้กลไกของกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล
นิยามของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลคือ บริการสื่อกลางที่ทำให้บุคคล 2 ฝ่ายขึ้นไป อาทิ ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้บริโภค และผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้มาทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เกี่ยวกับการเช่าที่พักอาศัย ที่มีคนเอาที่พักของตนมาลงทะเบียนในบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็นสื่อกลางเกี่ยวกับการบริการค้นหาที่พักอาศัยและคนที่ต้องการจะเช่าเข้าไปดูแล้วแมชชิ่งกัน หรือโปรแกรมค้นหา Search Engine อย่าง Google ก็นับเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะมีทั้งฝ่ายที่มีข้อมูลหรือคอนเทนต์บนเว็บไซต์ และฝ่ายที่ต้องการข้อมูลแล้วเข้าไปสืบค้นจนทำให้บุคคลสองฝ่ายนี้มาเจอกันบนแพลตฟอร์ม หรือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภท Video หรือ Content sharing ก็จะมีฝ่ายผู้ใช้บริการที่เป็นคนอัปโหลดเนื้อหา และอีกฝ่ายเป็นผู้ใช้บริการที่เป็นคนรับชมเนื้อหา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่มีการทำธุรกรรมระหว่างนาย A ซึ่งมีสินค้าแล้วอัปโหลดสินค้าขึ้นไปขายบนเว็บไซต์ของตนฝ่ายหนึ่ง กับมีลูกค้าอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีการพูดคุยและซื้อขายสินค้ากันบนแพลตฟอร์มดังกล่าว กรณีนี้จะเห็นได้ว่าไม่มี “สื่อกลาง” ที่ให้บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำการบริหารจัดการข้อมูลที่แยกออกต่างหากจากผู้ประกอบการ ตามตัวอย่างนาย A เป็นบุคคลคนเดียวกับเจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งก็คือเว็บไซต์ที่อัปโหลดสินค้า ลักษณะนี้จึงไม่ถือเป็น “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ตามนิยามที่กฎหมายกำหนดไว้
ดังนั้น เมื่อมีการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นแล้ว สิ่งที่จะทำให้การใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายมากำกับดูแล จนนำมาสู่การ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. โดยวางคอนเซปต์ที่เน้นเรื่อง “ความโปร่งใสและเป็นธรรม” ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยดูแล “การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงคุ้มครองดูแลผู้ใช้บริการร่วมด้วย
2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกลุ่มใด อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้บ้าง?
สำหรับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนประกอบธุรกิจ และอยู่ภายใต้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. นั้น จะมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 8 ดังนี้ 1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในราชอาณาจักรเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา 2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในราชอาณาจักรเกิน 50 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล และ 3. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในราชอาณาจักรเกิน 5,000 รายต่อเดือน โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด โดยบริการแพลตฟอร์มเหล่านี้มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ ETDA ทราบ อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้อง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ก็ได้ยกเว้นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น e-Payment Platform ต่างๆ เป็นต้น 2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ 3. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการโดยหน่วยงานของรัฐที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าโดยตรง หรือไม่เป็นการให้บริการที่มีลักษณะเพื่อแสวงหากำไรเป็นหลักและได้แจ้งให้ ETDA ทราบแล้ว เช่น แพลตฟอร์มในการบริการยื่นภาษี เป็นต้น แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐได้ทำแพลตฟอร์มขึ้นมาและเกี่ยวกับธุรกิจการค้าโดยตรงหรือเป็นการให้บริการที่มีลักษณะแสวงหากำไรเป็นหลัก ก็จะกลายเป็นบริการแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
3. การจัดทำกฎหมายฉบับนี้จะเป็นภาระของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยหรือไม่?
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายย่อย หมายถึง กรณีบุคคลธรรมดารายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้บริการต่ำกว่า 5,000 คนต่อเดือน หรือถ้าเป็นนิติบุคคลรายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้บริการต่ำกว่า 5,000 คนต่อเดือน ในกรณีเช่นนี้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดังกล่าวจะไม่มีลักษณะตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด ทำให้ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลตามหมวด 2 แต่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายย่อยจะต้องแจ้งรายการโดยย่อเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้แก่ ชื่อบริการแพลตฟอร์ม ประเภทบริการแพลตฟอร์ม และช่องทางการให้บริการ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักรในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรเพื่อให้ ETDA ทราบ นอกจากนี้ ยังต้องแจ้งข้อมูลรายปีสำหรับมูลค่าการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการ ตลอดจนจำนวนรวมของผู้ใช้บริการและจำนวนของผู้ใช้บริการแต่ละประเภทอีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากหน้าที่การแจ้งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยแล้ว ก็จะพบว่าเป็นการแจ้งเพียงข้อมูลโดยย่อเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยพึงมีอยู่แล้ว
4. กำหนดหน้าที่ให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของขนาด หรือประเภทความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจ
นอกจากลักษณะทั่วไปของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นบุคคลธรรมดามีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายเกิน 1.8 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้บริการเกิน 5,000 คนต่อเดือน หรือถ้าเป็นนิติบุคคล รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายเกิน 50 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้บริการเกิน 5,000 คนต่อเดือน แล้ว (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. ฉบับนี้ ได้กำหนดลักษณะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่และบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะ ดังนี้
- บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการในไทย แต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทุกประเภทบริการเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือมียอดคนใช้งานแพลตฟอร์มต่อเดือนเกินร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรไทย
- บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยง ซึ่งมีความเสี่ยงและมีผลกระทบในระดับสูง
- บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะในด้านสำคัญ
ทั้งนี้ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าวจะมีหน้าที่เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง และมีมาตรการการบริหารและจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น ๆ เป็นต้น เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้มักจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมประเทศได้
5. กฎหมายฉบับนี้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบจากการเลิกประกอบธุรกิจบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้อย่างไร?
สำหรับหน้าที่การแจ้งเลิกประกอบธุรกิจตามกฎหมายฉบับนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญเป็นตารางเพื่อสะดวกต่อการทำความเข้าใจได้ดังนี้
หากวันหนึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเลิกประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจด้วย ดังนี้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... จึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยบริการแพลตฟอร์มที่มีลักษณะทั่วไปจะต้องแจ้งต่อ ETDA ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะเลิกประกอบธุรกิจ แต่หากเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ (Marketplace) หรือเป็น Search engine หรือเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 120 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะเลิกประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มที่เป็น Marketplace หรือ Search engine หรือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย หรือการอื่นที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมายฉบับนี้จะต้องประกาศให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทราบถึงการแจ้งเลิกการประกอบธุรกิจทันทีที่ได้แจ้งให้ ETDA ทราบ จากนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการตามแผนและมาตรการที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนแล้วหรือไม่ หากได้ดำเนินการโดยครบถ้วนแล้ว หรือหากไม่พบผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งได้รับความเสียหายไม่ติดใจที่จะให้ดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะออกใบรับแจ้งการเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และให้ถือว่าเลิกประกอบธุรกิจเมื่อออกใบรับแจ้งดังกล่าว
6. กลไกที่เพิ่มมา “คณะกรรมการร่วม – การอุทธรณ์” ช่วยผู้ประกอบธุรกิจอย่างไร?
นอกจาก ETDA จะพิจารณาข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้แจ้งให้ทราบแล้ว (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... ฉบับนี้ ยังมีกลไกเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “คณะกรรมการร่วม” และ “การอุทธรณ์” โดยสามารถช่วยผู้ประกอบธุรกิจในด้านต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
“คณะกรรมการร่วม” เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ในการให้ความเห็น คำแนะนำ เสนอแนะแนวทาง พิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ความโปร่งใสและเป็นธรรม หรือมาตรฐานที่ไม่ต่ำกว่ากฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ โดยคำนึงถึงการลดความซ้ำซ้อนที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎของหน่วยงานของรัฐ การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ใช้บริการ การชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
ขณะที่ “การอุทธรณ์” เพิ่มขึ้นมาเพื่อเป็นการกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ให้ชัดเจนขึ้น ในกรณีที่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ติดต่อไปบอกผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งข้อมูลให้ครบถ้วน หรือให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลพบว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เหมาะสมอย่างไร ก็สามารถยื่นคำอุทธรณ์ได้ โดยการอุทธรณ์คำสั่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
- ถ้าเป็นคำสั่งทางปกครองของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้อุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการ ETDA และ
- ถ้าเป็นคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการร่วม สำนักงาน หรือผู้อำนวยการ ETDA ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ มีการกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ 30 นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง หรือวันที่รู้หรือควรรู้ถึงคำสั่ง
จะเห็นว่ากฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่กับทุกคนในบริบทที่แตกต่างกันไป ซึ่งปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่า เทรนด์ธุรกิจมีการหันมาลงทุนกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งในแง่ความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อพัฒนาให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในเชิงมหภาค การมีกฎหมายมาช่วยกำกับดูแลและส่งเสริมความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่น หันมาใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้น และเป็นการส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตได้ดีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ ETDA ได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th หรือเพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand