TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

Data Sharing คืออะไร ? และใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำ Data Sharing

Digital Service Documents
  • 25 เม.ย. 66
  • 6742

Data Sharing คืออะไร ? และใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำ Data Sharing

ในโลกยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน การจะขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ได้อย่างสมบูรณ์นั้น หลายภาคส่วนยังมีความต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอยู่มาก เริ่มตั้งแต่ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าและบริการที่พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) ภาคธุรกิจเองก็ต้องการข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ครอบคลุมทั้งธุรกิจรูปแบบเดิมที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) และธุรกิจ Start up ที่สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่จากการใช้ประโยชน์จากข้อมูล
 
ภาครัฐเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูลมาช่วยขับเคลื่อนประเทศ โดยมีการส่งเสริมผ่านการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) และการส่งเสริมให้เกิดการรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำมาป้อนให้ AI เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้ ทั้งหมดนี้เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวเข้าสู่การเป็น Data-Driven Country ผ่านการนำข้อมูลมาช่วยขับเคลื่อนการตัดสินใจ (Decision Making) รวมไปถึงช่วยยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศก้าวสู่การเป็น Data-Driven Country ได้อย่างสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลข้ามองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือข้ามอุตสาหกรรม ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานและธรรมาภิบาลด้านการใช้ข้อมูลมีความเหมาะสมและปลอดภัย
 
สำหรับบริบทของประเทศไทย แนวคิดเรื่องการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ก่อนอื่นจึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับความหมายของ Data Sharing กันก่อน
 
Data Sharing คือ กระบวนการแบ่งปันข้อมูลจากผู้ถือข้อมูลต้นทาง ไปยังผู้รับข้อมูลปลายทางที่มีความต้องการนำข้อมูล นั้นไปใช้ประโยชน์ โดยกระบวนการแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวควรมีความปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล การแบ่งปันข้อมูลนั้นก็ควรสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำ Data Sharing คือต้องทำให้เกิดกระบวนการแบ่งปันข้อมูลที่มีความสะดวก (Convenience) ปลอดภัย (Secure) และเคารพสิทธิส่วนบุคคล (Privacy)
 
ในส่วนของการทำ Data Sharing จะประกอบด้วยผู้เล่นที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ถือข้อมูลต้นทาง (Data Holder), ผู้รับข้อมูลปลายทาง (Data Recipient), เจ้าของข้อมูล (Data Owner), ผู้ให้บริการข้อมูลกลาง (Data Broker) และหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) โดยบทบาทหน้าที่ของแต่ละผู้เล่น ได้แก่
 

  1. ผู้ถือข้อมูลต้นทาง (Data Holder) : หน่วยงานหรือองค์กรที่มีข้อมูลของเจ้าของข้อมูล และจะส่งต่อข้อมูลนี้ไปให้ผู้รับข้อมูลปลายทางเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล
  2. ผู้รับข้อมูลปลายทาง (Data Recipient) : หน่วยงานหรือองค์กรที่รับข้อมูลจากผู้ถือข้อมูลต้นทาง โดยผู้รับข้อมูลปลายทางจะได้รับข้อมูลเท่าที่เจ้าของข้อมูลยินยอม และสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่เคยแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ
  3. เจ้าของข้อมูล (Data Owner) : เจ้าของข้อมูลจะเป็นผู้ให้ความยินยอมก่อนที่จะเกิดการส่งต่อข้อมูลระหว่างผู้ถือข้อมูลต้นทางและผู้รับข้อมูลปลายทาง ซึ่งเจ้าของข้อมูลจะอยู่ในฐานะผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค ในกรณีการทำ Data Sharing ที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล 
  4. ผู้ให้บริการข้อมูลกลาง (Data Broker) : หน่วยงานหรือองค์กรที่รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ นำมาประมวลผล ปรับรูปแบบข้อมูลให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน วิเคราะห์ข้อมูล และเป็นผู้ให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลแก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น
  5. หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) : หน่วยงานกำกับดูแลจะมีหน้าที่กำกับดูแลและให้การรับรองตามกรอบกฎหมายและมาตรฐานที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ

 
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละผู้เล่นมากขึ้น เลยจะขอยกตัวอย่างกรณีการเปิดบัญชีออนไลน์ข้ามธนาคาร สมมติให้ นาย ก มีข้อมูลอยู่กับธนาคาร A แต่ต้องการเปิดบัญชีใหม่กับธนาคาร B โดยไม่ต้องการเดินทางไปสาขาเพื่อกรอกข้อมูลใหม่ทั้งหมด นาย ก สามารถให้ความยินยอมให้ธนาคาร A แบ่งปันข้อมูลส่วนตัวของตน จากนั้นข้อมูลของนาย ก ที่อยู่กับธนาคาร A ก็จะถูกส่งต่อไปให้แก่ธนาคาร B และนาย ก ก็สามารถเข้าใช้บริการของธนาคาร B ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยจากตัวอย่างนี้ Data Holder, Data Recipient และ Data Owner ก็คือ ธนาคาร A, ธนาคาร B และ นาย ก ตามลำดับ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวไปจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการแบ่งปันข้อมูลที่เกิดขึ้นมีความปลอดภัย  และสอดรับตามกรอบของมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มากไปกว่านั้นหากกระบวนการแบ่งปันข้อมูลนั้น จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลชนิดอื่นที่ผู้ถือข้อมูลต้นทาง (Data Holder) ไม่มี ก็จะมีผู้ให้บริการข้อมูลกลาง (Data Broker) เข้ามาเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งหากศึกษาแนวทางการทำ Data Sharing ในระดับลงลึกมากขึ้น แนวทางการเชื่อมต่อระหว่างผู้เล่นในกระบวนการทำ Data Sharing ยังมีได้อีกหลากหลายรูปแบบ โดยเปลี่ยนไปตามลักษณะของการจัดเก็บข้อมูล แนวทางการใช้ข้อมูลของแต่ละประเภทธุรกิจ รวมถึงรูปแบบของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กลางที่อำนวยความสะดวกในการให้บริการ
 
ในต่างประเทศได้นำกระบวนการ Data Sharing ไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มักเป็นการนำไปใช้เพื่อการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค (Customer Centric) ผ่านการนำเทคโนโลยีด้านการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถแชร์ข้อมูลของตนไปยังผู้ให้บริการได้ง่ายและปลอดภัย โดยไม่ต้อง เสียเวลาในการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน พร้อมทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคได้สินค้าหรือบริการที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนอง ความต้องการของผู้บริโภครายนั้นโดยตรง ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจอย่างเช่น  โครงการ European Health Data Space ของสหภาพยุโรป ได้เริ่มนำร่องเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยข้ามประเทศ และโครงการ Consumer Data Right ของออสเตรเลีย ที่ได้นำการแบ่งปันข้อมูลมาช่วยสร้างความสะดวกในการเปิดบัญชีใหม่ข้ามธนาคาร และพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละบุคคล

ทุกคนคงเห็นภาพเดียวกันแล้วว่า Data Sharing คืออะไร และมีภาพรวมในการทำงานอย่างไรบ้าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และดูแลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ก็เล็งเห็นถึงประโยชน์ และพร้อมที่จะมามีส่วนช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนให้การทำ Data Sharing เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย อย่างสะดวก ปลอดภัย และเคารพสิทธิส่วนบุคคล ภายใต้การสร้างสมดุลระหว่างการใช้นโยบายกำกับดูแลและการส่งเสริมให้เกิดการนำข้อมูลไปช่วยในการขยายผลทางธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยนั้นสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ETDA-Data-Sharing-Platforms-Info-graphic-ชนท-1.png

Rating :
Avg: 5 (14 ratings)