Digital Trend
- 28 พ.ย. 64
-
1847
-
เจาะแนวคิด 4 มุมมอง ขับเคลื่อนธุรกรรมออนไลน์ไทย ให้ไปไกลกว่าที่คิด
ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างเป็นวงกว้าง ดังจะเห็นได้จากการที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น Meta พร้อมการประกาศวิสัยทัศน์เข้าสู่ยุค Metaverse อย่างเต็มตัว ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกให้เกิดการขยับตัว ตอบรับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้
ขณะเดียวกัน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยวิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก” ก็ไม่พลาดในการเตรียมความพร้อมสังคมไทยให้เท่าทันยุคสมัย ภายใต้งาน “ETDA สู่ปีที่ 11 ก้าวสำคัญ ยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งได้อัปเดตผลการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในรอบปี 2564 และก้าวต่อไปขององค์กรที่พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการจัดเสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกรรมออนไลน์ไทย ให้ไปไกลกว่าที่คิด” โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกำกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือบอร์ด ETDA มาแชร์มุมมองเรื่อง Digital Transformation ของประเทศไทยใน 4 มิติ ทั้งด้านสังคม ธุรกิจ รัฐ และ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้
ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย Foresight
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ในฐานะบอร์ด ETDA ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และสังคม กล่าวว่า ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนเราไปอย่างสิ้นเชิง โดยจากสถิติผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยจาก ETDA พบว่า คนไทยใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ไม่เพียงแต่เจเนอเรชันผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน แต่รวมไปถึงเจเนอเรชันเด็กที่ต้องใช้เวลากับออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของการทำงาน การเรียน และความบันเทิง รวมถึง
การสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย ของ ETDA ที่พบว่า ในปี 63 ที่ผ่านมามีมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาทแม้ลดลงจากปีก่อนหน้า เพราะหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบต้องหยุดชะงักจากโควิด-19 แต่บางอุตสาหกรรมก็เติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน และส่งผลต่อมูลค่ารวมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การเพิ่มขึ้นในกลุ่มของประกันภัย รวมไปถึงแพลตฟอร์ม e-Tailer (กลุ่มผู้ค้าปลีกทางออนไลน์) ในขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีมูลค่ารวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สิ่งนี้ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมของคนในสังคม และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในภาคธุรกิจในการ transform กระบวนการดำเนินงานมากขึ้น สามารถเห็นได้จากรูปแบบการทำงานของคนทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าชีวิตของเราจะอยู่บนโลกออนไลน์ และใช้ชีวิตอยู่บนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบัน ETDA ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ โดยได้นำเรื่องของ
Foresight หรือ
อนาคตศาสตร์ เข้ามาบูรณาการกับพันธกิจหลักของ ETDA เพื่อที่จะมองหาปัจจัยและสัญญาณอะไรที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงเทรนด์ของเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น เทรนด์ในการเข้าสู่ Metaverse ที่เป็นการใช้ชีวิตในโลกเสมือนนั้น เราจะต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของเราทางดิจิทัล หรือที่เรียกว่า
Digital Identity (Digital ID) ซึ่งเป็นทิศทางที่ ETDA ได้เล็งเห็นและกำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ เพื่อตอบสนองกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
“Digital ID จะเป็นต้นทางที่จะพาเราไปสู่ Digital Economy ถ้าเราไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าตัวตนของเราคือใครในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ก็จะเป็นปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส ความมั่นคงปลอดภัย และอื่น ๆ อีกมากมาย”
3 กับดักของ Digital Transformation ในภาคธุรกิจ
ธีรนันท์ ศรีหงส์ บอร์ด ETDA ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมเสนอมุมมองของภาคธุรกิจว่า เรื่อง Digital Transformation นั้นนับเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในสังคมไทย เพราะจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะผู้บริโภคไม่ได้ ภาคธุรกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเพื่อก้าวให้ทัน ทั้งระหว่างภาคธุรกิจกับธุรกิจเอง หรือ ภาคธุรกิจกับภาครัฐ ที่ต้องมีการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งนี้ในปัจจุบันปัญหาและอุปสรรคของ Digital Transformation สำหรับภาคธุรกิจนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย
- ประการแรก คือ ประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างยากลำบาก
- ประการที่สอง คือระบบนิเวศดิจิทัล หรือ Digital Ecosystem ของประเทศยังขาดความพร้อมในหลายภาคส่วน ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้ต้นทุนสูง เนื่องจากยังขาดมาตรฐานและการเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ
- ประการที่สาม สังคมดิจิทัลในประเทศไทย ยังขาดคนที่มีความรู้ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ จนถึงระดับการบริหารจัดการ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
เพราะฉะนั้นแล้ว ETDA ในฐานะองค์กร ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ทุกภาคส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเร่งวางมาตรฐานให้เกิดมาตรฐานกลาง รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิด Ecosystem ที่เหมาะสมต่อ Digital Transformation ได้จริง และมี Action plan ที่ชัดเจน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน
“ETDA เป็นหน่วยงานภาครัฐ มีบทบาทในการพัฒนา Digital Capability ของตนเอง เพื่อให้กระบวนการภายในคล่องตัวมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงระบบของภาครัฐเองเข้ากับภาคเอกชนได้ดีขึ้น”
รัฐต้องเร่งสร้างมาตรฐานให้เกิดความเชื่อมั่น
ด้าน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ด ETDA โดยตำแหน่ง ให้ความเห็นว่า ภาครัฐในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล กำหนดกฏเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ Digital Transformation เนื่องจากความต้องการของประชาชนที่สอดรับกับเทรนด์ในสังคมโลก รวมถึงการปรับตัวของภาคเอกชน เพื่อที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว ภาครัฐเองต้องทำหน้าที่ทำความเข้าใจบริบท และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และนำมากำหนดเป็นมาตรฐาน กฎระเบียบ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น
ในขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงต้องกำกับดูแลเรื่องของความถูกต้อง ด้วยการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้หรือการทำธุรกรรมทางออนไลน์ คือ เรื่องของความเชื่อมั่นซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบการ มีมาตรฐานหรือมีความน่าเชื่อถือที่เพียงพอ ผู้ใช้บริการก็จะเกิดความเชื่อมั่น ไม่เกิดความขัดแย้ง ไม่เกิดการฉ้อฉล ดังนั้นจึงนับเป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐที่ต้องเร่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งการกำหนดมาตรฐาน และกำหนดเรื่องของการดูแลผู้ให้บริการว่ามีความรับผิดชอบที่เพียงพอ
“หลักการของ Digital Economy คือ Share Economy สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าการ share ข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานจะเป็นการแสดงถึง ความชัดเจน ความโปร่งใส หรือ Governance และความรวดเร็วในการทำงานของรัฐ ที่หมายรวมถึงการให้บริการของภาครัฐด้วย”
สร้าง Ecosystem สู่การผลักดันธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ก้าวไกล
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ในฐานะประธานบอร์ด ETDA เปิดเผยว่า โลกดิจิทัลในปัจจุบันนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัด การจะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้เท่าทันและอยู่บนโลกที่ต้องใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเชื่อมั่นได้อย่างไรนั้น
ETDA ในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันและส่งเสริม ระบบนิเวศดิจิทัล หรือ Digital Ecosystem ที่ดีให้เกิดขึ้น เนื่องจาก ETDA มีบทบาทตามกฎหมายในการกำกับดูแล เสนอแนะกฎระเบียบ และแนวทางต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่นในการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ETDA ยังมุ่งเน้นในการบูรณาการและเชื่อมโยงร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ (Co-Creation) ที่เป็นผู้กำกับดูแลเช่นเดียวกัน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการทำงานเชื่อมโยงลักษณะเช่นนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานและก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี
เพราะฉะนั้น ETDA ในฐานะ Regulator จะต้องเสนอแนะมาตรฐาน และเชื่อมโยงกรอบมาตรฐานนี้กับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นของคนที่จะทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อไปในอนาคต
“การที่ ETDA ทำงานร่วมกับหน่วยงาน Regulator อื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ร่วมกำหนดมาตรฐานที่ดี จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้รับประโยชน์ ในการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างเชื่อมั่นและมีประสิทธิภาพ”
ที่สำคัญ การขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาคประชาชนต้องพร้อมรับและปรับตัวให้รู้เท่าท้นกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ภาคเอกชนต้องเร่งพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐที่มีทั้งบทบาทส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล ตลอดจนเสนอแนะมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ Digital Transformation นำไปสู่การยกระดับสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืน
การขับเคลื่อนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่พร้อมรับและปรับตัวให้เท่าท้นกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล