TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

Estonia’s Digital X Road: e-Revolution ของประเทศเอสโตเนีย

Digital Service Documents
  • 25 มิ.ย. 64
  • 10283

Estonia’s Digital X Road: e-Revolution ของประเทศเอสโตเนีย

Key Takeaways

  • เอสโตเนียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมแห่งข้อมูลที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) ที่รัฐบาลเอสโตเนียประกาศใช้ในช่วงทศวรรษที่ 90 เพื่อปรับปรุงระบบราชการและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคของการให้บริการสาธารณะด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) ให้มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย
  • X-Road คือโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลแห่งชาติที่รัฐบาลเอสโตเนียริเริ่มขึ้นในปี 2001 เพื่อใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงและถ่ายโอนข้อมูลทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการให้บริการสาธารณะในรูปแบบ e-Services ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน
  • อุปสรรคและความท้าทายของรัฐบาลเอสโตเนีย มีดังนี้ (1) การพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูง ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น (2) ความไม่สอดคล้องกันของระบบให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และขาดการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ จึงทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการให้บริการสาธารณะเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดได้ในคราวเดียว (3) ความล่าช้าในการกำหนดใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ และ (4) ข้อจำกัดด้านความสามารถในการปรับตัวของประชาชนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุและประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกล

e-Revolution ของประเทศเอสโตเนีย 

การปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution)[1] เกิดขึ้นจากการปรับปรุงระบบราชการของประเทศเอสโตเนียตามแผนปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) ที่รัฐบาลประกาศใช้ในช่วงทศวรรษที่ 90 หลังจากได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1991 โดยรัฐบาลในขณะนั้นตระหนักถึงข้อจำกัดที่ว่า เอสโตเนีย เป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนประชากรน้อย อีกทั้งยังไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ หรือจุดแข็งทางเศรษฐกิจที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันได้ ดังนั้นจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies: ICT) เพื่อที่จะศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ พัฒนาความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ขึ้นใหม่ ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
 
การดำเนินนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ในเวลาต่อมา เอสโตเนียกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทั่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และสังคมแห่งข้อมูล (Information Society) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
 
ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าระบบบริหารงานราชการ (Public Management) และระบบการให้บริการสาธารณะ (Public Services) ของประเทศเอสโตเนียในปัจจุบันที่มีความทันสมัยและมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ข้างต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ บุคลากรภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญและมีความกระตือรือร้นในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างจริงจัง และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนโยบายการปฏิรูประบบบริหารราชการ จนส่งผลให้กว่าร้อยละ 99 ของบริการสาธารณะในประเทศเอสโตเนียสามารถรองรับการใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำธุรกรรมที่สำคัญทุก ๆ ด้าน

Estonia_X-Road_1.jpg 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แบ่งออกได้ 2 ส่วน ดังต่อไปนี้
 
1) ปัจจัยภายใน (Internal Drivers) คือข้อจำกัดด้านทรัพยากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้รัฐบาลเอสโตเนียริเริ่มปรับปรุงระบบราชการและการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจนเกิดเป็นการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ตลอดจนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและการเป็นอาณานิคมของสหภาพโซเวียตด้วย และผลพวงจากการปรับปรุงระบบราชการและการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้เอง จึงก่อให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการและดำเนินนโยบาย e-Revolution ขึ้น 5 หน่วยงานหลัก ดังต่อไปนี้
  1. กระทรวงการเศรษฐกิจและการสื่อสาร (Ministry of Economic Affairs and Communication) รับผิดชอบด้านกลยุทธ์และนโยบายหลักด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนานโยบายด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐแล้ว ยังมีหน้าที่ร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และระเบียบว่าด้วยนโยบายข้อมูลข่าวสารแห่งรัฐ (Principles of Estonian Information Policy)
  2. สำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารแห่งรัฐ (Department of State Information Systems: RISO) ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียได้จัดตั้งสำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารแห่งรัฐ (Department of State Information Systems: RISO) ขึ้นในปี 1993 โดยให้เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทำหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบต่อนโยบายข้อมูลสารสนเทศและแผนงานที่เกี่ยวข้องตามที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดซื้อจัดจ้าง ประสานงานระหว่างหน่วยงานของภาครัฐด้านมาตรฐานของระบบงาน และความร่วมมือระหว่างประเทศด้านระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐด้วย
  3. สำนักงานพัฒนาบริการข้อมูลสารสนเทศสังคม (Department of Information Society Services Development) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการเศรษฐกิจและการสื่อสาร ที่มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานด้านการพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ โดยได้จัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติ กำหนดปัจจัยด้านคุณภาพของการให้บริการ ออกแบบวงจรการพัฒนางานด้านการให้บริการ และศึกษาแนวทางการพัฒนาช่องทางการให้บริการแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. สำนักงานระบบบริหารข้อมูลแห่งเอสโตเนีย (Estonian Information System Authority: RIA) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการเศรษฐกิจและการสื่อสาร (RIA) มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ พัฒนาและบริหารจัดการระบบสารสนเทศของรัฐ รวมถึงดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางเทคนิคหรือความเสี่ยงเชิงระบบ (Systematic Risk) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในระบบต่าง ๆ นอกจากนี้ RIA ยังมีหน้าที่ดูแลระบบ Administration System for State Information Systems (RIHA) อีกด้วย
  5. ศูนย์บริการลงทะเบียนและระบบสารสนเทศ (Centre for Registers and Information Systems: RIK) ในด้านของการกำกับดูแลให้ระบบจัดการข้อมูลภาครัฐเป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมาย รวมไปถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐบาลเอสโตเนียโดยกระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้ง Centre for Registers and Information Systems (RIK) ขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเชิงนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ และกำหนดนโยบายและกฎหมายทางอาญา ซึ่งที่ผ่านมา RIK ได้ดำเนินการพัฒนาและสร้างระบบการบริหารจัดการและระบบลงทะเบียนในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น e-Business Register, e-Notary System, e-Land Register ระบบบริหารจัดการข้อมูลของศาล (Information System of Courts) ระบบระเบียนนักโทษ (Prisoners Register) ฐานข้อมูลอาชญากรรม (Criminal Records) และระบบ e-File จนกระทั่ง RIK ได้รับการยกย่องว่าเป็นหน่วยงานที่มีนักพัฒนาและนักบริหารจัดการระบบสารสนเทศที่มีศักยภาพและมีประสบการณ์เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศเอสโตเนีย
ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบหน่วยงานที่มีลักษณะเดียวกันของประเทศไทยแล้ว จะพบว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการบริหารจัดการ ประสาน และให้บริการข้อมูลสารสนเทศภาครัฐที่เชื่อมฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นเครือข่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA หน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูล โดย สพร. ได้พัฒนาศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ขึ้น ภายใต้ชื่อ “data.go.th” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data) ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ได้โดยอิสระ สะดวก รวดเร็ว และตลอดเวลา
 
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้จัดตั้ง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งขับเคลื่อนภารกิจสำคัญด้านการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและเชื่อมโยง โดยในปัจจุบัน ETDA ได้จัดให้มีบริการดิจิทัลแก่ภาครัฐและมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamping) ระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Web Validation) การยืนยันตัวตนตามมาตรฐานสากล (OpenID Connect) มาตรฐานลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) มาตรฐานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice by Email) ฯลฯ
 
2) ปัจจัยภายนอก (External Drivers) ที่กระตุ้นให้รัฐบาลเอสโตเนียจำเป็นต้องประกาศกำหนดแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักความยากจน ยกตัวอย่างปัจจัยภายนอกที่สำคัญดังกล่าว เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนั้น และทำให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการรับส่งข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนธุรกรรมต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งนับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศเอสโตเนียที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ
         
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงทศวรรษที่ 90 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมนโยบาย e-Revolution ของรัฐบาลเอสโตเนีย โดยในขณะนั้นเริ่มมีการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก เช่น สมาร์ตโฟน กล้องดิจิทัล อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเสียงทางอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol: VoIP) ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสตาร์ตอัป (Start-Ups) สัญชาติเอสโตเนียอย่าง บริษัท Skype ประสบความสำเร็จอย่างมากในเวลาต่อมา และนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กระตุ้นให้รัฐบาลเอสโตเนียเร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและระบบนิเวศสตาร์ตอัป (Start-Ups Ecosystem) ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบราชการและการให้บริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน และพัฒนาจุดแข็งผ่านการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวได้ช่วยให้เอสโตเนียสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจและพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในเวลาอันสั้น จนก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย 

Estonia_X-Road_2-(1).jpg

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐของประเทศเอสโตเนีย 

พัฒนาการความก้าวหน้าทางดิจิทัลของประเทศเอสโตเนีย นับตั้งแต่เริ่มดำเนินแผนยุทธศาสตร์การปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัป การเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการให้บริการสาธารณะในรูปแบบดิจิทัลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น e-Banking, e-Tax, e-Health Records, e-School, e-Prescription, m-Parking และ e-Police ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็น e-Estonia อย่างเต็มรูปแบบ และยังส่งผลทำให้เอสโตเนียกลายเป็นประเทศที่มีระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย[2]
 
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค (Development of Technical Infrastructure) โดยปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบบริหารราชการและการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคให้มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย โดยในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายปฏิรูปนั้น รัฐบาลเอสโตเนียได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ดังนี้
 
  1. ระบบระบุตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Identification) และบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Identification Card) โดยในปี 2002 รัฐบาลเอสโตเนียได้กำหนดให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ต้องมีบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการระบุตัวตนเมื่อต้องติดต่อทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออนไลน์ (i-Voting) จดทะเบียนนิติบุคคล (e-Business Register) ยืนยันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล (Digital Banking) ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์และประวัติการรักษาพยาบาล (e-Health and e-Prescription) รวมถึงใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนในการเดินทางภายในสหภาพยุโรป ส่วนการทำงานของระบบ e-Identification นี้ จะอาศัยการตรวจสอบรหัสผ่านส่วนบุคคลของผู้ถือบัตร เพื่อยืนยันตัวตนและป้องกันบุคคลอื่นนำไปแอบอ้างใช้งานซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลระบบดังกล่าวคือ RIA (Estonian Information Systems Authority)
  2. ระบบการเข้าถึงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Portal) รัฐบาลเอสโตเนียได้พัฒนา
    e-Government Portal ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐไว้อย่างสมบูรณ์แบบ อีกทั้งยังมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เข้มงวด โดยประชาชน ผู้ประกอบการ และข้าราชการ สามารถล็อกอินเข้าสู่ระบบเพื่อใช้งาน e-Government Portal ได้ด้วย e-Identification Card
  3. ระบบโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ (EEBone) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ (IT infrastructure) ภายในหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า “EEBone” หรือ “Peatee” ขึ้น ในปี 1998 เพื่อใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศเข้าด้วยกัน และอนุญาตให้มีการเข้าถึงระบบอินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์กลางของรัฐบาลที่ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในปี 2014 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (The European Commission) ได้พัฒนาระบบการติดตามและรายงานตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy and Society Index: DESI) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินความก้าวหน้าทางดิจิทัลของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป โดยกำหนดตัวชี้วัดสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้านการใช้บริการอินเทอร์เน็ต (Use of Internet Services) ด้านการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัล (Integration of Digital Technology) และด้านการพัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐ (Digital Public Services) ซึ่งล่าสุดในปี 2020 ที่ผ่านมา ประเทศเอสโตเนียมีคะแนนรวม DESI สูงเป็นอันดับที่ 7 จาก 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยมีคะแนนด้านบริการดิจิทัลภาครัฐและการพัฒนาทุนมนุษย์อยู่ในเกณฑ์ดีมาก แม้ว่าจะประสบกับสภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อภาคการลงทุนภายในประเทศก็ตาม นอกจากนี้ ประเทศเอสโตเนียยังมีปริมาณการใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับความพยายามของภาครัฐที่พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในแบบบรอดแบนด์และแบบไร้สาย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

Estonia_X-Road_3.jpg 
ผลการประเมินความก้าวหน้าทางดิจิทัล 5 ด้าน ของประเทศเอสโตเนีย สรุปได้ดังนี้[3]
 
ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) ประเทศเอสโตเนียมีคะแนนด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 47.1 คะแนน ในปี 2018 เป็น 51.9 คะแนน ในปี 2020 ดังนั้นจึงส่งผลให้เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีเครือข่ายการเชื่อมต่อที่แข็งแรงเป็นอันดับที่ 14 ของสหภาพยุโรป และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วก็พบว่า เอสโตเนียมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน เช่น สัดส่วนความครอบคลุมของระบบอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แบบมีสาย เนื่องจากครัวเรือนร้อยละ 83 เข้าถึงบริการดังกล่าว และครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 57 เข้าถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาก ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่มีครัวเรือนเพียงร้อยละ 44 เข้าถึงบริการดังกล่าว นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมแบบไร้สายของประเทศเอสโตเนียก็มีประสิทธิภาพในระดับสูงเช่นเดียวกัน โดยประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายได้อย่างทั่วถึง และผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าในจำนวนประชากรทุก ๆ 100 คน มีการสมัครรับบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายมากถึง 152 บัญชี ในขณะที่ผลการประเมินความครอบคลุมของ 4G นั้นก็อยู่ในระดับสูงมาก คิดเป็นร้อยละ 98 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปเล็กน้อยที่ร้อยละ 96
 
ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ประเทศเอสโตเนียมีคะแนนในด้านนี้เท่ากับ 66.7 จาก 100 คะแนน โดยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 58.3 คะแนน ในปี 2018 จึงทำให้ประเทศเอสโตเนีย มีความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของสหภาพยุโรป และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็พบว่าประชากรร้อยละ 62 ของประเทศ มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานทางดิจิทัล และประชากรร้อยละ 37 มีความรู้ความเข้าใจทางดิจิทัลสูงกว่าระดับพื้นฐาน ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปทั้งสองระดับ นอกจากนี้ สัดส่วนผู้จบการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศต่อผู้จบการศึกษาทั้งหมด สัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อแรงงานทั้งหมด และสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นเพศหญิงต่อแรงงานเพศหญิงทั้งหมด ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 7.4, 5.7 และ 2.6 ตามลำดับ ซึ่งคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปในทุกด้าน จากผลการประเมินดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลเอสโตเนียในการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม กระทั่งปรากฏผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์
 
ด้านการใช้บริการอินเทอร์เน็ต (Use of Internet Services) ประเทศเอสโตเนียมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการใช้งานของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการใช้บริการอินเทอร์เน็ตในเอสโตเนียอยู่ในระดับสูงมาก โดยในปี 2020 เอสโตเนียมีดัชนี DESI ด้าน Use of Internet Services อยู่ที่ 65.4 จาก 100 คะแนน ซึ่งจัดว่าเป็นประเทศที่มีปริมาณการใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากที่สุดอันดับที่ 7 ของสหภาพยุโรป โดยในภาพรวมแล้ว เอสโตเนียมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 88 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ประชากรที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต มีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ส่วนรูปแบบบริการบนระบบอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศเอสโตเนีย ได้แก่ บริการข่าวสารและธนาคารออนไลน์ โดยมีสถิติผู้ใช้งานมากถึงร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด รองลงมาคือ บริการประเภทเพลง วิดีโอ และเกม ซึ่งมีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 83 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากนี้คือบริการประเภทอื่น ๆ ได้แก่ วิดีโอสตรีมมิ่ง การสื่อสารผ่านวิดีโอ แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ การศึกษา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ด้านการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัล (Integration of Digital Technology) ประเทศเอสโตเนียได้คะแนนในด้านนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในสหภาพยุโรป โดยในปี 2020 มีคะแนนอยู่ที่ 41.1 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 41.4 คะแนน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องการพัฒนาภายในประเทศแล้ว คะแนนด้านดังกล่าวของเอสโตเนียได้เพิ่มขึ้นจาก 38.6 ในปี 2018 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ อีกทั้งยังพยายามส่งเสริมให้องค์กรในทุกภาคส่วนนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2019 รัฐบาลเอสโตเนียได้ประกาศแผนกลยุทธ์พัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (The National Artificial Intelligence Strategy 2019 - 2020) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่หนุนเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
 
ด้านการพัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐ (Digital Public Services) ประเทศเอสโตเนียมีคะแนนในด้านนี้ สูงเป็นอันดับที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป โดยได้ 89.3 คะแนน จาก 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 83.0 คะแนน ในปี 2018 และ 85.0 คะแนน ในปี 2019 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในปี 2020 อยู่ที่ 72.0 คะแนน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและการพัฒนาบริการดิจิทัลของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบัน ร้อยละ 99 ของการบริการภาครัฐในประเทศเอสโตเนีย ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สามารถเข้าถึงผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการมีโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐที่มีประสิทธิภาพนั้น ได้ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้บริการ ยกเลิกกระบวนการที่ไม่จำเป็น และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านบริการดิจิทัลภาครัฐที่มีประสิทธิภาพดังกล่าว ยังส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และเริ่มหันมาทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐมากขึ้น กระทั่งในปี 2020 ก็ปรากฏสัดส่วนผู้ใช้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐสูงถึงร้อยละ 93 จากจำนวนประชาชนที่ขอรับบริการทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น เอสโตเนียยังได้รับ 100 คะแนนเต็มในตัวชี้วัดย่อยด้านบริการดิจิทัลภาครัฐสำหรับธุรกิจที่สะท้อนถึงระดับความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐ และนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
 
จากผลการประเมินความก้าวหน้าทางดิจิทัลของประเทศเอสโตเนีย ในปี 2020 โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปข้างต้น จึงสรุปได้ว่าเอสโตเนียถือเป็น 1 ใน 7 ประเทศแรกของสหภาพยุโรปที่มีความก้าวหน้าทางดิจิทัลอย่างมากที่สุด จากสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ โดยผลการประเมินดังกล่าวก็สอดคล้องกับผลการศึกษาความก้าวหน้าทางดิจิทัลของ 90 ประเทศทั่วโลกในปีเดียวกัน ที่ดำเนินการโดย The Fletcher School หรือบัณฑิตวิทยาลัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอเมริกา ณ มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) รัฐแมสซาซูเซตส์ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า[4] เอสโตเนียเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางดิจิทัลอย่างโดดเด่น หรือเรียกว่ากลุ่ม Stand Out ที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสูง อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศไทยได้รับการประเมินให้อยู่ในกลุ่ม Break Out หรือกลุ่มประเทศที่ยังมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล แต่ก็ยังสามารถพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วได้ ทั้งนี้ สามารถพิจารณาเงื่อนไขในการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าทางดิจิทัลที่แตกต่างกัน ระหว่างประเทศเอสโตเนียและประเทศไทยได้ดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 เงื่อนไขการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าทางดิจิทัล เปรียบเทียบระหว่างเอสโตเนียและไทย
เอสโตเนีย (กลุ่ม Stand Out)          

ไทย (กลุ่ม Break Out)

เงื่อนไขที่ทำให้ประเทศเอสโตเนียมีความก้าวหน้าทางดิจิทัลอย่างมาก มีดังนี้
  1. การขยายตัวของการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ เช่น e-Commerce การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล และกิจกรรมด้านความบันเทิง เป็นต้น
  2. มีมาตรการกระตุ้น ฝึกอบรม และรักษาบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญทางดิจิทัล
  3. การส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านดิจิทัล
  4. การพัฒนาเทคโนโลยีภาคพื้นอย่างครอบคลุม
    และรวดเร็ว ได้แก่ สายนำสัญญาณอินเทอร์เน็ต (Fiber Optics) และบรอดแบนด์เคลื่อนที่
  5. การสร้างความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อส่งออกสินค้า บริการ หรือสื่อดิจิทัล
  6. ความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาดิจิทัล

เงื่อนไขในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จ มีดังนี้

1. การปรับปรุงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ความสามารถในการเข้าถึง และคุณภาพสัญญาณ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายและครอบคลุมมากขึ้น

2. การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในระดับสถาบัน และการพัฒนากฎระเบียบด้านดิจิทัล

3. มีมาตรการส่งเสริมด้านดิจิทัล เช่น การลงทุนในกิจการด้านดิจิทัล การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านดิจิทัล การฝึกอบรมผู้มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันเพื่อการสร้างงาน

4. การแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเครื่องมือหรือเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ และพื้นที่






 

 

โครงการ Digital X-Road

รัฐบาลเอสโตเนียได้ขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวกับการให้บริการแก่ประชาชนต่าง ๆ โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้าด้วยกัน เพื่อประสานความร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่ง ช่วยนำพาประเทศไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่มีศักยภาพแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในเรื่องการบริหารจัดการระบบข้อมูลข่าวสารและการบริหารราชการของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
The X-Road Platform หรือ โครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียริเริ่มโครงการ X-Road ขึ้นในปี 2001 ให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงและถ่ายโอนข้อมูลด้านการบริหารราชการและการให้บริการสาธารณะในรูปแบบ e-Services ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน โดย X-Road เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน (Data Exchange Platform) ซึ่งข้อมูลที่เชื่อมโยงผ่าน X-Road ประกอบด้วยข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่เก็บข้อมูลส่วนตัวของประชากรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบัน

ส่วนในด้านความมั่นคงปลอดภัยนั้น การใช้งาน X-Road ถือว่ามีความมั่นคงปลอดภัยสูงมาก เนื่องจากไม่ได้ออกแบบให้เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูล ดังนั้นจึงไม่มีฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่เป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานในระบบเข้าด้วยกัน โดยการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานหนึ่ง ๆ ได้นั้น ผู้ใช้งานที่มีใบอนุญาตต้องได้รับการยืนยันตัวตนผ่านระบบ e-Identification ก่อนทุกครั้ง ประกอบกับหน่วยงานที่เป็นสมาชิกของโครงการ X-Road จะต้องผ่านการตรวจสอบว่ามีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เชื่อถือได้และต้องมีการติดตั้ง Server ที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูงเพื่อเก็บรักษาข้อมูล ดังนั้นจึงทำให้ X-Road สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการแทรกแซงหรือการโจรกรรมข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์แบบ
 
เส้นทางการพัฒนา X-Road ของประเทศเอสโตเนีย[5] นับตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปัจจุบัน
ปี รายละเอียด
2001 วันที่ 17 ธันวาคม ได้เริ่มติดตั้ง X-Road แห่งชาติอย่างเป็นทางการ Version 1.0 - XML-RPC หรือโพรโทคอลที่สามารถเชื่อมการติดต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการหรือแอปพลิเคชันต่างกัน และช่วยให้โปรแกรมที่เขียนขึ้นจากคนละภาษาสามารถทำงานร่วมกันได้ เช่น PHP ทำงานร่วมกับ Python หรือ Perl ติดต่อกับ Java
2002 การแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ e-Governance และ X-Road Version 2.0 - SOAP RPC/encoded โดยมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศศรีลังกา คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอาเซอร์ไบจาน
2003 X-Road Version 2.0 - SOAP RPC/encoded โดยใช้โพรโทคอลหรือการทำเป็นรหัสในการติดต่อสื่อสารที่เป็นมาตรฐานในการติดต่อระหว่างระบบเครือข่ายโดยผ่านโพรโทคอลต่าง ๆ ในการส่งข้อมูลบนเว็บไซต์ เช่น เฮชทีทีพี (HTTP)
2004 - 2005 X-Road Version 3.0 - Asynchronous Services พัฒนาระบบให้ตอบสนองการทำงานที่รวดเร็วและต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ได้ในขณะที่ยังมีการดำเนินการอื่นอยู่ เช่น การเรียกดูข้อมูลผ่านเครือข่าย การบันทึกข้อมูลลงฐานข้อมูล และการอ่านข้อมูลจากไฟล์
2006 - 2008 X-Road Version 4.0 และพัฒนาระบบความมั่นคงปลอดภัย (Security Update)
2009 จังหวัด Neuquén ในประเทศอาร์เจนตินา พัฒนาแพลตฟอร์มที่จะทำให้ข้อมูลในระบบหรือส่วนต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน สามารถทำงานร่วมกันได้โดยระบบไม่จำเป็นต้องมาจากที่เดียวกันหรือหน่วยงานเดียวกัน (Interoperability Platform) แต่ต้องสามารถติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ซึ่งได้ประยุกต์ใช้โมเดลของประเทศเอสโตเนีย (Estonian Model)
2010 - 2012 X-Road Version 5.0 - SOAP Document/Litteral Wrapped โดยใช้ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาบนพื้นฐานของระบบ Linux (Ubuntu Support) และใช้ Deb Packages สำหรับติดตั้งโปรแกรมต่าง ๆ บน Ubuntu รวมถึงเพิ่มตัวเชื่อมต่อในการจัดการและถ่ายโอนข้อมูล จากอุปกรณ์สำหรับส่งคำสั่งและข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว
2013 วันที่ 10 ธันวาคม ประเทศเอสโตเนียและฟินแลนด์ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมืออย่างเป็นทางการแบบดิจิทัล ในส่วนของการพัฒนาและรักษาสภาพแวดล้อมทางซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อ ค้นหา และถ่ายโอนข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมั่นคงปลอดภัยของ X-Road
2013 - 2014 กองทุนนวัตกรรมของประเทศฟินแลนด์ที่มีชื่อว่า “Sitra” มีบทบาทสำคัญในการนำ X-Road ไปใช้ในฟินแลนด์ ร่วมกับกระทรวงการคลังของฟินแลนด์ และผู้เชี่ยวชาญ 2 คนจากประเทศเอสโตเนีย นอกจากนี้ Sitra ยังได้สนับสนุนงบประมาณแก่โครงการนำร่อง X-Road ในเมือง Espoo และ Lahti เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของ X-Road ในการผลิตบริการด้านสุขภาพและสังคมต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงกิจการด้านสุขภาพและสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อีก 9 แห่ง
2014 ในช่วงต้นปี 2014 เอสโตเนียได้ให้ซอร์สโค้ด X-Road แก่ฟินแลนด์ ภายใต้ใบอนุญาต EUPL และต่อมาในช่วงปลายปี โครงการติดตั้ง X-Road ในฟินแลนด์จึงเริ่มต้นขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้านสถาปัตยกรรมแห่งชาติสำหรับการบริการทางดิจิทัล (National Architecture for Digital Services: KaPa) นอกเหนือจากนี้คือการพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขระบบ รวมถึงการเพิ่มส่วนประกอบต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนและเชื่อมต่อการทำงานของ X-Road ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2015 สำนักงานระบบบริหารข้อมูลแห่งเอสโตเนีย (Estonian Information System Authority: RIA) และศูนย์บริการลงทะเบียนและระบบสารสนเทศ (Centre for Registers and Information Systems: RIK) ร่วมรับผิดชอบในการประสานงานการพัฒนาหลักของ X-Road โดยได้จัดทำชุดแนวทางปฏิบัติและแนวทางการจัดการความร่วมมือ ตลอดจนการเผยแพร่ซอร์สโค้ดของ X-Road ซึ่งเป็น Open Source ภายใต้ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ฟรีของ MIT และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา X-Road ก็กลายเป็นวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
2016 X-Road มีการนำไปใช้งานแพร่หลายมากขึ้น เช่น หมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก และสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ (El Salvador) ได้นำ X-Road (Version 5) ไปใช้งานในภาคการผลิต
2017 ประเทศเอสโตเนียและฟินแลนด์ได้กระชับความร่วมมือมากขึ้น ผ่านการทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารการพัฒนา X-Road โดย Nordic Institute for Interoperability Solutions (NIIS)
2018 ในเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศเอสโตเนียและฟินแลนด์ได้เชื่อมต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับประเทศผ่าน X-Road และในเดือนมิถุนายน NIIS ก็ได้เข้ามารับช่วงการบริหารจัดการซอร์สโค้ดและการพัฒนาหลักของ X-Road ต่อจาก RIA และ VRK
2019 - ปัจจุบัน การพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขระบบ ตลอดจนเพิ่มส่วนประกอบต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนและเชื่อมต่อการทำงานของ X-Road ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย และสอดคล้องกับบริบทที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงไป
 
นอกจากนั้น เอสโตเนียยังเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Pioneers) แบบ Keyless Signature Infrastructure (KSI) ในระบบการผลิตต่าง ๆ (Production Systems) นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา กระทั่งปี 2012 จึงได้เริ่มใช้ KSI Blockchain ในการจัดเก็บข้อมูลการจดทะเบียนต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจดทะเบียนด้านสาธารณสุข ทรัพย์สิน ธุรกิจ มรดก ระบบศาล และราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการใช้ KSI Blockchain ดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ สามารถดำเนินการผ่านสำนักงานระบบบริหารข้อมูลแห่งเอสโตเนีย (Estonian Information System Authority: RIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการเศรษฐกิจและการสื่อสาร ที่มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ พัฒนาและบริหารจัดการระบบสารสนเทศ ตลอดจนดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางเทคนิคหรือความเสี่ยงเชิงระบบที่จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของระบบต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยี KSI Blockchain จึงช่วยให้รัฐบาลเอสโตเนียสามารถตรวจพบการละเมิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

X-Road-and-Blockchaain.jpg
การใช้เทคโนโลยี KSI Blockchain ของรัฐบาลเอสโตเนีย[6]
 
Estonia_X-Road_7.jpg

X-Road กับการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งอยู่บนหลักการ e-Governance 6 ด้าน[7] ดังนี้
  1. การกระจายอำนาจ (Decentralization) โดย X-Road ไม่มีฐานข้อมูลกลาง แต่เป็นการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่กระจายออกไปตามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงภาคธุรกิจ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีระบบฐานข้อมูลเป็นของตนเอง เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) และขจัดปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูลได้ ตลอดจนช่วยลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เนื่องจาก X-Road สามารถสร้างและเชื่อมฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานต่อกันได้
  2. การเชื่อมต่อระหว่างกัน (Interconnectivity) ส่วนประกอบต่าง ๆ ของ X-Road ที่เชื่อมต่อฐานข้อมูลของหน่วยงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มั่นคงปลอดภัยและราบรื่น ซึ่งประชาชนต้องมีลายมือชื่อดิจิทัลโดยใช้บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Identification Card) ในการพิสูจน์ตัวตนและใช้เป็นพื้นฐานในการเข้าใช้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐต่าง ๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นอกเหนือจากนี้ X-Road ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศของบริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ ทันสมัย และที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนได้รับบริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นด้วย เพราะช่วยลดเวลาในกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ร้อยละ 95 ของประชาชนที่ยื่นภาษีผ่านระบบ e-Tax สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายในเพียงเวลา 3-5 นาที เท่านั้[8]
  3. ความสอดคล้องกัน (Integrity) ไม่ว่าจะเป็น (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมด (2) การสื่อสารระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร (Machine to Machine: M2M) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหนึ่งหรือหลาย ๆ หน่วยงาน และไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือการแทรกแซงใด ๆ จากมนุษย์ (3) ข้อมูลที่ได้รับการจัดเก็บอยู่ในคลังข้อมูลของหน่วยงาน (Data at Rest) เช่น Storage Server, Files Server, Database หรือในรูปแบบของ Backup Image และ (4) ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ (Logfile) ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บและเชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยี Blockchain หรือการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่งที่มีการจัดเก็บเป็นส่วน ๆ (Block) แล้วนำมาร้อยต่อกันเรื่อย ๆ เหมือนโซ่คล้องกัน (Chain) โดยใช้วิธีเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์เพื่อความมั่นคงปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยทำให้ทราบว่าข้อมูลถูกจัดเก็บเวลาใด และมีการแก้ไขหรือไม่ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งและกระจายเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่าย
  4. แพลตฟอร์มภาครัฐแบบเปิด (Open Platform) โดยอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานและระบบปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ที่เปิดเผยหลักการหรือแหล่งที่มาของเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์นั้น ผู้ใช้งานจะสามารถแก้ไข ดัดแปลง แลกเปลี่ยน ทำงานร่วมกัน และเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ รวมถึงการต่อยอดซอฟต์แวร์เหล่านั้นเพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งบุคคลและหน่วยงานในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
  5. กฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป (No Legacy) โดยต้องมีการปรับปรุงกฎหมายด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
  6. ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Transparency) ประชาชนต้องมีสิทธิในการดูและตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลที่ภาครัฐนำไปใช้บนระบบ Logfile หรือข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์
Estonia_X-Road_4.jpg

อุปสรรคและความท้าทายของรัฐบาลเอสโตเนีย

แม้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของประชาชน และทำให้เอสโตเนียสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างก้าวกระโดด จนได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางดิจิทัลมากที่สุดของโลก แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลเอสโตเนียก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายอย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้
 
ประการแรก การพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูง ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวคือไม่ว่าเทคโนโลยีด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากเพียงใด แต่อาชญากรในโลกไซเบอร์ก็ยังคงพัฒนาการโจมตีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในรูปแบบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ขณะที่รัฐบาลเอสโตเนียก็ยังมุ่งหน้าขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญระหว่างหน่วยงานระดับชาติทั้งหลาย รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลด้านต่าง ๆ ของประชาชนต่อไป นอกจากนี้ยังคงมีประเด็นความเสี่ยงอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือการบิดเบือนข้อมูลหรือข่าวปลอมในโลกโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ทว่าในแง่ของการป้องกัน ควบคุม หรือปราบปรามนั้น ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง ดังนั้นจึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลยังต้องเผชิญ
         
ประการที่สอง ความไม่สอดคล้องกันของระบบให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และขาดการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ เนื่องด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับข้อจำกัดในด้านรูปแบบข้อมูลของหน่วยงานที่มีความแตกต่างกันและระบบจัดเก็บข้อมูลยังไม่เพียงพอ จึงทำให้รัฐบาลเอสโตเนียไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการให้บริการสาธารณะเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดได้ในคราวเดียว ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหาด้านความไม่สอดคล้องกันของระบบการให้บริการภาครัฐในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายปรับปรุงระบบบริหารราชการ อีกทั้งยังขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างเป็นเอกภาพ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่รัฐบาลส่งเสริมให้ลดการใช้กระดาษ ด้วยนโยบาย Paperless e-Government และ e-Tax แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานจำนวนมากที่ไม่รองรับการบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ใบขับขี่ยานพาหนะ ที่ในช่วงแรกยังต้องพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษ และการกรอกแบบฟอร์มใบสมัครด้วยการเขียนมือ รวมถึงจำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงานขนส่ง (Registry of Motor Vehicles) ด้วยตัวเองหลายครั้ง เป็นต้น
         
ประการที่สาม ความล่าช้าในการกำหนดใช้กฎหมาย ในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายปรับปรุงระบบราชการตามแผนปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลเอสโตเนียยังไม่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมถึงยังไม่ได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจด้านการพัฒนาสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นรูปธรรม (Information Society) ดังนั้นจึงส่งผลทำให้ไม่มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ผลักดันและยกร่างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้กำกับดูแลการดำเนินงาน
 
ประการสุดท้าย ข้อจำกัดด้านความสามารถในการปรับตัวของประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่รัฐบาลเอสโตเนียต้องหาวิธีการแก้ไขโดยเร็ว กล่าวคือประชาชนบางกลุ่มยังไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนขาดทักษะและไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ภาครัฐนำเสนอ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกหนึ่งประเด็นความท้าทายที่รัฐบาลเอสโตเนียต้องเผชิญ นั่นคือการใช้ภาษารัสเซียในชีวิตประจำวันของประชาชน เนื่องจากระบบการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ของภาครัฐได้รับการพัฒนาขึ้นโดยใช้ภาษาเอสโตเนียนเป็นภาษาทางการ ด้วยเหตุนี้เอง จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้ภาษารัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชาชนกลุ่มนี้จะไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือรับบริการจากภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
         
และเมื่อหันกลับมาพิจารณาบริบทของการขับเคลื่อนนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยเพื่อที่จะช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมที่แข็งแกร่งให้แก่ประเทศ และผลักดันให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นนั้น อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีมาก ทั้งนี้พิจารณาได้จากผลการสำรวจการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ในช่วงปี 2559 - 2563 ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 47.5 (29.8 ล้านคน) ในปี 2559 เป็นร้อยละ 77.8 (49.7 ล้านคน) ในปี 2563 และประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมใช้สมาร์ตโฟนในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 87.8[9] อีกด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานและการให้บริการสาธารณะด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐควรเร่งนำe-Services และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ให้รวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ e-Services เป็นตัวกลางเชื่อมปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อช่วยให้ SMEs อยู่รอด เติบโต และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ประเทศไทยควรปรับใช้แนวทางการปรับปรุงระบบบริหารราชการเช่นเดียวกับประเทศเอสโตเนีย
 
ทั้งในเรื่องการปรับปรุงกฎหมายด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และการมุ่งเสริมสร้างทักษะและสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง
 

เอสโตเนียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมแห่งข้อมูลที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผลมาจากนโยบายการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) ที่รัฐบาลเอสโตเนียประกาศใช้ในช่วงทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา

File Download

  • 25 มิ.ย. 64
  • 0
Size2672 KB
Rating :
Avg: 5 (1 ratings)