TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

มนุษย์เราพร้อมแล้วหรือยัง กับโลกมายาที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ AI สร้างขึ้น?

Foresight Documents
  • 30 ต.ค. 66
  • 1066

มนุษย์เราพร้อมแล้วหรือยัง กับโลกมายาที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ AI สร้างขึ้น?

Key Takeaways:

  • การใช้งาน AI สร้างคอนเทนต์บนโลกออนไลน์กำลังเติบโต และมาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งข่าวลวง ข่าวปลอม ข้อมูลที่ไม่ถูก ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือจริงบางส่วน (Disinformation) Deepfakes และความจริงที่สร้างขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลรองรับ (Hallucinated Facts)  
  • ปัจจุบันพบการใช้ AI ในการสร้างคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างผลกระทบในวงกว้าง เช่น มีการใช้ AI สร้างภาพเหตุระเบิดใกล้กับอาคารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีการปลอมเสียงเป็น CEO หลอกโอนเงิน และมีการทำ Deepfake ประธานาธิบดียูเครน กล่าวประกาศยอมแพ้สงครามรัสเซีย-ยูเครน 
  • ทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อ สำนักข่าว และ ครีเอเตอร์ รวมถึงประชาชนทั่วไป ควรร่วมมือกัน สร้างโลกที่ใช้และเสพคอนเทนต์ที่ AI ผลิตสร้างสรรค์ มีจริยธรรม มีความตระหนักรู้ พัฒนาความเข้าใจในการใช้งาน และตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาในการใช้งาน
 

ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีการใช้งานที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจะเห็นคนมากมายพูดถึง Generative AI ซึ่งเป็น AI ที่ถูกออกแบบให้มีความสามารถในการ “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model ยกตัวอย่างเช่น ChatGPT MidJourney และ DALL-E ฯลฯ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคอนเทอนต์จำนวนมาก   
 
อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทาย เนื่องจากปัจจุบัน พบการสร้างคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมจำนวนมาก มีการเพิ่มขึ้นของข่าวลวง ข่าวปลอม ข้อมูลที่ไม่ถูก ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือจริงบางส่วน (Disinformation) เนื้อหาที่สร้างขึ้นเพื่อปลอมแปลงลักษณะบุคคลต่าง ๆ ผ่านสื่อวิดีโอ รวมถึงภาพถ่าย และการบันทึกเสียง (Deepfakes) และ ความจริงที่สร้างขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลรองรับ (Hallucinated Facts) 
 
คำถามคือ ในวันที่โลกของเราเป็นไปด้วยสิ่งมายาต่าง ๆ ที่ AI สร้างขึ้น ทั้งคอนเทนต์ ระบบที่ใช้ AI มนุษย์เราพร้อมแล้วหรือยัง? จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างไร? และเราควรรับมืออย่างไร?
 
จะชัวร์ก่อนแชร์ยังไง ในเมื่อ AI สร้างคอนเทนต์เองได้เนียนกริ๊บ!  
เมื่อเราอยู่ในยุคที่ AI เฟื่องฟู เราต้องกลับมาคิดว่าคอนเทนต์ที่เราเห็นกันทั่วไป เป็นข้อมูลจริงหรือเปล่า ความจริง จริง ๆ แล้วคืออะไร อย่าเชื่อทุกสิ่งที่เห็นในทันที ปัจจุบัน เราแทบแยกไม่ออกแล้วว่าเนื้อหาต่าง ๆ ที่เราเห็นบนโลกออนไลน์นั้นถูกสร้างขึ้นด้วยมนุษย์หรือ AI
 
จากงานวิจัยที่ลองใช้ AI กับคนสร้างข้อความเท็จใน Twitter แล้วให้กลุ่มตัวอย่างลองทายว่าอันไหนเป้นข้อความเท็จ พบว่ามีโอกาสน้อยกว่า 3% ที่คนจะจับได้ว่าทวีตปลอมใน Twitter ที่สร้างโดย AI เป็นข้อความเท็จเมื่อเทียบกับข้อความเท็จที่มนุษย์สร้าง ซึ่งในการทดลองครั้งนี้ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ GPT-3 เรียกได้ว่าปลอมได้เนียน และเขียนโน้มน้าวให้มนุษย์เชื่อได้เก่งกว่ามนุษย์ด้วยดันเองเสียอีก ซึ่งอาจเกิดจากข้อความของ GPT-3 มักจะมีโครงสร้างมากกว่าข้อความธรรมดาที่เขียนโดยมนุษย์แต่ก็กระชับเพื่อให้ง่ายต่อการประมวลผล โดยรวม ร้อยละอาจจะดูแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากปัญหาของการกระจายข้อมูลเท็จโดย AI อาจมีโอกาสเติบโตในขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยยะสำคัญ
 
นักวิจัยกล่าวว่าการกระจายข้อมูลเท็จโดย AI ไม่เพียงเร็วและถูกกว่าเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย และมองว่าถ้าทีมวิจัยซ้ำอีกแต่วิจัยด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ล่าสุดจาก OpenAI คือ GPT-4 ความแตกต่างจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกด้วยความสามารถของ GPT-4 ที่มากกว่ามาก
 
Creator Economy Report 2023 ของ The Influencer Marketing Factory ระบุว่าในสหรัฐอเมริกา ครีเอเตอร์หรือนักสร้างคอนเทนต์ ถึง 94.5% ยอมรับว่าใช้ AI ในการทำคอนเทนต์ โดยส่วนมากใช้ในการปรับแต่งเนื้อหา และสร้างรูปภาพหรือวิดีโอ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่ AI เข้ามาช่วยในการทำงาน ลดเวลาในการสร้างคอนเทนต์ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพา AI มากเกินไป ขาดการตรวจสอบ อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในวงกว้างแบบที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว อีกทั้งอาจเราถูกครอบงำความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นจุดแข็งของมนุษย์ไป และหยุดคิดที่จะหาไอเดียใหม่ ๆ 
 
อีกทั้ง NewsGuard บริษัทที่วัดความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวออนไลน์ ตรวจพบ 49 เว็บไซต์ที่ดูเหมือนจะใช้ AI สร้างเกือบทั้งหมด เฉพาะในเดือนเมษายนปี 2023 และยังพบอีกว่า บางเว็บไซต์สร้างบทความเป็นหลายร้อยบทความต่อวัน โดยทั้งหมดของเว็บไซต์หรือเนื้อหาส่วนใหญ่สร้างโดย AI ยอดนิยม เช่น ChatGPT ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับคุณภาพและความโปร่งใสของเนื้อหา เพราะเป็นการผลิตเนื้อหาที่เน้นปริมาณแต่ไม่เน้นคุณภาพ ทำให้มีเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพถูกผลิตเข้าสู่โลกออนไลน์ ยิ่งการที่ AI สร้างเนื้อหาใกล้เคียงกับมนุษย์จนแยกได้ยาก ยิ่งทำให้เกิดการกระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบนอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น หากผู้ใช้ไม่ตรวจสอบคุณภาพเนื้อหาให้ดีก่อนเผยแพร่ หรือมีบุคคลที่จงใจเผยแพร่ด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ดี
 
ต้องยอมรับว่าข้อมูลที่เอามาบนโลกอินเทอร์เน็ตมีทั้งข้อมูลจริง ข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น อาจมีเรื่องอคติ ข้อมูลที่บิดเบือน หรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ส่วนใหญ่คนมักเชื่อว่าคอมพิวเตอร์ประมวลผลคำตอบที่ถูกต้องให้กับเรา แต่หากที่ใส่เข้าไปไม่มีคุณภาพ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน (Garbage in; Garbage Out) 
 

Content03_01.jpg

ภาพจาก PPTVHD36

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ภาพคล้ายกับเหตุระเบิดใกล้กับอาคารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ที่กลายเป็นไวรัลบนทวิตเตอร์อย่างมาก สื่อดังอย่าง Russia Today ก็ได้การเผยแพร่ภาพดังกล่าวเช่นกัน แต่ภายหลังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมายืนยันว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ AI สร้างขึ้น ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกกับประชาชนอย่างมาก ถึงกับทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงชั่วคราวเลยทีเดียว

Content03_02.jpg

ภาพจาก ThaiPublica

ในสถานการณ์ความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซียก็มีการใช้ข่าวปลอมลักษณะนี้ในการโจมตีฝั่งตรงข้าม โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการทำวิดีโอ Deepfake ของ Volodymyr Zelenskyy ประธานาธิบดียูเครน กล่าวประกาศยอมแพ้สงคราม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการใช้ AI ในการปลอมแปลงลักษณะบุคคลต่างๆ ผ่านรูปภาพ วิดีโอ และเสียง เช่น การนำใบหน้าของบุคคลหนึ่งไปแทนที่บุคคลอื่นซึ่งแสดงอากัปกิริยาต่างๆ ในวิดีโอได้อย่างแนบเนียน ซึ่งในสถานการณ์ที่สงครามกำลังครุกกรุ่นเช่นนี้ก็อาจมีคนหลงเชื่อ เข้าใจผิดได้ โดยช่วงปี 2019–2020 จำนวนเนื้อหา Deepfake ในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 900% 
 
หรืออย่างเหตุการณ์ปี 2019 CEO ของบริษัทพลังงานในอังกฤษคิดว่าเขากำลังคุยโทรศัพท์กับเจ้านายของเขา ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้บริหารของบริษัทแม่ในเยอรมัน ขอให้เขาส่งเงินจำนวน 243,000 เหรียญสหรัฐ ไปให้ซัพพลายเออร์ฮังการีอย่างเร่งด่วนภายในหนึ่งชั่วโมง แต่ปรากฏว่าเป็นเสียงของมิจฉาชีพที่ใช้ AI ปลอมเสียงมา
 
เราจะเห็นได้ว่า การสร้างคอนเทนต์ด้วย AI มีข้อดีก็จริงทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการสร้างคอนเทนต์ ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มใหม่ และช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในกระบวนการสร้างเนื้อหา ซึ่งสามารถช่วยองค์กรประหยัดทรัพยากรได้ แต่ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือเพราะอาจสร้างความเข้าใจผิด สร้างข้อมูลเท็จหรือไม่ถูกต้อง การที่ AI เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ เนื้อหาที่สร้างด้วย AI อาจทำให้ผู้สร้างคอนเทนต์ และอุตสาหกรรมสื่อต้องปรับตัวในการแข่งขันและปรับปรุงคุณภาพของคอนเทนต์ที่สร้างขึ้น
 
สภาพแวดล้อมของข้อมูลบนโลกออนไลน์ อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป? 
ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานตำรวจสากลแห่งสหภาพยุโรป (Europol) มีการคาดการณ์ว่าเนื้อหาบนโลกออนไลน์กว่า 90% อาจถูกสร้างจาก AI ภายในปี 2026 ซึ่งจะทำให้เกิดการปลอมแปลงข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนรวมไปถึงการพิจารณากฎหมายนับเป็นความท้าทาย และมีเรื่องที่ต้องรับมือมากมาย กับการที่เราต้องอยู่ในโลกที่เนื้อหาต่าง ๆ ถูกสร้างด้วย AI 
 
มาลองดูการคาดการณ์อนาคตของสภาพแวดล้อมของข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ จาก Pew Research Center และ Elon University’s Imagining the Internet Center กันดีกว่าสภาพแวดล้อมของข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือมนุษย์อย่างเราจะรับมือกับมันได้ไหม ซึ่งได้มีการพูดถึง AI ในหลายบริบทไว้อย่างน่าสนใจคาดการณ์อนาคตนี้ได้มีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2017 ว่าอีก 10 ปี หรือในปี 2027 จะเป็นอย่างไร โดยได้แบ่งกลุ่มสถานการณ์ออกเป็น 3 รูปแบบ และ 5 ฉากทัศน์ดังนี้

img-info_TH.png

1. สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศไม่ได้มีอะไรดีขึ้น
ฉากทัศน์ที่ 1: สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศไม่ได้มีอะไรดีขึ้น เนื่องจากปัญหาอยู่ที่มนุษย์ 
  • มนุษย์และ AI สามารถสร้างและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศที่บิดเบือนได้ทันที ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตและนวัตกรรม
  • มนุษย์มักเชื่อมั่นในสิ่งที่คล้ายคลึงกับตนเองหรือสิ่งที่คุ้นเคยมากที่สุด เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์จะมีความเห็นแก่ตัว ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและชอบความสะดวกสบาย
  • ในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และระบบสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผู้นำองค์กรที่มีอำนาจและผู้นำรัฐบาลที่มีความสามารถในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมข้อมูลสารสนเทศจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดเมื่อสภาพแวดล้อมดังกล่าวอยู่ในสภาวะวุ่นวาย 
  • ด้วยลักษณะของมนุษย์และปัญหาการมีข้อมูลสารสนเทศมากเกินไป ทำให้ผู้คนเกิดการแบ่งแยกหรือเกิดความขัดแย้งกัน ทำให้ยากต่อการตกลงเรื่องความรู้ทั่วไปร่วมกัน การโต้วาทีเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีและการสร้างความเชื่อมั่นเป็นไปได้ยากขึ้น สื่อที่เชื่อถือได้หรือเป็นที่ยอมรับในการสื่อสารข้อมูลสารสนเทศเริ่มลดลง ข้อมูลสารสนเทศที่มาจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ สร้างข้อมูลสารสนเทศที่ผิด หรือสร้างความสับสน มีโอกาสเติบโตขึ้น 
  • คนส่วนน้อยในสังคมจะหา ใช้ หรือแม้กระทั่งยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่เชื่อถือได้ ในขณะที่คนกลุ่มอื่นในสังคมจะเกิดความวุ่นวายจากการไม่ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่มีความน่าเชื่อถือ และเกิดความแตกต่างทางดิจิทัลที่มากขึ้น
 
ฉากทัศน์ที่ 2: สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศไม่ได้มีอะไรดีขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ในระดับกว้าง และมนุษย์ยังไม่สามารถรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
  • เรื่องราวที่สามารถใช้เป็นอาวุธและเนื้อหาเท็จอื่นๆ จะถูกขยายโดยโซเชียลมีเดีย การกรอง (Filter) ข้อมูลสารสนเทศเฉพาะที่ตรงกับความคิดตัวเองหรือที่สนใจ และอัลกอรึทึมของ AI 
  • ผู้ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและไม่ใช่เพื่อสาธารณะโดยทั่วไปจะได้เปรียบ และมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำในสงครามข้อมูลสารสนเทศ
  • เทคโนโลยีที่จะนำมาแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลสารสนเทศที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ความเป็นส่วนตัวของผู้คนลดลง และจำกัดเสรีภาพในการออกเสียง และทำให้คนไม่สามารถไม่เปิดเผยตัวตนบนออนไลน์ได้
 
2. สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ฉากทัศน์ที่ 3: สภาพแวดล้อมข้อมูลสารสนเทศจะดีขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีจะช่วยในการออกป้ายกำกับ คัดกรองหรือไม่อนุญาตให้มีการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเท็จ และเพิ่มความสามารถให้กับประชาชนในการประเมินคุณภาพและความเป็นจริงของเนื้อหาได้
  • มีเทคโนโลยีที่ช่วยปรับแต่งตัวกรอง (Filter) อัลกอริทึม เบราว์เซอร์ แอปพลิเคชัน โปรแกรมเสริม และใช้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Trust Ratings) ของเนื้อหาได้
  • มีการแก้ไขกฎหมายซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดความรับผิดของซอฟต์แวร์ (Software Liability Law)   การบังคับให้ผู้ใช้ให้ระบุตัวตนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความปลอดภัยในการใช้งานออนไลน์ และข้อบังคับเกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ 
 
ฉากทัศน์ที่ 4: สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศจะดีขึ้น เพราะมนุษย์สามารถปรับตัว และทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นได้
  • ข้อมูลสารสนเทศเท็จยังคงมีอยู่แต่มนุษย์สามารถหาวิธีลดผลกระทบของมันได้ สามารถจัดการได้มากขึ้น เนื่องจากมนุษย์เริ่มมีความเชี่ยวชาญในการคัดแยกเนื้อหามากขึ้น
  • พลังและความร่วมมือจากมวลชน (Crowdsourcing) จะช่วยกันตรวจสอบข้อมูลสารสนเทศ เนื้อหาต่าง ๆ และบล็อกผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเท็จเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ดีออกไป อีกทั้งคนบางกลุ่มก็ได้คาดหวังให้มีการใช้เทคโนโลยี อย่าง Blockchain มาช่วยการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศแบบกระจายศูนย์
 
3. สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ฉากทัศน์ที่ 5: เทคโนโลยีไม่สามารถชนะในสงครามข้อมูลสารสนเทศได้ มีการสนับสนุนเงินทุนและการผลิตข้อมูลสารสนเทศที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และความถูกต้อง รวมถึงมีการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศออนไลน์ให้กับประชาชน
  • เงินทุนและการสนับสนุนเน้นฟื้นฟูสื่อสาธารณะที่มีความเข้มแข็ง สุจริตและน่าเชื่อถือ
  • เพิ่มความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศบนโลกออนไลน์ให้กับประชาชน เป็นเป้าหมายหลักในทุกระดับการศึกษา
 
โดยภาพรวมแล้ว เราจะเห็นฉากทัศน์อยู่ 3 รูปแบบคือ อนาคตอาจเกิดภาพที่สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศบนโลกออนไลน์ไม่ได้ดีขึ้น การสร้างเนื้อหาด้วยมนุษย์และ AI เติบโตและสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น ไม่ได้มีการจัดการแก้ไขอะไร หรือเทคโนโลยีไปไกลเกินกว่ามนุษย์จะรับมือได้ โดยเนื้อหาที่สามารถใช้เป็นอาวุธ และเนื้อหาเท็จอื่นๆ ถูกขยายผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยโซเชียลมีเดีย และการกรอง (Filter) ข้อมูลสารสนเทศเฉพาะที่ตรงกับความคิดของตัวเองหรือที่สนใจ และเกิดจากอัลกอริทึมที่ AI เลือกให้ 
 
ในทางกลับกัน สภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศ อาจเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากการที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยปรับแต่งตัวกรอง (Filter) อัลกอริทึม เบราว์เซอร์ แอปพลิเคชัน โปรแกรมเสริม และใช้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Trust Ratings) ของเนื้อหาได้ ข้อมูลสารสนเทศเท็จยังคงมีอยู่แต่มนุษย์สามารถหาวิธีลดผลกระทบของมันได้ สามารถจัดการได้มากขึ้น เนื่องจากมนุษย์เริ่มมีความเชี่ยวชาญในการคัดแยกเนื้อหามากขึ้น แลสุดท้ายคือมีการจัดโครงการช่วยเหลือและสนับสนุน มีเงินทุน การสนับสนุน และการเพิ่มความรู้ด้านสภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศบนโลกออนไลน์ให้กับประชาชน
 
หลังจากเห็นฉากทัศน์เรื่องสภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศแต่ละรูปแบบแล้ว คุณอยากให้ประเทศของเราอยู่ในฉากทัศน์ไหน?
 
จะรับมือกับสภาพแวดล้อมของสารสนเทศบนโลกออนไลน์ ที่สร้างด้วย AI อย่างไร 
เพื่อแก้ไขหรือป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเนื้อหาด้วย AI ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต และสร้างผลกระทบในวงกว้าง จึงขอเสนอแนะแนวทางในการรับมือในภาคส่วนต่าง ๆ ด้งนี้ 
 
ภาครัฐ
  • พัฒนานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและเผยแพร่เนื้อหาที่เกิดจาก AI โดยมีข้อกำหนดที่เป็นประโยชน์และสามารถใช้ในการควบคุมคุณภาพเนื้อหาได้ 
  • ภาครัฐควรกำหนดกรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นระบบแบบครอบคลุมเพื่อรับมือกับการสร้างและการแพร่กระจายเนื้อหาที่เกิดจาก AI โดยกำหนดหน้าที่ของผู้สร้างเนื้อหาและแพลตฟอร์ม และกำหนดโทษที่เกิดจากการละเมิด
  • ต้องพัฒนานโยบายและกฎหมายที่เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของทิศทาง AI ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงจัดทำแนวทางสำหรับการสร้างป้ายกำกับเนื้อหาที่เกิดจาก AI และกลไกในการถอดเนื้อหาออกเมื่อตรวจพบข้อมูลเท็จ
  • โดยให้ทุนสนับสนุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับเนื้อหาที่เกิดจาก AI 
  • สนับสนุนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มีมาตรการในการตรวจสอบความถูกต้องและคุณภาพของเนื้อหาที่เกิดจาก AI และเนื้อหาที่สร้างโดยมนุษย์ 
  • สนับสนุนการศึกษาและวิธีการรับมือกับสภาพแวดล้อมของข้อมูลสารสนเทศที่เกิดจาก AI ผ่านการจัดอบรมและการสร้างโปรแกรมการเรียนรู้ 
  • เพื่อพัฒนาเครื่องมือและแนวทางในการรับมือกับเนื้อหาที่เกิดจาก AI
 
ภาคเอกชน
  • ควรมีการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องมือตรวจจับเนื้อหาที่สร้างด้วย AI ที่มีประสิทธิภาพส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ที่สามารถระบุและตรวจสอบเนื้อหาที่เกิดจาก AI ในระดับสูงได้ เช่น ระบบป้องกันข้อมูลสารสนเทศเท็จที่ใช้ AI 
  • สร้างความรู้ความเข้าใจ และแนวทางการรับมือกับเนื้อหาที่เกิดจาก AI ให้แก่ทุกคนในองค์กร โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้สร้างคอนเทนต์เผยแพร่สู่สาธารณะ 
  • เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการกับเนื้อหาที่เกิดจาก AI
  • พัฒนาทีมคนทำงานที่เชียวชาญเกี่ยวกับการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพเนื้อหาที่เกิดจาก AI
 
ประชาชนทั่วไป
  • เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างเนื้อหาด้วย AI และวิธีการตรวจสอบข้อมูลสารสนเทศ สร้างองค์ความรู้เพิ่มเติม ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิธีการรับมือกับข้อมูลสารสนเทศที่เกิดจาก AI ผ่านการอบรมและโปรแกรมการเรียนรู้ 
  • ตรวจสอบข้อมูลสารสนเทศก่อนที่จะแชร์หรือเชื่อมั่นในข้อมูลสารสนเทศ 
  • สามารถรายงานข้อมูลสารสนเทศที่เป็นข้อกำหนดหรือเนื้อหาที่เป็นเท็จกับแพลตฟอร์มหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
  • เพื่อป้องกันการแพร่กระจายข้อมูลสารสนเทศที่ไม่เหมาะสม
 
ผู้สร้างคอนเทนต์ เช่น สื่อ สำนักข่าว และ ครีเอเตอร์
  • จากการเพยแพร่เนื้อหา 
  • โดยการอ้างอิงแหล่งที่มาที่มีความน่าเชื่อถือ 
  • สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ AI เข้าใจความสามารถและข้อจำกัดของเครื่องมือ 
  • ซื่อสัตย์กับงานที่ทำ เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศที่เที่ยงตรงและถูกต้อง 
  • ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและคุณค่าที่ AI ยังไม่สามารถทดแทนได้

 
ถึงตาคุณแล้ว มาลองวิเคราะห์คอนเทนต์ถัดไปที่คุณเห็นในโซเชียลมีเดียดูกัน!  คุณคิดว่าเขาใช้ AI ทำหรือไม่ เขาน่าจะใช้ทำในส่วนไหนบ้าง คุณคิดว่าข้อมูลสารสนเทศมันน่าเชื่อถือไหม? ลองตรวจสอบหลาย ๆ แหล่งก่อนแชร์แล้วหรือยัง? รวมถึงในการใช้เครื่องมือ AI ในการทำคอนเทนต์ ให้ลองพิจารณา ตรวจสอบความถูกต้องลองจินตนาการถึงผลกระทบที่ตามมาดู 
 
แน่นอนเราอาจแค่ทำโดยไม่ได้มีเจตนาประสงค์ร้าย แต่ใครจะคิดว่ามันอาจเป็นการเพิ่มข้อมูลสารสนเทศเท็จเข้าสู่โลกออนไลน์โดยไม่ตั้งใจก็ได้ หรืออาจมีใครเอาสิ่งที่เราโพสต์ไปใช้โดยมีเจตนาที่ไม่ดีแอบแฝงก็เป็นได้ และผลที่ตามมาอาจร้ายแรงกว่าที่คิด ดังนั้นอย่าลืม ชัวร์ก่อนโพสต์ ชัวร์ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์กันนะ !

 

อ้างอิงจาก
The Influencer Marketing Factory, Business Insider, NewsGuard, Euronews (1), Euronews (2), Financial Times, PPTVHD36, ThaiPublica, The Wall Street Journal, TNN, Technology Review, Pew Research Center

Rating :
Avg: 1.1 (60 ratings)