TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

หวัดดี เราชื่อ ETDA

Digital Service Documents
  • 07 พ.ค. 64
  • 5887

หวัดดี เราชื่อ ETDA

หลายคนอาจจะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับ ETDA ได้ยินชื่อมาบ้างจากสื่อต่าง ๆ บางคนก็อาจจะได้เห็นชื่อนี้เป็นครั้งแรก ยิ่งบางคนถึงเคยจะได้ผ่านตา ผ่านหูมาบ้าง แต่ยังงง ๆ ว่า ETDA คือหน่วยงานแบบไหน ทำอะไรกันแน่
 
วันนี้เลยเราเลยมาแนะนำตัวกันสักเล็กน้อย

เรียกฉันว่า

ETDA อ่านว่า “เอ็ด-ด้า” มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษของสำนักงานคือ Electronic Transactions Development Agency’ และในชื่อภาษาไทยว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (อ่านว่า สอ-พอ-ทอ-ออ)  เห็นชื่อตรงนี้แล้ว เรียกว่า ETDA (เอ็ตด้า) หรือ สพธอ. ง่ายกว่าเยอะเลย

แล้ว ETDA คืออะไร

ETDA เป็น องค์การมหาชน ซึ่งองค์การมหาชนก็คือองค์กรของรัฐอีกประเภทหนึ่ง ที่มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการงบประมาณของตนเอง โดยดำเนินการตามวัตถุประสงค์เฉพาะที่กำหนดไว้[1] ซึ่งวัตถุประสงค์ของ ETDA กำหนดขึ้นด้วยกฎหมาย พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562

ETDA มีมาสคอตประจำหน่วยงานคือ ETDA Bear (เอ็ตด้าแบร์) หรือ หมีเอ็ตด้า เป็นหมีสีขาว มีเสาอากาศอยู่ตรงหัวเพื่อรับคลื่น มีนิสัยซุกซน ชอบลองทำสิ่งใหม่ ๆ ถ้าใครที่ติดตามมาสักพัก จะเห็น ETDA Bear ชอบแต่งตัวเป็นบทบาทนั้น บทบาทนี้)

ในโครงสร้างของ ETDA แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. คณะกรรมการกำกับ (Supervisory Board) หรือ บอร์ด ที่คอยกำกับการทำงานขององค์กรให้เป็นไปตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย ประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงบประมาณ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (มีหลากหลายด้านทั้งธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และสังคม การบริหารจัดการ หรือด้านเศรษฐกิจการเงิน) และกรรมการและเลขานุการ (ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ผอ. ETDA)

2. ผู้อำนวยการ ETDA ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี โดยเปิดรับสมัครและคัดเลือกมาโดยบอร์ด มีหน้าที่บริหารและบังคับบัญชาพนักงาน ETDA ให้สามารถทำงานตามนโยบาย เป็นผู้แทนของสำนักงานฯ[2] ฯลฯ

3. พนักงานของ ETDA มีหน้าที่ที่แยกกันไปตามสายงาน อาทิ กฎหมาย มาตรฐาน นโยบาย วิทยาการข้อมูล (Data Science)

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย

ก่อนจะไปดูหน้าที่ของ ETDA กันต่อ เราจะเห็นคำว่า ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาจากคำว่า Electronic Transaction หรือ e-Transaction) ที่กฎหมายได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็น ธุรกรรม (การกระทำในทางแพ่ง พาณิชย์ หรือรัฐ) ที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

และในสากลอย่าง OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีสมาชิกเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจ) ให้ความหมายไว้ว่าเป็น “การขายหรือซื้อสินค้าหรือบริการ โดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นตัวกลาง”[3]

ในประเทศไทยมี คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ คธอ. (อ่านว่า คอ-ทอ-ออ)” เป็นผู้ดูแลประเด็นนี้ของประเทศ ทั้งการทำแผนยุทธศาสตร์ ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะกับรัฐมนตรี ออกระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง กำกับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง[4]  โดยมี ETDA ทำงานสนับสนุน คธอ. และผู้อำนวยการ ETDA ยังเป็นกรรมการและเลขานุการของ คธอ. ด้วย

หน้าที่ที่เติบโตตามอายุ

ปัจจุบัน (ปี 2564) ETDA มีอายุครบ 10 ปีแล้ว โดยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 โดย พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 และในปี 2562 ก็ได้รับหน้าที่เกี่ยวกับด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จาก พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) เพิ่มขึ้นมา ทั้งการสนับสนุน คธอ. การเป็นศูนย์วิชาการ และการกำกับดูแล ดังนี้
  • การทำแผนและนโยบาย: ทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน
  • การส่งเสริมและสนับสนุน: เพื่อให้ประเทศสามารถรองรับการพัฒนาด้าน e-Transaction แก่ภาครัฐและเอกชน (ทั้งด้านการเงิน การค้า การลงทุน และการนำเข้าส่งออก), ทำความตกลงและร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
  • ด้านวิชาการ: ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นศูนย์กลางทางวิชาการเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรมบุคลากรทั้งในและนอกสำนักงาน
  • การกำกับดูแล: วิเคราะห์และรับรองความสอดคล้องตามมาตรฐานหรือกลไกกำกับดูแลของผู้เกี่ยวข้อง สนับสนุนการประกอบธุรกิจของธุรกิจบริการที่เกี่ยว e-Transaction
บทบาทของ ETDA จึงเหมือนกับการเสนอทิศทางการผลักดัน ร่างมาตรฐาน ศึกษาความรู้และข้อมูลไปเพื่อเสนอ คธอ. พิจารณานั่นเอง สนใจเข้าไปดูหน้าที่ของ ETDA ได้ ที่นี่ 

ETDA_bear1.jpg

ไฮไลต์งานของ ETDA และยังเดินหน้าอยู่

ETDA ได้ดำเนินโครงการเพื่อให้บริการประชาชนหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น
  • e-Meeting: จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ ETDA มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในการปรับปรุงกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ ให้ทันสถานการณ์ พร้อมจัดให้มีบริการรับรองระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ที่จะเข้าไปช่วยดูมาตรฐานของระบบควบคุมการประชุมทางออนไลน์ของหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ให้มีความมั่นคงปลอดภัยและมีผลทางกฎหมาย โดยไม่ต้องเดินทางมาประชุมรวมตัวกัน โดยปี 2564 ETDA ยังคงให้บริการรับรองนี้ พร้อมส่งเสริมให้มีผู้ใช้บริการจากผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ ที่นี่ 
  • e-Tax Invoice & Receipt Service Provider: ตามกฎหมายของประเทศไทยที่ภาคธุรกิจมีหน้าที่ในการนำส่งใบกำกับภาษีและใบเสร็จให้แก่กรมสรรพากร และเพื่อความสะดวก กรมสรรพากรจึงได้ยอมรับใบกำกับภาษีและใบเสร็จในรูปอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ทำให้ไม่ต้องเก็บเอกสารกระดาษเป็นปึก ๆ หรือสิ้นเปลืองพื้นที่ในการเก็บ รวมทั้งการจัดส่งให้แก่กรมสรรพากรอีก และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย ไม่ต้องลงทุนพัฒนาระบบจัดทำและจัดส่ง e-Tax Invoice and Receipt เอง  ETDA จึงได้รับความไว้วางใจจากกรมสรรพากร ในการรับรองระบบสารสนเทศของผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ประกอบการเชื่อมั่นใด้ในบริการของผู้ให้บริการเหล่านี้ รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่
  • Digital Service Sandbox: ETDA ยังได้เปิดพื้นที่ให้ภาครัฐและเอกชนที่จะให้บริการดิจิทัล (Digital Service) ที่อาจจะยังไม่มีหรือยังไม่แน่ใจว่ามีกฎหมาย มาตรฐาน หรือกฎระเบียบรองรับ อาจมีความเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎระเบียบ หรือเป็นการนำนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เคยมีใครในประเทศไทยทำมาก่อน มาทดสอบหรือทดลองใช้งานภายใต้สภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด ใน Sandbox ของ ETDA เพื่อดูความเป็นไปได้ ก่อนการใช้งานจริง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 
  • การใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่อีกพื้นที่ ที่เราต้องมีความระมัดระวัง และมีความรู้เท่าทันในการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย ETDA จึงได้จัดทำโครงการ ‘อินเทอร์เน็ตเพื่อชีวิตที่ดีกว่า หรือ Internet For Better Life (IFBL)’ ที่มุ่งให้ความรู้ที่เหมาะสมแก่คนในแต่ละวัย แต่ละการใช้งานพร้อมภาพสวย ๆ ได้ ที่นี่  
  • ETDA ได้สำรวจสถิติที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิสก์ โดยในปีนี้ ได้เริ่มสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซแล้ว ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสำรวจ เข้าไป ที่นี่ ภายใน 30 มิถุนายน 2564 และการสำรวจพฤติกรรมผู้อินเทอร์เน็ตซึ่งทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ปีนี้ก็เริ่มแล้ว เข้าไป ที่นี่ ภายใน 31 พฤษภาคม 2564 สำหรับ รายงานผลของปี 2563 ที่ออกมาแล้ว สามารถเข้าไปดูไฮไลต์สำคัญได้ ที่นี่  เพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับภาครัฐในการกำหนดนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัล ภาคเอกชน สามารถนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม รวมทั้งสถาบันการศึกษาและประชาชนผู้สนใจในการอัปเดตเทรนด์ด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อหารายได้หรือประโยชน์อื่น ๆ ของคนในยุคดิจิทัล
  • จากการสำรวจแต่ละปี สิ่งที่พบคือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีพบปัญหาในการใช้งานต่าง ๆ รวมทั้ง การซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ ถูกหลอกซื้อจากสรรพคุณเกินจริง หรือได้รับการบริการการใช้งานที่แย่ ETDA จึงได้จัดตั้ง ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC (Online Complaint Center) มาตั้งแต่ปี 2558 โดยให้บริการรับเรื่องร้องเรียน 4 ช่องทางที่
    • สายด่วน โทร.1212
    • อีเมล [email protected]
    • เว็บไซต์ https://www.1212occ.com/
    • เฟซบุ๊ก "ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC https://www.facebook.com/1212OCC (คุยที่แช็ตบอต m.me/1212OCC) พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอีมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ ในการดูแลประชาชนและผู้บริโภคทางออนไลน์
 

3 โครงการ (จำง่าย ๆ คือ 2 Digital 1 Electronic) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

นอกจากการบริการที่ ETDA ให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ในปีงบประมาณ 2564 นี้ ETDA ยังได้ดำเนินโครงการที่มี 3 เป้าหมายหลักสำคัญ เพื่อให้ครอบคลุม บริการดิจิทัลและ e-Service ต่าง ๆ ที่ ETDA จะส่งเสริมและกำกับดูแล ให้มีความครบถ้วน และสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต ดังนี้

1. Digital Service Landscape (DSL): เมื่อ ETDA ต้องมีส่วนในการสนับสนุนและกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล จึงต้องจัดทำ ภูมิทัศน์ธุรกิจบริการดิจิทัล เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจบริการ และสามารถทำให้เกิดความพร้อม ความน่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัย ที่ไม่ปิดกั้นการต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

2. Digital ID Ecosystem (DID): เพื่อรองรับการใช้งานของคนไทยทุกคนให้สามารถใช้งานในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง โดยไม่ต้องเสียเวลาไปพิสูจน์ตัวตนกับผู้ให้บริการถึงสถานที่ให้บริการซ้ำแล้วซ้ำแล้ว และไม่ต้องยืนยันตัวตนในการใช้บริการด้วย Digital ID ที่มากมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ผู้รับบริการ โดย ETDA ได้ผลักดันทั้ง (ร่าง) พ.ร.ฎ. เพื่อกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID การผลักดันมาตรฐาน Digital ID และการมีโครงการ Digital Service Sandbox ที่ทดสอบบริการและนวัตกรรมเกี่ยวกับ Digital ID ที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนกำลังพัฒนาด้วย

3. e-Service & e-Office: แบ่งออกเป็นการทำให้ภาครัฐให้บริการ (Service) ประชาชนได้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทำให้หน่วยงานรัฐมีระบบ e-Office เพื่อให้ทำงานเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ ตลอดจนภาคเอกชนเอง สามารถนำข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ที่กำหนดขึ้นไปใช้งาน ด้วยการดำเนินงาน เช่น
  • การจัดทำข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย การค้าและขนส่ง การเงินและการธนาคาร สาธารณสุข และอื่น ๆ
  • การพัฒนาระบบงานให้ภาครัฐนำไปปรับใช้ เช่น ระบบ TEDA ที่รองรับทั้งเรื่อง e-Document, e-Signature, Digital ID ฯลฯ
  • การจัดอบรมเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ 
ตอนนี้เราก็รู้จักกันดีขึ้นแล้ว เรามาก้าวสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกันนะ

ETDA_bear2.jpg
 
 

เรามาก้าวสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกันนะ

Rating :
Avg: 4.2 (5 ratings)