e-Standard
- 02 พ.ย. 55
-
22992
-
E-BANKING คืออะไร?
ในปัจจุบันธนาคารในบ้านเราเกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการให้บริการธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์กันเป็นอย่างมาก หรือที่เรามักเรียกกันว่า E-Banking เนื่องจากมีการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ E-Banking เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย ธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Mobile banking และ Internet banking พบว่า จำนวนบัญชีลูกค้าที่ใช้บริการ, ปริมาณรายการที่ทำธุรกรรม, และมูลค่ารายการ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน 2555 มีจำนวนบัญชีลูกค้าที่ใช้บริการ Internet banking ทั้งหมด 6,051,554 บัญชี ปริมาณรายการที่ทำธุรกรรมจำนวน 10,299 รายการ และมีมูลค่ารายการ1,239 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันการทำธุรกรรมผ่านบริการ Mobile banking มีมูลค่ารายการเพียง 35 ล้านบาทเท่านั้น แต่ในอนาคตอันใกล้การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ Mobile banking มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทกูเกิ้ลเปิดตัว Google Wallet ในปีที่ผ่านมาเพื่อใช้โทรศัพท์ที่รองรับการสื่อสารแนบ Near Field Communication (NFC) และใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เป็นเหมือนกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชำระเงินได้ตามจุดเครื่องอ่านตามร้านค้าที่รองรับ ซึ่งในปัจจุบันมีการให้บริการในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่อาจจะขยายการให้บริการมาถึงประเทศไทยในไม่ช้า ดังนั้น เราควรทำความรู้จักกับ E-Banking เพื่อให้ทราบว่าคืออะไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง
E-Banking คือ การทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคาร โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน หรือ สอบถามยอดเงิน เป็นต้น E-Banking อาจเรียกด้วยชื่ออื่น เช่น Internet Banking (ธนาคารอินเตอร์เน็ต), Online Banking (ธนาคารออนไลน์), Electronic Banking (ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์), Cyber Banking (ธนาคารไซเบอร์) เป็นต้น
ประเภทของ E-Banking สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต
บริการสำหรับธนาคารที่ให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต มีบริการ อาทิ
- บริการโอนเงินระหว่างบัญชีของผู้ใช้บริการเอง หรือการโอนเงินไปยังบุคคลอื่น
- บริการสอบถามสถานะเช็ค
- บริการอายัดเช็ค
- บริการสอบถามรายการเคลื่อนไหวในบัญชี
- บริการสอบถามรายการชำระ
- บริการสอบถามยอดคงเหลือในบัญชี
- บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการฃ
- บริการชำระค่าบัตรเครดิต
- บริการขอสินเชื่อ
เป็นต้น
- ให้บริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
ธนาคารที่ให้บริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มีบริการ อาทิ
- บริการเอทีเอ็ม (ATM)
- บริการสมาร์ทการ์ด (Smart d)
- บริการธนาคารทางโทรศัพท์ (Tele-Banking)
เป็นต้น
การให้บริการของ E-Banking ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในอนาคตการให้บริการของ E-Banking ยังสามารถพัฒนาได้อีกเรื่อยๆ เพื่อรองรับความต้องการในการใช้บริการของผู้ใช้บริการ E-Banking ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก E-Banking ทำให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกสบายในการทำธุรกรรมมากขึ้น อีกทั้งยังประหยัดทรัพยากรอีกด้วย
อ้างอิง
- http://www.eeverything.info/eBanking/index.htm
- http://www.it.co.th/word.php?act=word_01
- http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/PaymentSystems/Pages/StatPaymentTransactions.aspx
- http://www.google.com/wallet/
ศัพท์น่ารู้
- E-Banking คือ การทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคาร โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน หรือ สอบถามยอดเงิน เป็นต้น
- Tele-Banking หรือ Phone Banking หรือบริการธนาคารทางโทรศัพท์ เป็นบริการที่ให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินโดยใช้โทรศัพท์พื้นฐานติดต่อไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่แต่ละธนาคารพาณิชย์ผู้ให้บริการกำหนดขึ้นโดยนำเสนอทั้งในรูปแบบบริการตอบรับอัตโนมัติ (Interactive Voice Response – IVR) และศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ
- Mobile Banking หรือบริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ เป็นบริการอิเล็กทรอนิกส์อีกช่องทางหนึ่งที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือในลักษณะโต้ตอบกับระบบงานของธนาคารได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการโอนเงินและชำระเงิน
อ้างอิง
- http://www.eeverything.info
- http://www.bot.or.th