Digital Trend
- 14 ม.ค. 64
-
3458
-
STARTUP กับหนทางสู่การเป็น Unicorn
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซีรีส์เกาหลี เรื่อง Start-Up (สตาร์ตอัป) ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ ทั้งเนื้อหาที่เป็นการแข่งขันของคนมีไฟที่อยากเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจยุคดิจิทัล การสอดแทรกศัพท์น่ารู้คำใหม่ ๆ ที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย รวมทั้งการได้นักแสดงชื่อดังที่เป็นไอดอลมาโชว์ฝีมือ ถือเป็นการจุดแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน อยากสร้างธุรกิจสตาร์ตอัปของตัวเอง
วันนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะพาทุกคนไปรู้จักธุรกิจสตาร์ตอัปให้มากขึ้น รวมถึงข้อมูลหน่วยงานที่พร้อมหนุนสตาร์ตอัปไทยที่มีฝีมือด้านต่าง ๆ
รู้จัก Startup และ Sandbox
Steve Bank ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งผู้ประกอบการยุคใหม่ (Modern Entrepreneurship) และต้นตำหรับ Lean Startup ให้นิยามว่า
“A startup is an organization formed to search for a repeatable and scalable business model” หรือ “
สตาร์ตอัป คือ กิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจที่สามารถทำซ้ำและขยายตัวได้” ซึ่งการที่จะสามารถขยายตัวธุรกิจได้ในเวลาอันสั้นต้องอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งอินเทอร์เน็ต เข้ามาช่วยเรื่องการดำเนินงานด้านต่าง ๆ นั่นเอง
ก่อนที่เริ่มเดินหน้าธุรกิจอย่างจริงจัง การมี
“Sandbox” ถือเป็นหนึ่งกระบวนการสนับสนุนที่สำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่ง
“Sandbox หรือ แซนด์บ็อกซ์” ความหมายพื้นฐานโดยทั่วไป คือ กระบะใส่ทรายให้เด็กได้ปั้นแต่งเป็นรูปร่างต่าง ๆ ใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าทรายที่ปั้นขึ้นมานั้นจะล้มหรือพังทลาย จากความหมายนี้ ได้มีการนำมาใช้ในมิติของการเป็น
พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการทดลองและการทดสอบ ที่เปิดโอกาสให้สามารถเกิดความผิดพลาดในการทดลองและการทดสอบใน Sandbox ได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่ตัดขาดและไม่เกิดผลกระทบต่อส่วนอื่นนั่นเอง
สำหรับธุรกิจ
Startup นั้น
Sandbox เปรียบเสมือนพื้นที่สำหรับเตรียมความพร้อม ทดลองกิจกรรม และกระบวนการต่าง ๆ ของธุรกิจก่อนที่จะมีการดำเนินธุรกิจจริง ช่วยสร้างประสบการณ์และความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจนั้น ๆ ได้ โดยในบางธุรกิจมีข้อกำหนดหรือแนวทางปฏิบัติที่ใช้ Sandbox เป็นหนึ่งในเกณฑ์ (Criteria) สำหรับการประเมินเพื่อขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจอีกด้วย
7 Tips สู่ “Startup” ที่ประสบความสำเร็จ
“เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างธุรกิจ
สตาร์ตอัปในประเทศไทย?” “ในประเทศไทย มีสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง?” “ปัจจุบันมีหน่วยงานใดที่พร้อมให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัป?” หลากหลายคำถามที่หลายคนอาจสงสัยหลังจากดูซีรีส์เรื่อง
Startup จบลง ซึ่ง
ETDA ได้รวบรวมคำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากต้องการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ตอัป ควรเริ่มจากตรงไหน? Dmitriy Nortenko ผู้ก่อตั้งและ CEO แห่ง บริษัท
QA Madness บริษัทผู้ดูแลบริษัทเทคสตาร์ตอัป และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการทางธุรกิจและการรับรองคุณภาพซอฟต์แวร์ระดับโลก ได้แนะนำ 7 เคล็ดลับสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่หวังเป็นสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จ ไว้ว่า
- กล้าเป็น “นวัตกร” – นวัตกร หรือ Innovator แปลอย่างตรงตัว คือ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมหรือคิดค้นสิ่งใหม่ ลองมองหาอะไรที่แปลกและแตกต่าง ซึ่งหาได้ยากในตลาด แต่สามารถพัฒนาได้และมั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาชีวิตของลูกค้าได้
- รู้ไต๋ “คู่แข่ง” - ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งทางตรงหรือทางอ้อม แต่คู่แข่งก็คือคู่แข่ง สตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จ เข้าใจว่าใครคือคู่แข่งที่กำลังแข่งขันกันอยู่
- อย่าหวังพึ่ง “โชค” – การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ อย่าได้หวังพึ่งโชควาสนา หรือเกิดญาณหยั่งรู้โดยไม่คาดฝัน ถ้าเรามีไอเดียที่มีคุณค่าน่าสนใจ สิ่งที่สำคัญคือการเดินไปข้างหน้าหาทรัพยากรและโอกาส ที่จะนำเสนอไอเดียนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนให้ได้
- อย่าคิด “ซับซ้อน” – สตาร์ตอัปหลายรายคาดหวังความสมบูรณ์แบบ ก่อนที่จะระบุกลุ่มเป้าหมายที่จะมาใข้สิ่งที่คิดค้นด้วยซ้ำ โดยไปใส่ใจกับฟังก์ชันต่าง ๆ ของโพรดักต์มากเกินไป หารู้ไม่ว่า ยิ่งทำให้โพรดักต์ดูง่ายมากเท่าไร ก็ยิ่งดีกว่าสำหรับการเริ่มต้น โดยนำเสนอให้เห็นไอเดียหลักที่ตั้งใจจะขาย และค่อยเพิ่มเติมสิ่งต่าง ๆ ในเวลาต่อไปก็ได้
- รู้ “กระบวนการ” - เช่น ผู้จัดการก็ต้องเข้าใจกระบวนการของธุรกิจ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ต้องทำงานยังไง เราก็จะสามารถทำการประเมินความเป็นไปได้ของไอเดียสร้างสรรค์ต่าง ๆ ระบุความเสี่ยงได้และลดความสี่ยงให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะกำจัดความเสี่ยงได้ทั้งหมด
- แชร์ “ความรับผิดชอบ” – คนเดียวหัวหาย หลายคนเพื่อนตาย สตาร์ตอัป ก็เช่นกัน ต้องมีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และผู้จัดการ แยกหน้าที่กันชัดเจน ยิ่งถ้าแต่ละคนมีดีในตัว ก็ไม่ควรก้าวก่ายความรับผิดชอบกันและกัน เพราะนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่าง ๆ ได้
- มี “สติ” - การเป็นสตาร์ตอัปอาจทำให้เครียด สิ่งสำคัญคือการอยู่อย่างฉลาด ไม่ดราม่ากับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้ทีมมั่นใจว่า คุณหนักแน่นพอเมื่ออยู่ต่อหน้าทีมของคุณ
ทั้ง 7 ข้อ อาจจะพอเป็น
แนวทางเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการที่อยากก้าวเข้าสู่เส้นทางสตาร์ตอัปได้ลองนำไปปรับใช้ดู
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในแง่อื่น ๆ ที่เป็นแบบแผนทั่ว ๆ ไป ในการเดินทางไปสู่ความสำเร็จของสตาร์ตอัป เช่น
- เก่งจัดการทรัพยากร โดยวางแผน จัดทำงบประมาณ และจัดการทรัพยากร อย่างรอบคอบ ผู้ประกอบการที่ชัดเจนว่ามีทรัพยากรอะไรอยู่ในมือหรือสามารถหาได้ จะทำให้การใช้ทรัพยากรนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด
- กล้าและมีเสน่ห์ ต้องกล้าที่จะตรวจสอบสมมติฐาน หากผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญของการส่งเสริมการขาย จะไม่ลังเลเลยที่จะลงทุนในการทำแคมเปญการตลาดและกิจกรรมสร้างโอกาสในการขาย เจ้าของสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนมีเสน่ห์ดึงดูด ด้วยไอเดียและความกระตือรือร้นที่เป็นแรงขับเคลื่อนตัวเขา แม้ไอเดียนั้นจะซับซ้อนก็ตาม
- มีทีมที่หลงใหลกับไอเดียมากกว่าตัวเงิน โครงการที่มีความเป็นไปได้มักเริ่มด้วยทีมเล็ก ๆ ที่แน่นแฟ้น ซึ่งเต็มไปด้วยคนที่หลงใหลหรือมี passion กับไอเดียเดียวกัน มากกว่าผลประโยชน์ทางการเงิน อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทโตขึ้น เริ่มมีกระบวนการที่ชัดเจน คนที่เริ่มต้นเหล่านี้ก็จะแบ่งงานออกไปเพื่อประหยัดเงินและจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม
- วิเคราะห์ความเสี่ยงเป็น ไม่มีธุรกิจใดที่ไม่มีความเสี่ยง สตาร์ตอัปก็เช่นกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมที่เราจะมอง ว่ากันว่า 75–90% ของสตาร์ตอัปที่ล้มหายตายจากไป อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ที่ล้มคือล้มก่อนที่จะปล่อยโพรดักต์ใด ๆ สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การวิคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของไอเดียเรา ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการมักจะมองข้ามขั้นตอนสำคัญนี้
- กล้าที่ move on ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ นั่นคือความกล้าที่จะหยุดเมื่อพบว่าไอเดียที่วางไว้ “ได้ไม่คุ้มเสีย” คือสิ่งสำคัญ เพราะหลายครั้งที่สตาร์ตอัปฝืนที่จะไปต่อเพราะไม่อยากล้มเลิกแผนที่วางไว้ ทางที่ดีวางมันซะ แล้วเริ่มหาไอเดียใหม่ ๆ จะดีกว่า
สตาร์ตอัปไทย ไปถึงไหนกันแล้ว
สำหรับสตาร์ตอัปไทยที่ประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันเริ่มมีให้เห็นและมีทิศทางการเติบโตมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างธุรกิจที่หลายคนอาจคุ้นชื่อกันดี เช่น
- Wongnai (วงใน) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมรีวิวร้านอาหารต่าง ๆ โดยในปัจจุบันได้มีการขยายขอบเขตข้อมูลและการรีวิวครอบคลุมไปถึงหัวข้อด้านการท่องเที่ยวและความงามอีกด้วย ปัจจุบัน Wongnai มีจำนวนผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน และมีฐานข้อมูลร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไทย ถือเป็นสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เปิดตัวแพลตฟอร์มในปี 2553
- Ookbee (อุ๊คบี) เป็นอีบุ๊กแพลตฟอร์ม (e-Book Platform) สัญชาติไทยที่ถือเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 7 ล้านคน และยอดขายสูงถึงพันล้านบาท และปัจจุบันได้ขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ ในหลายประเทศอาเซียน
นอกจาก 2 ธุรกิจข้างต้นแล้ว ในปัจจุบัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีความพยายามสนับสนุนการสร้างสตาร์ตอัปหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังสร้าง Unicorn ที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทย เช่น
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดสรรทรัพยากรแก่สตาร์ตอัป เพื่อให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem)
- สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA มีโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัปมากมาย เช่น การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ทางด้านดิจิทัล หรือ Digital Startup ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดเป็นสินค้าและบริการบนพื้นฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมผสมผสานเข้ากับการทำธุรกิจ
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC สนับสนุนสตาร์ตอัปหลากหลายโครงการเช่นกัน ทั้งงานอบรม งานแข่งขัน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อสตาร์ตอัปด้านต่าง ๆ
Regulatory Sandbox แนวหนุนสตาร์ตอัปให้พร้อมด้านกฎระเบียบต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานด้านการกำกับดูแล ที่ไม่ได้ส่งเสริมการลงทุนหรือไอเดียสร้างสรรค์ แต่ช่วยดูแลให้สตาร์ตอัปที่พัฒนาเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ซึ่งหากยังไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ รองรับ ก็ต้องร่วมกันผลักดันกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้น ก่อนที่โพรดักต์หรือบริการใหม่ ๆ เหล่านั้นจะออกสู่ตลาดจริง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการนั้นมีความน่าเชื่อถือ และผู้ใช้บริการก็เกิดความเชื่อมั่น เกิดการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เติบโตต่อไปได้ เช่น
- ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ส่งเสริมสตาร์ตอัปผ่านการเปิดพื้นที่ Regulatory Sandbox เพื่อให้สตาร์ตอัปได้พัฒนาและทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน โดย ธปท. เปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินทดสอบการนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการในวงจำกัด เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน ภายใต้การดูแลความเสี่ยงและคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสม
- สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดพื้นที่ Regulatory Sandbox เพื่อให้สตาร์ตอัปได้ใช้พื้นที่ความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ สําหรับทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีการผ่อนปรน ความเข้มงวดของกฎระเบียบ และลดขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎระเบียบให้เหลือเท่าที่จําเป็นเท่านั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย
ETDA กับ Digital Service Sandbox ร่วมหนุนเทคสตาร์ตอัปไทย
ETDA เองในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการ Digital Service ตามกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้ริเริ่มโครงการ Digital Service Sandbox หรือ แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 โดยมี
กรอบการทดสอบ ได้แก่
- เป็นบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด ซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่
- พัฒนาเป็น Infrastructures หรือ Standard กลาง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือบริการทั้งรัฐและเอกชน
- ไม่มีกฎระเบียบรองรับ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ หรือการยอมรับ
- มีความเสี่ยงที่จะขัดกับกฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแล
- มีการนำ Innovation หรือ Technology มาใช้ ซึ่งอาจไม่เคยมีการนำมาใช้ หรือแตกต่างจากบริการที่มีอยู่แล้วในประเทศ แต่ยังให้บริการในวงจำกัด หรือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดภาระที่มีอยู่เดิม
ทั้งนี้ การทดสอบจะอยู่
ภายใต้กรอบแนวคิด 5 ด้าน คือ
- ด้านความมั่นคงปลอดภัย (Security)
- ด้านความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy)
- ด้านความน่าเชื่อถือ (Reliability)
- ด้านความรับผิด (Accountability)
- ด้านประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience)
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการ
ที่นี่
สตาร์ตอัป กับ Unicorn
Unicorn หรือคำที่ใช้เรียก บริษัทสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จจนมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดที่เหล่าสตาร์ตอัปใฝ่ฝันจะไปให้ถึง โดยปัจจุบันหลากหลายประเทศเริ่มมีสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จจนเป็น Unicorn กันแล้ว
ตามรายงานของ
BBC ในปี 2019 โดยอ้างอิงผลการวิจัยของ
The Hurun Research Institute พบว่า
สตาร์ตอัปในระดับ Unicorn อยู่ในจีนและสหรัฐอเมริกา ครองสัดส่วนถึง 83% จากสตาร์ตอัประดับ Unicorn จำนวน 494 รายจากทั่วโลก และยังเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจที่สูสีกันเป็นอย่างมาก เพราะทั้งสองประเทศมีจำนวนสตาร์ตอัประดับ Unicorn กว่า 200 ราย ทิ้งห่างอันดับ 3 อย่างอินเดียที่มีเพียง 21 ราย ซึ่ง 3 บริษัทสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าสูงสุดอยู่ที่จีน อันดับ 1 คือ Ant Financial (เครืออาลีบาบา) ผู้ให้บริการด้านเพย์เมนต์ ส่วนอันดับ 2 คือ Bytdance เจ้าของแอปบันเทิงอย่าง TikTok และอันดับ 3 คือ Didi Chuxing แอปเรียกรถของจีนนั่นเอง
เส้นทางสู่การเป็น Unicorn จาก Startup ที่อายุน้อยที่สุดในโลก
Melanie Perkins วัย 33 ปี หนึ่งในยูนิคอร์นหญิงอายุน้อยที่สุดในโลก เจ้าของ
Canva เครื่องมือออกแบบกราฟิกที่ช่วยแก้ Pain Point ให้กับคนที่อยากออกแบบแต่ไม่ใช่นักออกแบบมืออาชีพ ให้สามารถใช้เครื่องมือการออกแบบต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ที่มีมูลค่าธุรกิจถึง 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ให้คำแนะนำดี ๆ ที่อยากบอกต่อแก่ Startup หน้าใหม่ จากประสบการณ์ของเธอว่า หนทางสู่การเป็น Unicorn นั้น
“มันคืองานหนัก” ทุกคนต้องทดลอง ต้องยากลำบาก ต้องถูกปฏิเสธ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
Perkins เล่าว่า ไม่เคยเจอผู้ก่อตั้งธุรกิจคนไหนที่ทำงานง่ายและมีทุกอย่างในมืออย่างใจหวัง มันต้องใช้เวลา พลังงาน และความพยายามอย่างมาก และสิ่งสำคัญมาก ๆ อย่างหนึ่งที่เธอต้องการบอก คือ “
ทุกอย่างมันเป็นไปได้ ถ้าเราทำงานหนักเพียงพอ” งานหนักและความอดทนทั้งหมดที่เราทุ่มเท จะได้รับการตอบแทนอย่างแน่นอน ถ้าทุกคนมีความแน่วแน่
สำหรับประเทศไทยแม้ทิศทางของการจัดตั้งบริษัทสตาร์ตอัปจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่เราก็ยังคงรอคอยว่าจะมี Unicorn สัญชาติไทยแห่งแรกที่จะถือกำเนิดในเร็ววันนี้ ภายใต้ความพยายามผลักดันของทุกภาคส่วน
ที่มา: